หลังจากที่ตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ก็พบความผิดปกติเกี่ยวกับทารกในครรภ์ ซึ่งวิธีเดียวที่จะสามารถช่วยชีวิตได้ก็คือ คุณหมอจะต้อง ผ่าคลอด เท่านั้น!
เจอรี่ โวลฟ์ คุณแม่วัย 41 ปี มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะคลอดลูกคนที่ 10 และ 11 ซึ่งเป็นลูกแฝดของเธอด้วยวิธีการแบบธรรมชาติ แต่แล้วสิ่งที่เธอคิดก็ต้องจบลง ด้วยการที่คุณหมอตรวจพบความผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับทารกแฝดในครรภ์ของเธอ
แต่ เจอรี่ ก็ไม่ยอมแพ้ และมีความตั้งใจที่จะคลอดลูกแฝดของเธอด้วยตัวเองให้ได้ เธอจึงค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าท้องคลอดด้วยวิธีการธรรมชาติขึ้น ซึ่งเธอก็ได้มาปรึกษาคุณหมอว่า คุณหมอจะยังคงสามารถผ่าท้องคลอดให้เธอได้ แต่เธอจะขอเป็นคนคลอดลูกแฝดเอง ด้วยการเป็นคนเอาทารกออกมาเอง
ซึ่งแม้แต่คุณหมอก็ไม่เคยได้ยินวิธีการนี้มาก่อน แต่ก็อนุญาตให้เธอทำเอง โดยที่คุณหมอจะคอยดูอยู่ใกล้ ๆ ทันทีที่คุณหมอ ผ่าท้องของเธอ คุณหมอก็ส่งสัญญาณให้เธอสามารถหยิบทารกออกจากมดลูกเองได้ เจอรี่ ดึงเอาทารกคนแรกขึ้นมาได้สำเร็จ และแน่นอนทารกคนที่สองด้วยเช่นกัน
มาทิลด้า และไวโอเลต ทารกแฝดเพศหญิงคลอดออกมามีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี และใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน คุณหมอก็อนุญาตให้ เจอรี่ นำตัวทารกแฝดกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้
“ร่างกายของฉัน ลูกของฉัน ฉันย่อมรู้จักมันดี” เจอรี่กล่าว ไม่แปลกหาก เจอรี่ จะรู้เรื่องเกี่ยวกับการคลอดลูกเป็นอย่างดี เพราะเธอผ่านการมีลูกมาแล้วทั้งหมด 9 คน และนี่คือภาพครอบครัวที่แสนจะอบอุ่นของเธอ
สามารถอ่านวิธีการดูแลแผลผ่าคลอดไม่ให้นูนแดงได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
เทคนิคการดูแลแผล ผ่าคลอด ไม่ให้นูนแดง
1. หลังผ่าคลอดใหม่ ๆ คุณหมอจะใช้พลาสเตอร์ปิดแผลกันน้ำ เพื่อรั้งไม่ให้แผลตึง เพิ่มความสะดวกและลดความเจ็บปวดบาดแผลเวลาเคลื่อนไหว แม้ว่าคุณหมอเปิดแผลเอาพลาสเตอร์ออกและตัดไหมเรียบร้อยแล้วก็ตาม หลังจากนั้นให้คุณแม่ซื้อเทปปิดแผลกันน้ำเช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลติดให้ หรือใกล้เคียงกันโดยปรึกษาเภสัชกรให้ช่วยแนะนำได้ค่ะ นำมาปิดรั้งแผลไว้ตลอดเวลา เพื่อรั้งผิวหนังรอบ ๆ แผลเอาไว้ ป้องกันไม่ให้แผลยืดตัว โดยใช้ตลอดจนกว่าแผลจะหายสนิท (ระยะเวลาในการปิดแผล ประมาณ 3 เดือนควรเปลี่ยนพลาสเตอร์ด้วยนะคะ ไม่ใช่ติดแผ่นเดียวตลอดทั้ง 3 เดือน)
2. ในช่วง 3 เดือนหลังคลอดนี้สำคัญนะคะ หากปฏิบัติตนถูกต้องจะช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนแดงหรือคีลอยด์ได้ ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ระมัดระวังในการลุกจากท่านั่งหรือท่านอน ไม่ควรใช้กล้ามเนื้อท้องหรือทำสิ่งอื่นใดที่ทำให้แผลเกิดการยืดเหยียดมากจนแผลตึงเกินไป จะทำให้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเส้นใยคอลลาเจนหนา ๆ ทำให้แผลเป็นนูนแดงขึ้น
3. ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ หรือทำงานที่ใช้แรงมาก ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังตึงโดยไม่รู้ตัว
4. ดูแลรักษา ทำความสะอาดแผลผ่าคลอดให้ดีที่สุดที่สำคัญแผลต้องแห้งตลอดวัน ไม่ควรอับชื้น เพราะจะทำให้แผลหายช้ามีโอกาสเกิดรอยแผลนูนแดง คีลอยด์เพิ่มมากขึ้น
5. ห้ามแคะ แกะ เกาแผลเด็ดขาดนะคะ
