ไขข้อข้องใจ? เมื่อใดทารกเริ่มชันคอ
ฝึก ลูก ชันคอ
แรกเกิด : คอพับคออ่อน
ทารกแรกเกิด เจ้าหนูสามารถที่จะมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และรับรสสัมผัสได้แล้วนะคะ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว เพราะกล้ามเนื้อคอจะยังไม่แข็งแรง เรียกว่า ยังคอพับพออ่อนอยู่ในช่วงนี้ เพราะตอนที่อยู่ในท้องมีพื้นที่แคบและมีน้ำคร่ำคอยโอบอุ้มคอไว้ในเวลาที่เคลื่อนไหว ดังนั้น คุณแม่ต้องอุ้มทารกน้อยอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญต้องประคองคอเป็นพิเศษ เมื่อลูกโตขึ้นกว่านี้พัฒนาการกล้ามเนื้อคอจึงจะแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย จากที่เคยหันศีรษะได้เพียงเล็กน้อยก็จะยกศีรษะได้สูงขึ้น
คุณแม่ช่วยหนูได้
1. ยิ้มแย้มกับลูก มองสบตา
2. เล่นและพูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงของคุณแม่เร็ว ๆ และคอยหันหาเสียงนั้นยามที่เขานอนเพลิน ๆ เอียงหน้าไปมาช้า ๆ ให้ลูกมองตาม
3. อุ้มพาดบ่าบ่อย ๆ หาโอกาสให้ลูกได้นอนคว่ำเพื่อฝึกชันคอบ้าง
ฝึกลูก ชันคอ
1 – 2 เดือน : หนูเริ่มยกศีรษะแล้วนะแม่
ในช่วง 1 -2 เดือนนี้ กล้ามเนื้อคอของทารกน้อยเริ่มแข็งแรงขึ้น คุณแม่จะสังเกตเห็นว่า เมื่อจับลูกในท่านอนคว่ำสักพัก เจ้าหนูจะชันคอขึ้นมาได้ประมาณ 45 องศา และยังสามารถบังคับศีรษะให้หันไปมาได้แบบไม่กระตุก การนอนคว่ำจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย การมีหมอนรองคออาจจะทำให้ลูกหายใจไม่ออกเวลาที่ลูกฟุบหน้าลงไปได้
คุณแม่ช่วยหนูได้
1. คุณแม่ช่วยลูกออกกำลังกล้ามเนื้อคอ โดยให้ลูกนอนหงาย แล้วจับมือทั้งสองดึงขึ้นช้า ๆ เพื่อขึ้นนั่ง ลูกจะพยายามเกร็งคอและศีรษะให้ตั้งตรง จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอ แขน และลำตัวของลูกได้
2. แขวนของเล่นหรือโมบายสีสด ๆ ระยะห่างจากลูกประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้ลูกมองตาม
3. ทำเสียงต่าง ๆ และร้องเพลงหรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง หมั่นส่งเสียงเรียกเพื่อดึงความสนใจให้ลูกหันหาเสียงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างดี
ฝึกลูกชันคอ
3 – 4 เดือน : แม่จ๋าหนูคอแข็งแล้วนะ
ในช่วงวัยนี้ทารกน้อยคอเริ่มแข็งแรงดีแล้วค่ะ เจ้าหนูสามารถยกศีรษะได้ 90 องศาเลยทีเดียว และยังชันคอได้นานขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย พอเข้าเดือนที่ 4 ทารกจะสามารถยันตัวขึ้นด้วยปลายแขน สำหรับทารกที่มีพัฒนาการเร็วบางคนจะเริ่มพลิกตัวได้แล้ว ซึ่งตามปกติแล้วในช่วงเดือนที่ 4 ทารกจะเริ่มจากการพลิกคว่ำก่อน เพราะกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลังและสะโพกแข็งแรงมากขึ้น แต่ถ้าทารกยังไม่พลิกคว่ำหรือพลิกหงายในเดือนที่ 4 ก็อย่ากังวลใจไปค่ะ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายและสรีระของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
คุณแม่ช่วยหนูได้
1. ให้คุณแม่อุ้มลูกนั่งตัก ให้หลังลูกห่างจากลำตัวคุณแม่เล็กน้อย การอุ้มนั่งจะช่วยกล้ามเนื้อคอและหลังลูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เช่นเดียวกับท่าอุ้มแบบหิ้วมือเดียว โดยใช้มือข้างหนึ่งของคุณแม่หิ้วประคองตรงช่วงหน้าอกลูกไว้
