ไม่ได้หยอดวัคซีนโรต้า
แม่โพสต์เสียใจ ไม่ได้หยอดวัคซีนโรต้า เพราะแม่จำเดือนผิด! อยู่ ๆ ลูกชายวัย 8 เดือน ก็มีอาการท้องเสีย ถ่ายทั้งวัน มีไข้ รู้ผลคือน้องเป็นโรต้า และต้องแอดมิท
คุณแม่ท่านนี้ได้โพสต์ว่า จะมาเล่าถึงไวรัสโรต้า เพราะน้องเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ก่อนอื่นแม่ต้องโทษตัวเองหนักมาก เพราะแม่จำเดือนผิด น้องเลยไม่ได้หยอดวัคซีนโรต้าที่ซื้อไว้
ล่าสุดน้องป่วย มีไข้ ก็พาไปหาหมอถึง 3 ครั้ง กลับมาไข้ก็ยิ่งสูง กลางดึก 40 เลยค่ะ โชคยังดีที่น้องไม่ชัก ตื่นเช้ามาต้องรีบพาไปแอดมิท น้องเพิ่งจะถ่ายวันที่สามหลังจากมีไข้เลยส่งอึไปตรวจ รู้ผลคือน้องเป็นโรต้า น้องถ่ายทั้งวันเป็นน้ำเลย ถ่ายเป็นกรดจนตูดแสบไปหมดและมีไข้ ต้องเช็ดตัวกลางดึก ตี 5 ก็ต้องเช็ด สงสารลูกมากและต้องโทษตัวเองมากเลย ฝากไว้นะสำหรับพ่อแม่ท่านอื่นนะคะ ตอนนี้เชื้อโรคเยอะมาก
ป.ล.ตอนนี้น้องออกจากโรงพยาบาลแล้วค่ะ มีถ่ายเล็กน้อยแต่ก้นเป็นแผลทายาอยู่เรื่อย ๆ
วัคซีนโรต้า สำคัญนะแม่ ๆ
คุณแม่ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การหยอดวัคซีนโรต้า มี 2 แบบ เป็นช่วงอายุ 2 เดือน อายุ 4 เดือน อายุ 6 เดือน (วัคซีนชนิด RotaTeqTM หรือ Pentavalent vaccine) กับแบบที่หยอดแค่ตอนอายุ 2 เดือน และอายุ 4 เดือน (วัคซีนชนิด RotarixTM หรือ Monovalent vaccine) และจากที่ปรึกษาหมอ หมอบอกว่า ถึงจะหยอดวัคซีนโรต้าครบ ก็มีโอกาสเป็นได้ค่ะ เพราะการหยอดวัคซีนโรต้า มันป้องกันไม่ได้ 100% วิธีที่ดีที่สุดคือรักษาความสะอาดจากของเล่น ของใช้เค้าดีที่สุด
“จริง ๆ ก็ไม่ใช่วัคซีนบังคับที่เด็กต้องฉีดนะคะ เป็นตัวเสริมที่ขายแยก ตามความต้องการของพ่อแม่ เหมือนไอพีดี ซื้อราคาค่อนข้างสูงนะ แต่เพื่อความสบายใจ ส่วนมากพ่อแม่ยินดี เพราะเทียบกับค่าหมอ เวลาเป็นขึ้นมาแล้วไม่คุ้มเลย”
ดูแลบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกป่วย
เรื่องบ้าน ทำความสะอาดตามขั้นพื้นฐานเลยค่ะ กวาดถูบ่อย ๆ เพราะน้องเริ่มคลาน ก็ไปทุกมุมจริง ๆ เก็บอะไรได้ก็เข้าปาก แนะนำให้ถูพื้นกับน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วถูตามด้วยน้ำเปล่านะคะ เพราะน้ำยาถูพื้นปกติอาจมีสารเคมีตกค้าง ของเล่นน้องก็แช่น้ำยาล้างให้สะอาด อันนี้ไม่ต้องล้างทุกวันก็ได้ แต่อยากให้รักษาความสะอาด เพราะไม่ใช่แค่โรต้า คือโรคในเด็กมีเยอะมาก เป็นขึ้นมาไม่คุ้มเลย เสียสุขภาพน้อง พ่อแม่เสียใจ เสียเวลาและเงิน เราป้องกันตั้งแต่เเรกง่ายกว่าค่ะ
ฝากถึงพ่อแม่ที่กำลังมีน้องนิดหนึ่งนะคะ แนะนำให้ฉีดวัคซีน หยอดวัคซีน อาจมีค่าใช้จ่ายหน่อย แต่เชื่อเถอะค่ะ เเลกกับชีวิตสุขภาพของลูกเราในอนาคตคุ้มแน่นอน อย่างตัวน้องเอง น้องเข้า รพ.เอกชน ฉีดวัคซีนทุกตัวมีค่าใช้จ่ายสูง แต่จะแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่รายได้จำกัดนะคะ ให้ฉีดวัคซีนตัวบังคับที่ศูนย์บริการของรัฐ อาจช้าหน่อยแต่ยาดีเหมือนกัน แล้วเอาเงินมาซื้อวัคซีนเสริม แบบนี้ลูกจะได้ฉีดครบแน่นอน สบายกระเป๋าค่ะ ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ถ้าไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจ แม่ต้องขออภัยนะคะ สุดท้ายนี้ ฝากถึงแม่ ๆ ทุกคน สู้ ๆ นะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ เพราะลูกคือความหวังและความรักตัวน้อย ๆ ของเรา
