วิธีรับมือเมื่อลูกอาละวาด

คุณกำลังปวดหัวกับปัญหาลูกเริ่มอาละวาดหรือเปล่า? แล้ววิธีรับมือเมื่อลูกอาละวาดแบบไหนได้ผลที่สุด เรามาดูกัน
เมื่อ ลูกอาละวาด ย่อมสร้างความปวดหัวให้คุณแม่ไม่รู้จะหยุดพฤติกรรมนี้อย่างไรดี เรามีวิธีรับมือดังนี้ค่ะ
- เมินเฉยบ้างถ้าลูกอาละวาดอยู่ที่บ้าน ให้ทำเป็นไม่สนใจหรือไม่ก็อุ้มลูกเข้าไปไว้ในห้องของลูกด้วยท่าทีที่สงบ อย่าได้แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่อารมณ์เสีย และอย่าแก้ปัญหาโดยสัญญาว่าจะทำหรือซื้อสิ่งต่าง ๆ ให้ หรือยอมแพ้ให้ลูกในสิ่งที่ต้องการ ฯลฯ เพราะลูกจะรู้ทันทีว่าถ้าอาละวาดแบบนี้แล้วจะประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะพ่อแม่ได้ ลูกก็จะใช้วิธีอาละวาดเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจ ในที่สุดลูกจะเลิกใช้วิธีอาละวาดเพื่อแก้ปัญหา เพราะรู่ว่าไม่ได้ผล
- กอดแก้ความรุนแรง ถ้าลูกเราอาละวาดแบบทุบตี กัด ต่อย เตะ ถีบพ่อแม่ แทนที่จะลงโทษลูกหนัก ๆ ให้กอดลูกไว้แน่น ๆ แทน วิธีนี้จะช่วยปลอบใจให้ลูกรู้สึกอบอุ่นจะช่วยคลี่คลายอารมณ์ให้ลูกได้
- อย่าใช้วิธีตีลูก การที่พ่อแม่อาละวาดกลับ กรีดร้อง โมโหทุบตีลูกหรือทำลายข้าวของ ถือเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ปัญหา ถ้าลูกตวาดไล่คุณเพราะไม่พอใจ ก็ให้เดินออกไปตามที่ลูกต้องการ อย่าดันทุรังหรือแหย่ลูก เพราะลูกจะยิ่งอาละวาดรุนแรง
- ทำเป็นไม่สนใจคำว่า “ไม่” ของลูกเสียบ้าง เช่น ถ้าบอกให้ลูกกินข้าว ลูกบอกว่าไม่ก็ปล่อยลูกไปอย่างนั้นก่อนไม่ต้องเซ้าซี้มาก สักพักหนึ่งลูกจะกลับมากินเอง
- เปลี่ยนคำว่าไม่ของลูกให้เป็นเรื่องตลก เช่น ลูกไม่ยอมกินผักด้วยการสะบัดหน้าหนีและร้อง "ไม่" คุณแม่ก็แกล้งยื่นตุ๊กตาให้แล้วถามว่ากินไหม แกก็จะตอบว่า "ไม่" คุณแม่ก็ถามสนุกต่ออีกว่ากินรถไหม กินโต๊ะไหม กินแมวไหม... (ในสิ่งที่ลูกกินไม่ได้) ลูกก็จะรู้สึกอารมณ์ดี และเห็นว่าเป็นการเล่นไม่ใช่เรื่องจริง วิธีการนี้จะช่วยลดระดับความก้าวหน้าในการพูด "ไม่" ลง ลูกอาจจะยอมกินผักก็ได้ แต่สิ่งที่ลูกได้คือ ลูกจะเริ่มรับรู้ความหมายของคำว่า "ไม่" กว้างขึ้นและอาจรู้สึกว่า ถ้าลูกใช้มันอีก มันอาจจะไม่เด็ดเดี่ยวเหมือนอย่างที่ลูกเคยใช้มาแล้ว
ลูกอาละวาด เพราะอะไร?
