โปรตีนนมแม่..ข้อดีที่แตกต่าง 4 ประการจากนมชนิดอื่น
ประการแรก ปริมาณโปรตีนในน้ำนมแม่พอเหมาะกับความต้องการของทารกเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนในนมของสัตว์ประเภทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น นมวัวและนมแพะซึ่งจะมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าในนมแม่ถึงประมาณ 3 เท่า กล่าวคือนมแม่จะมีปริมาณโปรตีนอยู่ประมาณ 0.9 – 1 กรัมต่อเดซิลิตร ในขณะที่นมวัวและนมแพะจะมีปริมาณโปรตีนประมาณ 3 กรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งปริมาณโปรตีนที่มากเกินความต้องการของทารก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต เนื่องจากต้องทำหน้าที่กำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการสลายโปรตีนมากขึ้น1 รวมไปถึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ในอนาคตจากหลักฐานงานวิจัยในปัจจุบัน2
ประการที่ 2 ส่วนประกอบโปรตีนในนมแม่กับนมวัวมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบย่อย โดยพบว่านมแม่มีสัดส่วนของโปรตีนเวย์ต่อโปรตีนเคซีนเท่ากับ 60:40 ในขณะที่นมวัวมีสัดส่วน 20:80 และเนื่องจากโปรตีนเวย์เป็นโปรตีนที่ละลายในน้ำได้ดีกว่า ทารกที่ดื่มนมแม่จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย อย่างไรก็ตามสำหรับนมผงดัดแปลงสูตรสำหรับทารกแรกเกิดจะต้องมีการปรับให้ส่วนประกอบในนมใกล้เคียงกับนมแม่มากที่สุดจึงจำเป็นต้องมีสัดส่วนของโปรตีนเหมือนกับในนมแม่
ประการที่ 3 นมแม่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณโปรตีนตามความเหมาะสม ตามความต้องการ และตามอายุของทารก โดยเปลี่ยนจากนมแม่ระยะแรก (colostrum) ไปสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional milk) และไปสู่นมแม่ระยะสุดท้าย (mature milk) โดยปริมาณโปรตีนในนมจะค่อย ๆ ลดลง จากปริมาณโปรตีน 1.5-2 กรัมต่อเดซิลิตรในน้ำนมแม่ระยะแรก ไปสู่ 0.8-1.1 กรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งการลดลงของปริมาณโปรตีนในนมแม่นี้จะสัมพันธ์กับการที่ทารกดื่มนมแม่ในปริมาณมากขึ้นตามอายุและน้ำหนักตัวของทารกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการได้รับนมผสมที่ปริมาณโปรตีนสูงอย่างคงที่ต่อเนื่องก็จะทำให้ทารกได้รับโปรตีนมากเกินกว่าความต้องการ และของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ จึงทำให้ไตของทารกอาจจะต้องทำงานหนักกว่าปกติ
ประการที่ 4 ที่สำคัญที่สุด แม้ว่าปริมาณโปรตีนในน้ำนมแม่จะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับนมวัว แต่การดูดซึมของโปรตีนนมแม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่ไม่ได้มีแค่เฉพาะโปรตีนที่จะเข้าไปเป็นพลังงานและส่งเสริมการเจริญเติบโตสำหรับทารก แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นที่เป็นสารประกอบประเภทโปรตีนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ด้านชีวภาพต่าง ๆ ให้กับทารก อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น แลคโตเฟอริน (lactoferrin) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูดซึมธาตุเหล็กในนมแม่ และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ที่เข้าไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกน้อยให้ห่างไกลจากเชื้อก่อโรคหลายชนิด
แพทย์หญิงกุลนิภา กิตติศักดิ์มนตรี (กุมารแพทย์โภชนาการ) ได้กล่าวว่า บนความเหมือนระหว่างโปรตีนในน้ำนมแม่กับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจึงมีความแตกต่างอยู่พอสมควร ทารกจึงควรได้รับการสนับสนุนให้ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก https://www.lazada.co.th/nanmilk-protein/
เอกสารอ้างอิง
[1] Escribano J, Luque V, Ferre N, Zaragoza-Jordana M, Grote V, Koletzko B, et al. Increased protein intake augments kidney volume and function in healthy infants. Kidney Int. 2011; 79(7): 783-90.
2Koletzko B, von Kries R, Monasterolo RC, Subías JE, Scaglioni S, Giovannini M, et al. Infant feeding and later obesity risk. Adv Exp Med Biol. 2009; 646: 15-29.
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!