คนท้องเริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่
คนท้องเริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่ เริ่มอัลตร้าซาวด์ได้ตอนไหน เมื่อไหร่จะรู้เพศลูก สำหรับคุณแม่ที่เพิ่มจะเริ่มตั้งครรภ์ท้องแรกคงจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ วันนี้เรามีคำตอบสำหรับคุณแม่ทุกท่านค่ะ
กรมอนามัยได้ดำเนินโครงการดูแลสตรีตั้งครรภ์แนวใหม่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยได้กำหนดการดูแลครรภ์หรือการฝากครั้งไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 26 สัปดาห์
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
- ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์
สำหรับการอัลตร้าซาวด์นั้น ส่วนใหญ่มักจะเริ่มทำหลังจากตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มฝากครรภ์ได้ในช่วง 8 – 12 สัปดาห์ หรืออย่างช้าที่สุดคือ เริ่มเข้าสู่เดือนที่ 3 นั่นเองค่ะ หากคุณแม่อยากรู้เพศรู้ก็สามารถอัลตร้าซาวด์ได้ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไปแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยจะนอนโชว์ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นหรือเปล่าก็ต้องรอลุ้นค่ะ
การฝากครรภ์ครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะคุณหมอจะตรวจหาภาวะเสี่ยงของคุณแม่ที่อาจส่งผลต่อลูกน้อยในท้องไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือทางด้านจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อดูว่าสามารถรักษาหรือมีทางเลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หากตรวจพบว่าลูกในท้องเป็นโรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น หากคุณแม่เข้ารับตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยในท้องได้
คนท้องเริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่
คนท้องฝากครรภ์ หมอตรวจอะไรบ้าง
- สำหรับคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรก หมอจะทำการซักประวัติ การตั้งครรภ์ในอดีต การตั้งครรภ์ในปัจจุบัน โรคทางอายุรกรรม เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ สารเสพติด สุรา การสูบบุหรี่ รวมถึงความพร้อมในการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตรด้วย
- การตรวจคัดกรองความเสี่ยงของคนท้อง หากคุณหมอพบว่าคุณแม่มีภาวะเสี่ยงอาจมีการแยกให้คุณหมอดูแลเฉพาะทาง
- ตรวจคัดกรองเดี่ยวกับโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด และโรคเบาหวาน
- ตรวจร่างกายคนท้อง ตรวจช่องท้อง ตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจครรภ์ ประเมินอายุครรภ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก
- ให้คำแนะนำการบริโภคอาหาร และการจ่ายยาบำรุงครรภ์ เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลท
อะไรที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์
- มีประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตในครรภ์
- มีประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
- เคยคลอดลูกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
- มีประวัติทารกคลอดก่อนและหลังกำหนด
- มีประวัติทารกโตช้าในครรภ์ ทารกพิการทางด้านสมอง ครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์แฝด
- เคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์
- ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง (ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป)
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี
- มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
- มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์
- หมู่เลือด Rh เป็นลบ
- มีความดันโลหิตสูง โดยความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
- ตั้งครรภ์แล้วเป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน
- เป็นโรคไต โรคหัวใจ
- ติดยาเสพติดหรือสุรา
- เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน โรคธาลัสซีเมีย โรคลมชัก วัณโรค หรือ พาหะตับอักเสบบี เป็นต้น
ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน
อาการคนท้องแบบไหนอันตรายควรไปพบแพทย์
- ปวดศีรษะบ่อย
- มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง
- มีขนาดท้องเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนแล้วลูกยังไม่ดิ้น
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วอย่าลืมเข้ารับการฝากครรภ์ และสังเกตดูพัฒนาการของลูกน้อยในท้อง รวมถึงอาการต่างๆ ของคนท้อง เพื่อที่มีอาการผิดปกติจะได้เข้าพบแพทย์ทันทีนะคะ
ที่มา: กรมอนามัย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อาหารคนท้อง แต่ละไตรมาส คนท้อง ควรกินกี่มื้อ กับข้าวแม่ท้อง กินบำรุงทารกในครรภ์ ทุกไตรมาส
ประกันสังคม เพิ่มค่าฝากครรภ์ 1 พันบาท แม่ท้องต้องทำยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ฝากครรภ์พิเศษ ต่างจาก ฝากครรภ์ธรรมดาอย่างไร ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!