6. ทาครีมที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์อ่อน ๆ ช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนแดงได้ โดยอนุญาตให้ใช้ครีมทาภายนอกเท่านั้น ห้ามทานยาที่มีส่วผสมของสเตอรอยด์เด็ดขาด เพราะยาจะถูกดูดซึมไปกับกระแสเลือดจนเล็ดลอดไปกับน้ำนมและมีผลกระทบต่อทารกได้
7. อย่างไรก็ตาม หากเริ่มมีแผลคีลอยด์ขึ้นมานิด ๆ(ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของแต่ละคนด้วยค่ะ) ให้ใช้แผ่นซิลิโคนเจลซีปิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกอย่างน้อย 1 เดือน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นต้องอาศัยการฉีดยาสเตอรอยด์ในแผลเป็นนูนแผลจะยุบลงภายใน 1 ปี แต่อาจทำให้เกิดรอยบุ๋ม ซึ่งแผลรอยบุ๋มนี้จะรักษายาก ที่สำคัญยาฉีดสเตอรอยด์จะมีผลต่อน้ำนมแม่ ดังนั้น คุณหมอมักจะรอให้หยุดการให้นมเสียก่อนจึงจะทำการรักษาได้
คำถามที่คุณแม่ท้องมักจะสงสัยและเป็นกังวลว่า การผ่าคลอด หรือเรียกว่าอีกอย่างว่า ซีซาร์ แตกต่างจากการคลอดปกติอย่างไร คลอดวิธีไหนดี เราได้รวบรวมความรู้มาให้คุณแม่ได้คลายความสงสัย ดังนี้ค่ะ
การคลอดปกติ เป็นการคลอดเองแบบธรรมชาติที่คุณแม่จะเบ่งลูกน้อยออกมาทางช่องคลอด ส่วนการผ่าตัดคลอดซีซาร์จะเป็นการผ่าตัดนำตัวทารกออกทางหน้าท้อง โดยปกติแพทย์จะทำการผ่าคลอดเมื่อเห็นว่าคุณแม่และลูกน้อยอาจมีความเสี่ยงถ้าคลอดเองโดยธรรมชาติ หรือคุณแม่บางคนเลือกผ่าคลอดแทนการคลอดธรรมชาติเพราะไม่อยากเจ็บปวดมาก สามารถกำหนดวันที่คลอดได้ สะดวกและรวดเร็วมาก ๆ ค่ะ แต่ในกรณีนี้คุณแม่อาจจะต้องปรึกษากับคู่สมรสและทางแพทย์ผู้ดูแลก่อนด้วยนะคะ
การผ่าคลอดมักจะฉีดยาชาแก้ปวดหรือบล็อกหลัง เพื่อให้คุณแม่มีสติอยู่ตลอดเวลาระหว่างทำคลอดโดยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าคลอด แต่ในบางกรณีวิสัญญีแพทย์และสูตินรีแพทย์เลือกใช้ยาสลบทั่วไป โดยจะประเมินตามความเสี่ยงเพราะคุณแม่บางรายอาจมีการแพ้ยาบางชนิดซึ่งอาจเป็นอันตรายระหว่างการทำคลอด ดังนั้นแพทย์จะถือความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ
ในปัจจุบันนี้การผ่าคลอดมีความปลอดภัยสูงมากเพราะความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากการคลอดบุตรก็ต่ำมากค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใด ๆ เลย แต่ก็ยังคงไม่สามารถเทียบความปลอดภัยได้เท่ากับการคลอดธรรมชาตินะคะ เพราะคุณแม่จะเจ็บแผลผ่าคลอดและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งแม่และเด็ก ซึ่งโดยปกติแพทย์มักจะกำหนดวันล่วงหน้า หรือในบางกรณีอาจไม่ได้วางแผน แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างทำคลอดธรรมชาติทำให้ต้องผ่าคลอดฉุกเฉินได้เช่นกันค่ะ
การผ่าคลอด แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1. แบบวางแผนมาก่อน
2. แบบฉุกเฉิน
1. การผ่าคลอด แบบวางแผนมาก่อน
การผ่าคลอดเป็นทางเลือกที่แพทย์แนะนำเมื่อคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดเองไม่ได้ เช่น ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของคุณแม่หรือเด็ก หรือลักษณะอาการผิดปกติของเด็กที่แพทย์ผู้ดูแลพบจากการอัลตร้าซาวด์และการตรวจอื่น ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เห็นเหตุจำเป็นที่ต้องกำหนดวันผ่าคลอด โดยปกติการผ่าคลอดจะมีสาเหตุจากหลายข้อ มีดังนี้
• ทารกอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องผ่าคลอดออกมาโดยเร็ว
• คุณแม่มีความเสี่ยงสูง เช่น มดลูกบีบตัวรุนแรง หรือมดลูกลอกตัวเร็ว หรือป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกระหว่างคลอด เช่น เชื้อไวรัส HIV โรคตับอักเสบ หรือโรคเริมที่อวัยวะเพศ
