สุดสงสาร ทารกเกิดมาพร้อม ภาวะงวงช้าง
แองเจิล และโรเนล คู่สามีภรรยาวัย 20 ปี ชาวเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า นีล ลูกชายของพวกเขาเกิดมาพร้อมโรคประหลาดที่มีก้อนเนื้อโผล่พ้นออกมานอกกะโหลกศีรษะ หมอเผยเป็น ภาวะงวงช้าง
“ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ฉันเคยเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร จนเมื่อฉันคลอดลูกออกมาถึงได้พบความผิดปกติดังกล่าว พวกเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เราพยายามคิดในแง่ดีว่าเขาอาจจะเกิดมามีเขาเหมือนม้ายูนิคอร์นที่เป็นสัตว์ในเทพนิยาย” คุณแม่ของนีลกล่าว
“เรายังคิดไม่ออกเลยว่าเราจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่สิ่งเดียวที่คิดได้ตอนนี้คือภาวนาให้การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี”
หลังจากการตรวจวินิจฉัย คุณหมอเผยว่าเด็กทารกมีภาวะงวงช้าง (Encephalocele) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะซึ่งไม่ปิดสนิท ทำให้ส่วนของสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองโผล่พ้นออกมานอกกะโหลกศีรษะ (สมองออกมาอยู่นอกหนังศีรษะ) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก
นอกจากภาวะงวงช้างแล้ว โรคกลุ่มความผิดปกติแต่กำเนิดของเด็กที่พบได้อีกชนิดก็คือภาวะไขสันหลัง หรือเยื่อหุ้มไขสันหลังโผล่พ้นออกมาอยู่นอกกระดูกสันหลัง(Meningoencephalocele) ซึ่งภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
โดยในช่วงแรกที่นีลคลอดออกมานั้น ก้อนที่โผล่ออกมาจากศีรษะของหนูน้อยรายนี้ยังมีขนาดเล็กประมาณขนาดของไข่ไก่ แต่ก้อนผิดปกตินี้ขยายใหญ่เร็วมากภายในเวลาแค่ 2 เดือน ซึ่งผู้ปกครองรวมไปถึงทีมแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเวลาที่ต้องอุ้มหรือให้นม แต่โชคยังดีที่ผลการตรวจพบว่าสมองของหนูน้อยรายนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากก้อนเนื้อที่โผล่ออกมา และทางทีมแพทย์หวังว่าหลังจากการผ่าตัดที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า นีลจะหายเป็นปกติและมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไป
ภาวะงวงช้างเกิดจากอะไร
ภาวะงวงช้าง (Encephalocele) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะซึ่งไม่ปิดสนิท ทำให้ส่วนของสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองโผล่พ้นออกมานอกกะโหลกศีรษะ (สมองออกมาอยู่นอกหนังศีรษะ) ซึ่งอาการและผลกระทบต่อร่างกายของเด็กมีดังนี้
- สร้างน้ำในสมองมากเกินไป
- ทำให้อวัยวะอย่างแขนและขาไม่แข็งแรง
- ศีรษะเล็กกว่าปกติ
- ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อ มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน
- พัฒนาการช้า
- มีปัญหาเรื่องการมองเห็น
- มีความผิดปกติของสมอง และมีอาการชักร่วมอยู่ด้วย
การเกิดภาวะงวงช้างหรือโรคงวงช้าง จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างใบหน้า ที่เกิดความบกพร่องของเนื้อเยื่อใบหน้าด้านนอกและเนื้อเยื่อส่วนสมอง ซึ่งพบว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ทั้งยังมีผลมาจากสภาพแวดล้อมระหว่างการตั้งครรภ์ และอายุของคุณแม่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุด้วยเช่นกัน
วิธีป้องกันโรคงวงช้าง และสิ่งที่คุณแม่ควรทำระหว่างตั้งครรภ์
- หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคพันธุกรรมหรือความพิการแต่กำเนิด ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อขอคำแนะนำ
- หลังจากวางแผนการมีลูก ควรที่จะลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อความพิการแต่กำเนิด ทั้งงดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมทั้งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่อาจก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิด
- หมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ หากพบว่าตั้งครรภ์ ต้องรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ ที่สำคัญ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ต้องระวังการติดเชื้อ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ทานกรดโฟลิก วันละ 400 ไมโครกรัม เป็นเวลา 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ แล้วทานต่อเนื่องจนสิ้นสุดไตรมาสแรก วิธีนี้จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคความผิดปกติของหลอดประสาทลงได้
- หากตั้งครรภ์ราว 16 สัปดาห์ ทางสูติแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือไม่ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดประเมินอัตราเสี่ยงของทารก แต่หากคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี แพทย์อาจแนะนำให้เจาะตรวจน้ำคร่ำ
- ความพิการแต่กำเนิด อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ไม่ใช่แค่ความผิดปกติของโครโมโซมคุณแม่จึงต้องรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และทำตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกิดภาวะงวงช้าง
ที่มา dailystar.co.uk
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ความพิการแต่กำเนิด 5 โรคร้ายแรงที่แม่ท้องควรระวัง
แม่แชร์ด้วยใจสลาย โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ต้นเหตุพรากลูกไปจากอกแม่
กลิ่นบุหรี่บนเสื้อพ่อ ทำลูกไอเสียงแปลกๆ คล้ายเสียงหมาเห่า สัญญาณโรคครูป
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!