ตั้งครรภ์เกินกำหนด เป็นอย่างไร
โดยปกติแล้ว อายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดและทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ คือช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 37 – 41 สัปดาห์ เมื่อคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาปกติ แต่หากประจำเดือนมาไม่แน่นอน คุณหมอจะทำการตรวจอายุครรภ์ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ ตั้งแต่ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สำหรับแม่ท้องที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 42 สัปดาห์ขึ้นไป จะถือว่าเป็นการ ตั้งครรภ์เกินกำหนด
ทำไมถึง ตั้งครรภ์เกินกำหนด
สาเหตุที่ทำให้ ตั้งครรภ์เกินกำหนด นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีบางสมมุติฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่พบในทารกในครรภ์ที่พิการบางอย่าง หรือจากกรรมพันธุ์ หรืออาจเกิดขึ้นได้จากการที่แม่ท้องจำประวัติประจำเดือนคลาดเคลื่อนไปก็มี
แม้ว่าการตั้งครรภ์เกินกำหนดจะพบได้ไม่มาก หรือประมาณ 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่การ ตั้งครรภ์เกินกำหนด นั้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่างๆต่อทั้งแม่และลูกในครรภ์ได้ครับ
ความเสี่ยงต่อมารดา
- ด้วยความที่ทารกเติบโตขึ้นจากการ ตั้งครรภ์เกินกำหนด ทำให้ทารกตัวใหญ่ คลอดยาก ทำให้เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด ต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือต้องใช้คีมช่วยในการคลอด
- จากการที่ทารกตัวใหญ่ขึ้น อาจส่งผลทำให้ช่องคลอดฉีกขาดระหว่างคลอดได้
- มีโอกาสตกเลือดหลังคลอดสูงกว่าปกติ เนื่องจากมดลูกหดตัวไม่ดีจากการมีบาดแผลทางช่องคลอด
ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
- ทารกเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในครรภ์ ยิ่งถ้าหากเกินกำหนดมากขึ้นเท่าใด โอกาสจะเสียชีวิตของทารกจะมีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
- ทารกในครรภ์อาจสำลักขี้เทา ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้
- การตั้งครรภ์เกินกำหนดทำให้รกเสื่อม ส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลร้ายต่ออวัยวะและสมองของเด็กทารกในครรภ์ น้ำคร่ำจะน้อยลง รกจะยิ่งขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ทารกอยู่ในภาวะเครียด หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้
- ทารกมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระหว่างคลอด
ลักษณะของทารกที่คลอดเกินกำหนด
- ผิวหนังแตกลอก และเหี่ยวย่น
เด็กที่คลอดเกินกำหนดจะเติบโตเหมือนเด็กทั่วไปไหม
หากเด็กไม่มีปัญหาการขาดออกซิเจนตอนคลอด การเจริญเติบโตหลังคลอดก็จะเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ต้องดูแลโดยเฉพาะเหมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใดครับ
ทำอย่างไรหาก ตั้งครรภ์เกินกำหนด
หากมีการ ตั้งครรภ์เกินกำหนด คุณหมอส่วนใหญ่ก็มักจะมีการแนะนำให้ทำการชักนำคลอดหรือการเร่งคลอด แต่หากเด็กในท้องมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำเนื่องจากขาดออกซิเจน คุณหมอก็อาจเลือกวิธีการผ่าคลอดครับ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญอย่าลืมไปฝากครรภ์สม่ำเสมอตามที่คุณหมอนัดนะครับ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!