2. จัดที่ปลอดภัยให้ลูกได้นอนหัดพลิกคว่ำ
3. หาของเล่นสีสันสดใสมีเสียงอย่าง กรุ๊งกริ๊ง มาเล่นกับลูกให้ลูกหันหาและมองตามเสียงกรุ๊งกริ๊งนั้น แล้วเปลี่ยนทิศทางสลับไปมา เพื่อให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อคอบ่อย ๆ และชมเชยเวลาที่ลูกทำได้ดี
ฝึกลูก ชันคอ
5 – 6 เดือน : หนูเริ่มพลิกไป พลิกมาได้แล้วนะ
ทารกในช่วงวัยนี้สามารถใช้มือยันตัวขึ้น ข้อศอกเหยียดตรงขณะที่นอนคว่ำได้ เมื่อคุณแม่จับทารกน้อยในท่านั่ง ศีรษะจะตั้งตรงไม่ห้อยหรือคอพับคออ่อน พอเข้าเดือนที่ 6 จะเริ่มพลิกจากท่านอนหงายเป็นท่าพลิกคว่ำได้ บางคนจะสามารถจับนั่งในท่าโน้มตัวไปข้างหน้าโดยใช้มือยันพื้นได้ กล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง ของเขาแข็งแรงขึ้นมาก การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ดี สามารถคว้าของมือเดียวและหันหาเสียงเรียกชื่อได้ อีกทั้งยังเริ่มส่งเสียงโต้ตอบได้เช่นกัน
คุณแม่ช่วยหนูได้
1. หาของเล่นชิ้นใหญ่ ๆ สีสันสดใส ที่ปลอดภัยให้หยิบจับและให้คืบไปหา
2. พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่น อาบน้ำ กินข้าว
3. ให้ลูกนอนบนพื้นเรียบ ๆ เพื่อหัดพลิกตัวไปมาอย่างอิสระ และควรเลี่ยงเปลผ้าที่ห่อหุ้มเจ้าตัวน้อยจนไม่มีโอกาสพลิกตัว
4. พูดคุยเรียกชื่อลูกให้เจ้าหนูเกิดความคุ้นเคยชื่อของตนเอง
สังเกตอย่างไรว่าลูกคออ่อน?
พ.ญ.นันทกรณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา กุมารแพทย์ ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช แนะนำให้สังเกตลูก ดังนี้
– เมื่ออายุ 2-3 เดือนแล้วลูกยังไม่สามารถยกศีรษะให้พ้นพื้นได้ทั้ง ๆ ที่ได้รับการกระตุ้นตามวัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น กุมารแพทย์ระบบประสาท กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม นักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญในเด็ก เนื่องจากลูกอาจมีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทได้
– ถ้าลูกคอแข็งเร็วกว่าปกติ ก็ต้องสงสัยว่ามีปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งผิดปกติ อาจทำให้ดูเหมือนเด็กคอแข็งเร็วได้เช่นกัน และอาจจะมีกล้ามเนื้อส่วนอื่นที่เกร็งด้วย เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินทันที
ฝึก ลูก ชันคอ
หลากวิธีช่วยลูกชันคอ
พ.ญ.นันทกรณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา แนะนำวิธีฝึกพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและการชันคอให้แก่คุณแม่เพื่อฝึกลูกน้อย ดังนี้ค่ะ
เดือนแรก
เป้าหมาย: ยกศีรษะพ้นพื้นได้
วิธีการ : วางลูกในท่านอนคว่ำ และนำของเล่นที่สีสันสดใส หรือมีเสียงกรุ๊งกริ๊งมาหลอกล่อ เคลื่อนของเล่นไปมาช้า ๆ เพื่อให้ลูกมองตาม หรืออาจจะใช้หน้าของคุณพ่อคุณแม่แทนก็ได้ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามมองสบตา ยิ้มเล่น ชวนคุยให้ลูกสนใจเพื่อให้เขายกศีรษะมองและหันตามเสียง
เดือนที่ 2
เป้าหมาย: ชันคอได้ 45 องศา
