หยุด! พฤติกรรมเหล่านี้ ถ้าไม่อยากแท้งตั้งแต่ ท้องอ่อนๆ
ในช่วง ท้องอ่อนๆ เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์เริ่มเจริญเติบโต และเริ่มพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ร่างกายของแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้แม่ท้องมักจะเกิดความกังวล กลัวว่าทำนั่นทำนี่แล้วจะแท้ง โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก ก็ยิ่งกังวลไปกันใหญ่ วันนี้เรามีคำแนะนำจากคุณหมอ เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ในช่วงไตรมาสแรกมาฝาก

ปัจจัยเสี่ยงแท้ง ในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ
นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3 ได้กล่าวถึงเรื่องของการแท้งบุตรเอาไว้ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งบุตรมีหลายอย่าง ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งก็สามารถป้องกันได้ แต่ปัจจัยบางอย่างก็ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ อย่างเช่น อายุของคุณแม่ที่มากขึ้น หรือในบางครั้งอาจไม่พบปัจจัยเสี่ยงในคุณแม่ที่แท้งบุตรเลย (โดยเฉลี่ยอาจพบการแท้งบุตรตามธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 10-15)
พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ของคนตั้งครรภ์อ่อน ๆ
เรื่องที่คุณแม่ท้องอ่อนต้องงด หรือเลี่ยง เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรก มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่ไม่สุก, ชีสหรือเนยแข็ง, ไส้กรอกและแฮม, ชาและกาแฟ, น้ำอัดลม
- ระวังการติดเชื้อบางโรคระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน โดยการหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนแออัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค
- งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี หรือสิ่งที่อันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง, สารระเหย, โลหะหนักที่ผสมในสารเคมี หรือรังสีจากที่ทำงาน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกีฬาที่อาจมีการกระแทก, การกระโดด และการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมาก อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถออกกำลังกายโดยการวิ่ง, ว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน, เต้นแอโรบิค หรือเล่นโยคะได้ แต่ต้องไม่หักโหมจนเกินไป
ส่วนในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์นั้น คุณหมอให้คำแนะนำไว้ว่า ในการตั้งครรภ์ที่ปกติ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ดังนั้น ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยครับ

การเตรียมตัวคุณแม่เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
- ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์
- ควรรักษาโรคประจำตัวให้เป็นปกติหรือควบคุมโรคได้ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันเลือดสูง, เบาหวาน, ภูมิคุ้มกันผิดปกติ (SLE และ antiphospholipid syndrome) เป็นต้น
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
- ควรลดน้ำหนักตัวให้เป็นปกติก่อนการตั้งครรภ์
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ปวดท้องตลอดเวลา, เลือดออก หรือมีภาวะแท้งคุกคาม ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกในท้องนะครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลอดธรรมชาติไม่ได้ อาจต้องผ่าคลอด ถ้ามีสัญญาณเหล่านี้
จำเป็นไหม คนท้องต้องอัลตราซาวด์ทุกเดือน ?
ตัวอย่างตารางอาหารประจำวันของคนท้อง กินบำรุงสมองลูกในครรภ์

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!