• คุณแม่สุขภาพไม่ดี ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติ
• ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เอาส่วนเท้าออกมา หรือนอนขวางหันด้านข้างออกจนเด็กไม่สามารถหมุนตัวกลับเองได้ ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้
• เป็นท้องแฝด 3 คนขึ้นไป หรือคุณแม่เคยท้องและคลอดแฝดสองมาก่อนก็จำเป็นจะต้องผ่าคลอดเช่นกันค่ะ
• หากคุณแม่เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือเคยผ่าตัดมดลูก การคลอดธรรมชาติอาจเกิดอันตรายได้ค่ะ
2. การผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน
คุณแม่บางคนต้องผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉินเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนกะทันหัน จำเป็นต้องรีบผ่าคลอดออกมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับอันตราย ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน มีดังนี้
• ทารกมีอาการไม่ดี เกิดความผิดปกติระหว่างคลอดธรรมชาติ แพทย์จำเป็นต้องผ่าคลอดเร่งด่วน
• คุณแม่มีภาวะวิกฤตระหว่างคลอด เช่น ความดันโลหิตสูงมาก อ่อนเพลียมาก มีอาการเกร็งชักหรือความผิดปกติอื่น ๆ ทำให้คลอดเองตามธรรมชาติไม่สำเร็จ
• มีภาวะแทรกซ้อน เช่น สายสะดือย้อย รกพันคอของทารก หรือมดลูกแตก พบได้น้อยแต่อันตรายมากนะคะ กรณีนี้จะต้องผ่าคลอดเร่งด่วน
• ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ทำให้คลอดแบบธรรมชาติได้ยาก เสี่ยงอันตรายทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยเลยค่ะ
• การคลอดใช้ระยะเวลานานเกินไป มีแนวโน้มจะคลอดเองตามธรรมชาติไม่สำเร็จ
• การใช้ยาเร่งคลอดผิดพลาด
จะต้องเจออะไรบ้าง เมื่อผ่าคลอด
หลังจากที่คู่รักได้ตัดสินใจและแจ้งคุณหมอว่าต้องการจะทำการผ่าคลอดแล้ว ต่อไปคือขั้นตอนและสิ่งที่จะต้องเจอสำหรับการผ่าคลอด มาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ
• ก่อนที่คุณแม่จะผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง พยาบาลจะต้องเตรียมการคลอดด้วยการทำความสะอาด โกนขนบริเวณหน้าท้องช่วงล่างของคุณแม่จากนั้นเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้ทำคลอดได้สะดวกและป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียบนผิวที่อาจส่งผ่านไปสู่ลูกในระหว่างทำคลอดค่ะ
• คุณหมอจะให้ยาสลบ (อาจเป็นยาสลบแบบทั่วไปหรือวิธีบล็อกหลัง) และให้น้ำเกลือผ่านเส้นเลือดเพื่อควบคุมร่างกายให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและเหมาะสมตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราว โดยปกติจะถอดสายสวนปัสสาวะได้หลังจากนั้นประมาณ 8 ชั่วโมง กรณีที่ต้องผ่าคลอดเร่งด่วน ขั้นตอนเตรียมคลอดนี้จะใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นค่ะ
• โดยปกติคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะต้องนอนเตรียมตัวในห้องผ่าตัดนานนับชั่วโมง ยกเว้นกรณีผ่าคลอดฉุกเฉินต้องทำทันทีเพื่อรักษาชีวิตทั้งคู่ไว้ ส่วนคุณพ่อแพทย์จะอนุญาตให้เข้าไปกับคุณแม่ในห้องผ่าตัดได้นะคะ แต่ในบางโรงพยาบาล แพทย์จะอนุญาติให้เข้าได้หลังจากที่การผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วเพื่อถ่ายรูปร่วมกับลูกน้อยที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว และเพื่อความสะดวกในการทำงานของแพทย์พยาบาลในห้องผ่าตัดด้วยค่ะ ทั้งนี้คุณพ่อจะต้องเปลี่ยนใส่ชุดเสื้อกาวน์ของโรงพยาบาลและฟอกมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อโรคให้สะอาด