วิธีการ : จับลูกนอนในท่านอนคว่ำ โดยงอข้อศอก ใช้หมอนหรือผ้าขนหนูม้วนเล็ก ๆ รองใต้อก เพื่อช่วยให้ลูกชันคอได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็ใช้หน้าของคุณพ่อคุณแม่ หรือของเล่นที่มีสีสันสดใส หรือมีเสียงชักชวนให้เด็ก ๆ ได้ชันคอมองตาม และยกของเล่นให้สูงขึ้นช้า ๆ วิธีนี้จะทำให้ลูกยกศีรษะขึ้นมองตามได้ง่ายค่ะ
เดือนที่ 4
เป้าหมาย : ลูกชันคอได้ 90 องศา ยันอกพ้นพื้นและคอตั้งตรงในท่านั่งได้
วิธีการ :
ท่านอนคว่ำ ให้คุณพ่อคุณแม่ทำเหมือนตอน 2 เดือนเลยค่ะ จากนั้นก็หัดให้ลูกยันอกพ้นพื้นด้วยข้อศอกตัวเอง
ท่านั่ง ให้คุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งโดยใช้มือประคองที่ใต้อก แล้วใช้ของเล่นชักชวนให้มองตามซ้ายขวาขึ้นลง หรือเขย่าของเล่นด้านข้างตัวเด็ก อาจสลับซ้ายขวาให้ลูกหันหาเสียง จะช่วยฝึกทั้งกล้ามเนื้อคอและการได้ยินด้วยค่ะ
ท่าอุ้ม จะช่วยฝึกการกระตุ้นของการชันคอและการใช้กล้ามเนื้อหลังได้เหมือนกันค่ะ ท่าที่ดีคืออุ้มแบบหันหน้าออกจากตัวคนอุ้ม ให้ลูกมีโอกาสมองข้างหน้าได้รอบทิศทาง และให้ตัวเด็กเอียงมาด้านหน้า ไม่พิงตัวคนอุ้มเพื่อหัดให้ลูกรู้จักประคองคอเอง ซึ่งท่านี้จะทำได้คุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจว่าลูกประคองคอได้ดีพอสมควรแล้ว
ท่านอนคว่ำบนมือหรือแขน เป็นอีกท่าที่ช่วยให้เด็กชันคอได้ คือ ให้เด็กนอนคว่ำบนมือและแขนของผู้ใหญ่ แขนทั้งสองข้างของเด็กชูขึ้นเหนือศีรษะ (เหมือนซุปเปอร์แมนเหาะ) แล้วโยกไปมาเป็นจังหวะคล้ายกับการบิน
เดือนที่ 6
เป้าหมาย : ดึงตัวจากท่านอนให้เป็นท่านั่งแล้วศีรษะไม่ห้อยตก
วิธีการ : ให้ลูกนอนหงาย จับข้อมือทั้งสองข้างเตรียมดึงขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง (ถ้ายังไม่มั่นใจว่าคอแข็งพอ อาจจับที่ต้นแขนทั้งสองข้างก่อน) บอกลูกก่อนเพื่อให้เตรียมตัว เช่น “จะนั่งแล้วนะลูก เอ้า…1 2 3 ฮึบ…” และค่อย ๆ ดึงตัวขึ้นมาช้า ๆ หากคอลูกยังอ่อนมากก็ให้ยกสูงจากเบาะเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าคอแข็งพอควรก็อาจดึงให้นั่งได้เลยค่ะ
เรื่องน่ารู้ : ความปลอดภัยหากลูกต้องนอนคว่ำ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกนอนคว่ำ คือ ให้เด็กนอนบนเตียงที่ค่อนข้างแข็งหน่อย ไม่ต้องหนุนหมอน หรือ นอนบนพื้นผิวที่ไม่นุ่มจนเกินไป เพื่อป้องกันการขาดอาการหายใจหากลูกเอาหน้าซุกลงไปที่หมอน อย่านำผ้าห่มหนา ๆ ตุ๊กตา ของเล่น หรือ หมอนมาวางใกล้ ๆ ใบหน้าเด็ก
คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันแล้วนะคะเกี่ยวการชันคอในแต่ละช่วงวัย มาฝึกให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีตามคำแนะนำของคุณหมอกันเถอะค่ะ ร่วมแชร์ประสบการณ์ลูกชันคอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแม่ ๆ ได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://baby.haijai.com
https://women.mthai.com
https://www.iammomsociety.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เช็คพัฒนาการลูกน้อยขวบปีแรก สิ่งที่ลูกควรทำได้ในแต่ละช่วง
พัฒนาการลูกน้อยช่วงอายุ 0- 1 ขวบ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!