การที่เด็กอาละวาดเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
- อาละวาดเพราะขาดทักษะการสื่อสาร หลายครั้งที่เด็กเล็กอาละวาด เพราะไม่รู้จะบอกความต้องการของตัวเองยังไง จึงทำได้เพียงร้องไห้และอาละวาด ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็ก และจะหายไปเองเมื่อเด็กมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น
- ถูกตามใจจนเคยตัว เด็กวัยเตาะแตะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว และการอาละวาดก็เป็นหนึ่งในการเรียนรู้และทดลองของเค้า หากเค้าอาละวาดแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการครั้งหนึ่งแล้ว เค้าจะเรียนรู้ว่านี่คือวิธีให้ผู้ใหญ่ยอมตามใจ และจะใช้วิธีอาละวาดต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือ อย่าตามใจลูกตั้งแต่ต้นค่ะ
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่นคนในครอบครัวชอบใช้ความรุนแรงจนเด็กเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว หรือขาดความอบอุ่นพ่อแม่ละเลย ทำให้เด็กเรียกร้องความสนใจด้วยการอาละวาด
- นอนไม่พอ การที่เด็กนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว นำไปสู่การอาละวาดได้ค่ะ
- ปัจจัยทางอารมณ์ เช่น เครียด เหนื่อย หรือไม่สบายตัว
- ความผิดปกติทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น มีปัญหาทางพัฒนาการ หรือเป็นโรคบางอย่าง
ทำอย่างไรดีเมื่อลูกอาละวาด
- อย่าใจอ่อน พ่อแม่หลายคนมักจะใจอ่อน เพราะสงสารที่ลูกร้องไห้ จึงยอมตามใจลูก ซึ่งการใจอ่อนและยอมให้ในสิ่งที่ลูกต้องการจะทำให้เด็กเคยตัวและใช้วิธีอาละวาดต่อไปเรื่อย ๆ
- ใจเย็น พ่อแม่บางคนอาจใช้วิธีดุด่า หรือตี เพื่อบังคับให้ลูกหยุดร้อง ซึ่งการใช้ความรุนแรง จะมีแต่ทำให้สถานการณ์แย่ลง และลูกก็จะโต้ตอบด้วยการอาละวาดหนักกว่าเดิม
- ไม่ต้องสนใจ วิธีจัดการกับการอาละวาดของเด็กที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ความสนใจ เพราะเมื่อเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปไม่มีประโยชน์ก็จะหยุดไปเอง
- กอด หากลูกอาละวาดหนัก ลองใช้วิธีกอดเค้าเอาไว้ เพราะการกอดจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและสงบลงได้ค่ะ
- คุยด้วยเหตุผล รอให้ลูกสงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วค่อยเข้าไปคุยกับลูกอย่างใจเย็น พยายามให้ลูกอธิบายความต้องการของตัวเองออกมา แล้วค่อยช่วยกันหาทางแก้ไข หรือในกรณีที่ลูกอาละวาดเพราะอยากได้สิ่งของบางอย่าง ก็ต้องอธิบายว่าทำไมถึงให้สิ่งนั้นกับลูกไม่ได้ หรือช่วยกันคุยเพื่อหาทางออกที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่าย เช่น ลูกอาละวาดเพราะอยากได้ของเล่นราคาแพง อาจจะอธิบายให้ลูกฟังว่า ลูกมีของเล่นอยู่เยอะแล้ว หรืออาจจะให้ลูกเลือกของเล่นที่ราคาต่ำลงมาแทน
- ชมเชย เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้แล้ว
- พัฒนาทักษะทางการสื่อสารของลูก โดยหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ และพยายามให้ลูกบอกว่าต้องการอะไร
* ในกรณีที่ลูกอาละวาดในที่สาธารณะ หากจะปล่อยให้ลูกหยุดร้องเองอาจจะใช้เวลานานและส่งเสียงดัง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกหลบไปที่อื่นเช่นพากลับไปนั่งบนรถแทน จะได้ไม่รบกวนคนรอบข้างนะคะ
ลงโทษได้มั้ยถ้าลูกอาละวาด
หากคุณพ่อคุณแม่ยอมใจแข็งทำตามนี้ได้ รับรองว่าไม่นานลูกจะเรียนรู้ได้เองว่า การที่เค้าอาละวาดไม่ช่วยอะไร แต่ต้องคุยกับพ่อแม่ด้วยเหตุผลแทนค่ะ
การลงโทษเด็กไม่ใช่เรื่องผิด ดุได้ ตีได้ แต่ต้องไม่ใช่การลงโทษด้วยอารมณ์ พ่อแม่ต้องอธิบายเหตุผลทุกครั้งว่าลูกทำอะไรผิดถึงได้โดนตี หรือเลือกการลงโทษที่ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น งดของว่าง, Time out หรือตกลงกับลูกว่า ถ้าพาลูกไปเที่ยวแล้วลูกอาละวาด จะพากลับบ้านทันที ซึ่งวิธีเช่นนี้จะทำให้เด็กระวังการกระทำของตัวเอง และพยายามจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีค่ะ
การอาละวาดแบบไหนคือผิดปกติ
โดยปกติแล้ว เด็กจะเริ่มอาละวาดในช่วงก่อน 2 ขวบ โดยการอาละวาดแต่ละครั้งจะกินเวลาแค่ระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 2 นาที และจะเป็นมาเรื่อย ๆ จนอาการเริ่มหายไปเองเมื่ออายุราว 4 ขวบ เพราะมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้นแล้ว
แต่ในกรณีที่ลูกอาละวาดนานเกินกว่า 15 นาที ขึ้นไป และอาละวาดบ่อยครั้ง หรืออายุเกิน 4 ขวบแล้ว แต่ยังอาละวาดอยู่ อาจเกิดจากปัญหาทางพัฒนาการ และความผิดปกติทางร่างกาย หรือจิตใจ และอารมณ์ได้ ซึ่งกรณีจำเป็นต้องได้รับการตรวจเช็คจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาต่อไปค่ะขอบคุณสาระประโยชน์ดี ๆ จากแอพพลิเคชั่น Enfa A+ Genius Baby ค่ะ
ที่มาจาก : https://th.theasianparent.com/
บทความ อื่นๆ ที่น่าสนใจ
“เทคนิครับมือเมื่อลูกถูกวิจารณ์” แอฟมอง “ปีใหม่” คือยาใจและรอยยิ้ม
เด็กก้าวร้าว หยาบคาย โมโหร้าย พ่อแม่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กแบบนี้หรือเปล่า?
มีแฟนแล้วอ้วน เพราะอะไร หลังแต่งงานน้ำหนักขึ้น คบกับแฟนแล้วอ้วนขึ้นมาก ผลวิจัยเผย! คู่รักที่เลิฟกันมาก ยิ่งรักกัน ยิ่งพากันอ้วน
การเก็บสเต็มเซลส์จากทารกแรกเกิดมีประโยชน์จริงไหม?