ความดันสูง – ความดันต่ำของคนท้อง เป็นอาการที่แม่ ๆ ทุกคนควรระวัง เพราะเรื่องของความดันเป็นเรื่องสำคัญและอันตรายมาก ๆ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ทราบและไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าอาการที่เป็นคือความดันต่ำหรือความดันสูง วันนี้ theAsianparent Thailand ขอนำข้อแตกต่างของอาการระหว่างความดันสูงและต่ำมาฝากกันค่ะ
ภาวะความดันโลหิตต่ำ
ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ หากมีความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายต่อคนท้อง แต่หากความดันโลหิตต่ำมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
โดยการตั้งครรภ์นั้นส่งผลโดยตรงกับระดับความดัน เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง เป็นสาเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำ โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 คนท้องจึงมักมีอาการหน้ามืดหรือเป็นลม เมื่อยืนนาน ๆ และลุกจากท่านั่งหรือท่านอนเร็วเกินไปในช่วงเวลาดังกล่าว
ความดันสูง – ความดันต่ำของคนท้อง
อีกทั้งระดับความดันโลหิตของคุณแม่ยังบ่งบอกถึงสุขภาพของตัวเองและลูกในท้อง โดยระดับความดันโลหิตที่สูงเกินไปอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนความดันโลหิตที่ต่ำเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก ซึ่งอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก ในรายที่มีความดันโลหิตผิดปกติอย่างรุนแรงอาจทำให้แม่และเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ความดันโลหิตคนท้องไตรมาสแรกถึงไตรมาสสอง : ความดันโลหิตในผู้หญิงตั้งครรภ์ช่วงตั้งครรภ์ใหม่ ๆ จะมีความดันโลหิตที่ต่ำลง จนถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ความดันต่ำนั้นมักจะเจอในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ บางครั้งจะพบในคุณแม่ที่มีภาวะแพ้ท้องมาก ๆ หรือรับประทานไม่ได้
โดยลักษณะของความดันต่ำ จะมีอาการหน้ามืด วิงเวียน ในบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียมาก หากแม่ตั้งครรภ์มีอาการอ่อนเพลียมาก เวียนศีรษะ จะเป็นลม แนะนำว่าต้องพักสักหน่อย ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ต้องมาให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล
วิธีดูแลตัวเองตอนท้องเมื่อมีความดันต่ำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอนแต่หัวค่ำ อย่านอนดึกบ่อย ๆ
- เมื่อคนท้องมีความดันโลหิตต่ำ มักจะหน้ามืด วิงเวียนได้ง่าย จึงไม่ควรยืนนาน ๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าลุกพรวดพราด
- หมั่นเดินออกกำลังกายวันละหน่อย แต่ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุลยิ่งขึ้น แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยแล้วก็ไม่ต้องฝืน
- ถ้ามีอาการแพ้ท้อง เวียนหัวมาก ทานอาหารไม่ลง ให้เลือกทานมื้อละเล็กมื้อละน้อย ทานหลาย ๆ มื้อต่อวัน โดยใส่ใจสารอาหาร ต้องทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เพราะถ้าคนท้องได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้ความดันต่ำลงไปอีก
- ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว จะเสริมด้วยน้ำขิงอุ่น ๆ หรือน้ำผลไม้คั้นสด ก็ช่วยให้ร่างกายสดชื่นได้
- ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา ให้ปรึกษาคุณหมอทุกครั้ง
ความดันสูง – ความดันต่ำของคนท้อง
การรักษาเมื่อมีอาการความดันโลหิตต่ำ
ส่วนใหญ่แล้วสตรีมีครรภ์ที่มีภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากความดันโลหิตจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากการคลอดบุตร อีกทั้งแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยาในการรักษาภาวะใด ๆ ก็ตามในระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่จำเป็น เพราะตัวยาอาจส่งผลกับทารกได้ แต่หากมีอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำ และคาดว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้คุณแม่เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไปค่ะ
ภาวะความดันโลหิตสูง
ความดันสูงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเป็นความดันสูงก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วอาจจะทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ ทั้งยังมีคุณแม่บางรายที่มีความดันปกติ แต่เมื่อตั้งครรภ์กลับเป็นความดันสูง ซึ่งพัฒนาไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งความดันสูงในระยะตั้งครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อยในแต่ละระยะครรภ์ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต โดยในแต่ละปีพบกว่า 50,000 ราย และเกือบทุกรายมีโอกาสเสียชีวิต
ความดันสูง – ความดันต่ำของคนท้อง
ปัจจัยที่ทำให้คนท้องความดันสูง
- แม่ท้องมีน้ำหนักมาก
- แม่ท้องอายุมาก
- แม่ท้องมีโรคประจำตัว อาทิ โรคไต เบาหวาน
อันตรายเมื่อคนท้องความดันสูง
แม่ท้องที่เกิดความดันสูงจะเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อตัวมารดาและลูกน้อยในครรภ์ ในประเทศไทยเราพบคุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ร้อยละ 1-3 ตามสถิติจำนวนคลอดประมาณ 700,000 รายต่อปี แต่ละปีจะมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย
วิธีป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงในคนท้อง
- แม่ท้องต้องควบคุมความดันโลหิตให้ดี
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยา เพราะยาบางชนิดที่ใช้กับโรคความดันอาจจะส่งผลต่อทารกทำให้เกิดความผิดปกติได้ แล้วแพทย์จะปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมต่อไป
- เลือกรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งช่วยยป้องกันโรคความดันได้ พบมากในผักและผลไม้สด เช่น กล้วย มันฝรั่ง และผักใบเขียวต่าง ๆ
- แม่ท้องสามารถออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ได้ อาทิ เล่นโยคะคนท้อง ว่ายน้ำ
- คนท้องต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นทำสมาธิ
ความดันคนท้องเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ คนท้องความดันต่ํา หรือคนท้องความดันสูง ก็อันตรายทั้งนั้น แม่ท้องต้องดูแลตัวเองให้มาก ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายบ้างนะคะ
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
Source : pobpad , โรงพยาบาลเปาโล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคเบาหวาน ภัยเงียบที่คุกคามคนไทย วิธีการดูแลคนท้องเป็นโรคเบาหวาน
อาการนอนไม่หลับของคนท้อง เกิดจากอะไร แก้ไขปัญหาได้ด้วยเทคนิคเหล่านี้
คนท้องคอเลสเตอรอลสูงมีอันตรายอย่างไร เรียนรู้ป้องกันก่อนจะสาย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!