อย่าใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก ถ้าไม่อยากเสียใจภายหลัง
การทำความสะอาดร่างกายถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเด็ก แต่คุณแม่รู้ไหมว่า แพทย์ถึงกับเตือน!! อย่าใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก เพราะว่ามันอันตรายกว่าที่คิดมาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกน้อยโดยเฉพาะเด็กเล็กให้ถูกวิธี
รู้จัก เข้าใจ “หู” อย่างถูกต้อง
หูของคนเราตามปกติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. หูชั้นนอก: เริ่มตั้งแต่ใบหู เข้าไปช่องหู และแก้วหู ซึ่งแก้วหูนั้นเป็นเนื้อเยื่อที่มีความบอบบางมาก หนาประมาณ 0.1 มิลลิเมตร
2. หูชั้นกลาง: เป็นส่วนที่อยู่ติดจากแก้วหูมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ และมีท่อเชื่อมกับทางด้านหลังจมูก เพื่อปรับระดับความดันได้ มีกระดูกนำเสียง 3 ชิ้น
3. หูชั้นใน: ซึ่งอยู่ส่วนในสุด มีอวัยวะประสาทสัมผัส 2 อย่าง ฝังอยู่ในกระดูกที่แข็งแรงมาก คือ อวัยวะทำหน้าที่รับเสียง และอวัยวะทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว โดยที่หูชั้นนอกจะมีขี้หู ซึ่งเกิดจากขี้ไคลที่ผสมกับน้ำที่อยู่ในต่อมที่อยู่ในหู ทำหน้าที่ดักฝุ่นละออง สิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีกลิ่นเฉพาะ
ดังนั้น ขี้หูจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นออกมา เพราะโดยธรรมชาติขี้หูจะค่อยๆ เลื่อนออกมาเอง แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่า ขี้หูเป็นสิ่งสกปรกและพยายามแคะออกเพื่อให้หูสะอาด
ทำไมถึงห้ามใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก
เตือน “อันตรายไม้ปั่นหูแคะขี้หู” เสี่ยงหูหนวก แก้วหูทะลุ แนะพ่อแม่อย่าใช้คอตตอนบัดเช็ดหูให้ทารก สถาบันบำราศนราดูร พบผู้ป่วยหูอื้อ เพราะขี้หูอุดตัน เหตุจากใช้คอตตอนบัดขนาดใหญ่ปั่นในรูหู เดือนละกว่า 100 ราย
นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ประจำสถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการใช้ไม้แคะหูเมื่อคันหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผม หรือใช้ไม้พันสำลี แคะ ปั่น หรือแหย่เข้าไปในรูหูเพื่อแก้คัน หรือเพื่อเอาน้ำ เอาขี้หูออกมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจาก
1. การใช้คอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่หรือมีขนาดใหญ่เท่ารูหูเข้าปั่นในหู เท่ากับเป็นการดันขี้หูให้ลึกเข้าไปในชั้นของหู จะเกิดปัญหาขี้หูอุดตันตามมา ส่งผลทำให้ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ต้องมาพบคุณหมอให้หยอดยาและดูดขี้หูออก ซึ่งถ้าผู้ทำไม่มีความชำนาญก็เสี่ยงต่อหูน้ำหนวกได้ โดยที่สถาบันบำราศนราดูร จะมีผู้ป่วยประเภทนี้ได้เดือนละประมาณ 100 กว่ารายมารับการรักษา
2. หากใช้คอตตอนบัดที่ไม่สะอาดมาใช้แคะหู จะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหู และติดเชื้อจากคอตตอนบัดที่ไม่สะอาด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหากแคะลึกเกินไป อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
3. การทำความสะอาดรูหู โดยใช้แอลกอฮอล์ชุบคอตตอนบัดเพื่อเช็ดทำความสะอาดในรูหูเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่จะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้ง หากแอลกอฮอล์ไหลเข้าไปถึงบริเวณหูชั้นกลางที่มีแผลถลอกอยู่แล้ว ก็จะเกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้
4. การใช้ไม้พันสำลีหรือคอตตอนบัด เข้าไปเช็ดทำความสะอาดภายในรูหู ก็ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะผิวหนังในรูหูบางมาก จะทำให้เป็นแผลถลอกในรูหู เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ พอแผลเริ่มหายมักจะเกิดอาการคัน และเมื่อมีอาการคัน ก็มักจะใช้ไม้แคะหูแก้อาการคัน กระทำวนเวียนกันไป ทำให้เกิดอาการหูอักเสบเรื้อรัง หรือบางคนใช้ไม้คอตตอนบัดปั่นลึก ก็อาจทำให้แก้วหูทะลุ มีอาการปวดในหูได้
5. ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
วิธีทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี อ่านต่อ >>
วิธีทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี
นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข ให้คำแนะนำวิธีทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี ดังนี้
- ทำความสะอาดเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหู โดยใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบาๆ บริเวณใบหู และขณะอาบน้ำ สระผม
- ระวังอย่าให้น้ำเข้าไปในรูหู หากรู้สึกว่ามีน้ำเข้าหูบ่อย ควรป้องกันโดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนขนาดประมาณหัวแม่มืออุดหูก่อนอาบน้ำสระผม
- ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
เมื่อรู้แล้วว่า การใช้คอตตอนบัดปั่นหูจะทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ที่เราคาดไม่ถึง อาจทำให้แก้วหูอักเสบ ติดเชื้อ เป็นต้น ดังนั้น การทำความสะอาดหูที่ถูกวิธีควรทำตามที่คุณหมอแนะนำ โดยเฉพาะในเด็กเล็กควรปฏิบัติตามให้ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับหูของลูกน้อยที่อาจตามมา
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://webcache.googleusercontent.com/
https://kaijeaw.com
https://www.gotoknow.org/posts/204494
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พลังแห่งช่วงเวลาอาบน้ำของลูกเป็นมากกว่าการทำความสะอาด
สารสกัดจากธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็กจำเป็นอย่างไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!