เมื่อเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป ภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นภาวะที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีอาการเรื้อรัง ไม่ได้มีการควบคุมอย่างจริงจัง และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
มาทำความรู้จักกับคอเลสเตอรอล…
คอเลสเตอรอล คือ กลุ่มไขมันที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดของเรา และมีความจำเป็นต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนเพศ วิตามินดี และน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป คอเลสเตอรอลส่วนหนึ่งร่างกายสร้างขึ้นเอง กล่าวคือตับเป็นผู้สร้างคอเลสเตอรอลทุกชนิดที่ร่างกายต้องการและอีกส่วนหนึ่งร่างกายได้รับมาจากอาหารที่รับประทานพบมากในอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ สัตว์น้ำที่มีกระดอง และไข่แดง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลส่วนเกิน
ชนิดของคอเลสเตอรอล
เมื่ออยู่ในกระแสเลือด คอเลสเตอรอลจะจับอยู่กับโปรตีน เรียกว่า ไลโพโปรตีน คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่
คอเลสเตอรรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ทำหน้าที่ในการนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์กลับไปยังตับ เพื่อทำลายหรือขับออกในรูปของเสียจากร่างกาย
คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีมากกว่าที่เซลล์ต้องการ ไขมันนี้ก็จะไปสะสมที่บริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดเสียไป และเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันมีผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก หัวใจจึงต้องบีบตัวแรงมากขึ้น เพื่อเป็นแรงส่งให้เลือดไหลไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ทำให้การเต้นของหัวใจมีปัญหา และอาจหัวใจวายได้ในที่สุด
การตรวจวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูง
วิธีการตรวจเลือดเท่านั้น โดยการตรวจจะอยู่ในการตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) ซึ่งจะแสดงให้เห็นระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี คอเลสเตอรอลที่ดี และไตรกลีเซอไรด์ได้ในคราวเดียว โดยค่าที่แสดงว่ามีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม (TC) สูงคือมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ค่าระดับ LDL มากกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตรและมีค่าระดับ HDL น้อยกว่า 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อันตรายของคอเลสเตอรอลสูง
ภาวะคอเลสเตอรอลสูงอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่จะค่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือผู้ป่วยไม่ดูแลและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเกิดจากการที่คอเลสเตอรอลไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น และทำให้หลอดเลือดแดงตีบลงจนกลายเป็นสาเหตุของอาการต่อไปนี้
หัวใจขาดเลือด เมื่อไขมันในเส้นเลือดสะสมอยู่ภายในหลอดเลือดจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
โรคหลอดเลือดสมอง เช่นเดียวกับอาการหัวใจวาย เมื่อหลอดเลือดตีบลงเนื่องจากไขมันในเลือด การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากจะส่งผลต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองแล้ว ก็ยังอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน และสามารถส่งผลกับไตจนเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ เพราะเมื่อหลอดเลือดในร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงไตตีบลงเนื่องจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด ก็จะทำให้ไตสูญเสียการทำงานและวายในที่สุด
บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะคอเรสเตอรอลสูงและควรได้รับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดได้แก่
– มีอายุมากกว่า 40 ปี
– มีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
– มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเกี่ยวระบบหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร
– มีสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
– ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Artery Disease: PAD)
– มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid) หรือตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
และแนวทางป้องกันที่ดีนั้น ได้แก่
การควบคุมอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมถึงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรือใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม แล้วหันมาใช้น้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน จำพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา การกินอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ บรอกโคลี และธัญพืชก็เป็นทางเลือกที่ดีในการลดอาหารที่มีไขมันสูง
การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอวันละ 30 นาทีทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงการจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับของ HDL และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้เป็นอย่างดี หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
Source: pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!