สำหรับอาการของน้อง ภายหลังออกจากโรงพยาบาล ตอนนี้ร่างกายก็เป็นปกติ เหลือแค่แผลที่ก้น ซึ่งเกิดจากการถ่ายบ่อย ทายาเรื่อย ๆ ก็เริ่มดีขึ้นแล้วค่ะ
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอขอบคุณคุณแม่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์กับเรานะคะ
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรต้าไวรัส
ทารกในวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ วิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบแทบทุกคนเคยติดเชื้อนี้กันมาแล้ว และมีถึง 1 ใน 10 รายที่อาจเป็นซ้ำ ๆ ได้ถึง 5 ครั้ง ไวรัสโรต้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้
สังเกตอย่างไรว่าลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
- มีอาการถ่ายเหลว
- อาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำ
- ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
- ถ้าเป็นซ้ำ ๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
ส่วนผลร้ายของโรคอุจจาระร่วง ไม่ใช่แค่อาการท้องเสียที่ส่งผลต่อร่างกายลูกน้อย แต่ยังหมายรวมถึง การส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก โดยเฉพาะวัย 5 ปีแรก ซึ่งเป็นวัยแห่งพัฒนาการ ทั้งศักยภาพทางสมองและสมรรถภาพร่างกายกำลังเจริญเติบโตเต็มที่
วิจัยพบผลกระทบต่อพัฒนาการทารก
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำ ๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่าง ๆ เช่น
- ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร ในวัยก่อน 7 ปี
- ความพร้อมต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงวัยเรียน
- เด็กที่ท้องร่วงซ้ำ ๆ ก่อนอายุ 2 ปี จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 10 จุด
การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ท้องร่วงยังมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลกระทบทำให้น้ำหนักของเด็กบางคนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ
การไม่ได้หยอดวัคซีนโรต้า จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับลูกน้อย ดังนั้น แม่ ๆ อย่าละเลยนะคะ ควรหยอดวัคซีนโรต้า ป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า
ที่มา : thaihealth.or.th/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
หลอดลมอักเสบ เพราะบุหรี่ที่พ่อสูบ ทุกมวนของพ่อ ส่งผลให้ลูกป่วยนะรู้ไหม
ลูกวัย 1 เดือน หมดลมหายใจ อุทาหรณ์จ้างพี่เลี้ยงดูแลทารก อย่าเผลอคลาดสายตาแม้เพียงนิด
ท้องเสีย โรต้าไวรัส เป็นเหตุ! แม่ต้องกำจัดผ้าอ้อมให้ถูกวิธี ทำความสะอาดห้องน้ำให้เอี่ยม
ทารกป่วยโรคไอกรน สูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 1 ปี ติดเชื้อจากคนในครอบครัว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!