• คุณหมอจะลงมีดผ่าตัดซึ่งในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าคลอดแบบแนวนอน เรียกว่า การผ่าแบบบิกินี่ คือการผ่าตามแนวนอนผ่านชั้นผิวหนังตามรอยพับของหน้าท้องลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อของมดลูก จากนั้นคุณหมอจะยกเด็กออกมา โดยยกศีรษะก่อน หลายกรณีใช้คีมหนีบช่วยดึงเด็กออกมาด้วย รีบดูดน้ำคร่ำออกจากจมูกและปากของทารก ก่อนจะอุ้มเด็กออกมาจากท้องคุณแม่ บางรายเด็กหันก้นขึ้นด้านบน คุณหมอก็จะดึงก้นออกก่อนค่ะ
• วิธีการผ่าตัดคลอดค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น พอนำเด็กออกมาแล้ว คุณหมอจะยกรกออกมาด้วย และฉีดสารออกซิโตซินกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ลดการเสียเลือดพร้อมกับป้องกันการตกเลือดหลังคลอด คุณหมอจะเย็บปิดแผลที่มดลูก ชั้นกล้ามเนื้อ และผิวหนังบริเวณหน้าท้องตามลำดับค่ะ
• สังเกตได้ว่าเด็กที่ผ่าคลอดส่วนใหญ่จะมีศีรษะกลมและเรียบกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ แต่เด็กผ่าคลอดจะไม่ผ่านกระบวนการบีบตัวของมดลูกที่รีดของเหลวออกจากปอด อาจจะมีของเหลวและเมือกต่าง ๆ ตกค้างอยู่ในปอดมากกว่าปกติ ต้องดูดออกมาให้เด็กเริ่มหายใจ แต่ไม่มีปัญหาในระยะยาว
• หลังจากผ่าคลอดเรียบร้อยแล้ว แพทย์ผดุงครรภ์หรือกุมารแพทย์จะพาลูกน้อยไปให้คุณแม่กอดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออาจให้คุณพ่ออุ้มลูกจนกว่าคุณแม่จะพร้อมอุ้มลูกได้ รวมถึงการให้ลูกดูดนมคุณแม่เพื่อเป็นการกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนมของคุณแม่ แม้ว่าน้ำนมจะยังมีน้อยหรือไม่มีก็ตามแต่ร่างกายจะตอบสนองและเร่งผลิตน้ำนมได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยค่ะ
• หลังคลอด ยังมีสายท่อเล็ก ๆ ค้างอยู่ในตัวคุณแม่เพื่อระบายของเหลวออกจากแผล โดยปกติคุณหมอจะกระตุ้นให้คุณแม่ลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบถหลังคลอดภายใน 8-12 ชั่วโมงเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
• อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดนานหลายสัปดาห์ อาการเดียวกับการคลอดธรรมชาติ คุณแม่ไม่ต้องตกใจนะคะ อาการนี้เกิดจากมดลูกบีบตัวขับเซลล์เม็ดเลือดที่สร้างขึ้นปกป้องทารกตลอดการตั้งครรภ์ให้ออกไปจนหมด
• โดยส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดยังนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนและร่างกายแข็งแรงฟื้นตัวดี อาจกลับบ้านได้เร็วกว่าที่คิดค่ะ
• การผ่าคลอดใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่าการคลอดธรรมชาติ คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำให้กินยาแก้ปวดช่วง 2-3 วันหลังคลอด และให้นมลูกได้อย่างปลอดภัย คุณแม่ไม่ควรยกของหนักหรือขับรถประมาณ 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย รอเวลาประมาณ 3 เดือน ร่างกายถึงจะฟื้นคืนสภาพปกตินะคะ
คุณแม่ลูกอ่อนที่ผ่านประสบการณ์การผ่าคลอดอาจต้องดูแลทารกด้วยตัวเองทั้งวันทั้งคืน ต้องอุ้มบ่อยทั้งยังตึงปวดแผล ง่วงนอนและอ่อนเพลีย อย่างไรแล้วควรทำตามกำลังของคุณแม่นะคะ ลองมองหาคนใกล้ชิดมาช่วยดูแลลูกน้อย หาเวลาพักผ่อนให้มากพอ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว แข็งแรง และพร้อมดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ค่ะ
ที่มาจาก : huggies.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สูตรน้ำแกงแม่หลังคลอด หลังคลอดกินซุป แกง อะไรได้บ้าง?
ผ่าคลอดแล้วยังปวดหลังไม่หาย ทำอย่างไรให้อาการบรรเทาหายไป
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!