ระวังให้ดี เสมหะลงปอด ทารก ทารกเป็นหวัดมีเสมหะ เสมหะติดคอลูก เห็นลูกไออย่าคิดแค่ว่า อากาศเปลี่ยน ลูกแค่เป็นหวัด สังเกตดี ๆ ลูกอาจมีความเสี่ยง ปอดอักเสบ ปอดบวม โดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวเย็น มีฝน ยิ่งต้องสังเกตอาการลูก
แม่แชร์อุทาหรณ์ลูกมีเสมหะลงปอด เสมหะติดคอลูก
จากประสบการณ์ของคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้โพสต์ว่า น้องอายุเพียง 2 เดือน ขี้มูกแห้ง ไอนิดหน่อย คิดว่าอากาศเปลี่ยนแปลง จนน้องทานนมแล้วอ้วก จึงรีบพามาหาหมอ พบว่า ลูกมีเสมหะลงปอด ปอดอักเสบ และมีปอดบวมข้างซ้ายนิดเดียว ลูกจึงต้องนอนโรงพยาบาล และต้องถูกดูดเสมหะที่ปอดวันละ 3 ครั้ง
เสมหะติดคอลูก
ทำไมร่างกายจึงมีเสมหะ
เสมหะเกิดขึ้นเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในทางเดินหายใจ และขับเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมออกโดยไอ สำหรับผู้ใหญ่แล้ว สามารถสั่งน้ำมูกออกจากช่องจมูกและไอเอาเสมหะออกจากปอดได้ แต่ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ นี่สิ ไม่สามารถสั่งน้ำมูกและไอได้เอง จำเป็นต้องดูดเสมหะเพื่อดูดน้ำมูกออกจากช่องจมูกและเป็นการกระตุ้นให้ไอเพื่อขับเสมหะออกจากปอด
การที่ไม่มีน้ำมูกในช่องจมูก และไม่มีเสมหะคั่งค้างในปอดจะทำให้เด็กหายใจสะดวกสามารถดูดนมได้ดี นอนหลับสบาย ทั้งยังไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จึงไม่เกิดการติดเชื้อตามมา
บทความที่น่าสนใจ : วิธีเคาะปอดที่ถูกต้อง ระบายเสมหะ ทำได้ตอนกี่เดือน
ทารกเป็นหวัดมีเสมหะ ดูดเสมหะทารกตอนไหนดี
เมื่อลูกมีเสมหะควรดูดเสมหะก่อนให้นมหรืออาหาร ซึ่งทารกหรือเด็กเล็ก ไม่อาจบอกได้ว่า หนูกำลังมีเสมหะนะ พ่อแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการ เสมหะลงปอด ทารก ดังนี้
- มีน้ำมูกในจมูกหรือมีเสมหะในคอ
- หายใจครืดคราด หรือเมื่อวางมือแนบอกหรือหลัง จะรู้สึกว่าครืดคราด
- กระสับกระส่าย
- หายใจลำบาก จมูกบานหรืออาจจะหายใจเร็วกว่าปกติ
- ดูดนมไม่ดี
- รอบปากซีดหรือเขียวคล้ำ
เสมหะติดคอลูก
วิธีดูดเสมหะทารก
วิธีดูดเสมหะทางจมูกและปาก ทำอย่างไร
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังดูดเสมหะ
- ในกรณีเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ ให้ใช้ผ้าห่อตัวเพื่อเก็บแขนทั้ง 2 ข้างป้องกันไม่ให้เด็กเอามือมาปัดและดันขณะดูด ทำให้ดูดเสมหะได้สะดวกและนุ่มนวล
- ก่อนดูดเสมหะให้ตรวจเครื่องดูดเสมหะว่าทำงานดีหรือไม่
- ใช้สายดูดเสมหะขนาดพอดีไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป และใช้แรงดูดในขนาดพอที่จะดูดเสมหะได้ดี
- ขณะดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสะบัดหน้าไปมาขณะดูด และป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเสมหะหรือเศษอาหารลงปอดเมื่อเด็กมีอาเจียนขณะดูด ค่อย ๆ สอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือ ช่องจมูกให้ถึงบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก (ประมาณความลึกของสายโดยวัดระยะจากปลายจมูกถึงติ่งหูความลึกของสายเท่ากันไม่ว่าจะสอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือช่องจมูก) ซึ่งเด็กมักจะเกิดอาการไอเมื่อใช้สายดูดเสมหะกระตุ้นบริเวณนี้ เมื่อเด็กไอเสมหะจะหลุดจากปอดขึ้นมาในคอ ทำการดูดเสมหะในคอและปากออกให้หมดโดยขณะดูดให้ค่อย ๆ ขยับสายขึ้นลงอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล
- ทำการดูดเสมหะจนกระทั่งไม่มีเสมหะในปอด
- สังเกตลักษณะ จำนวน และสีของเสมหะ
บทความที่น่าสนใจ : ลูกแพ้ขนสัตว์ควรจัดการอย่างไร? เมื่อมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมดูดเสมหะทารก
- ถ้าเด็กไม่มีน้ำมูกให้สอดสายดูดเสมหะผ่านปากเพราะการสอดสาย เข้าทางช่องจมูก จะทำให้เด็กเจ็บมากกว่าการสอดสายเข้าทางปาก
- การสอดสายเข้าในช่องจมูกให้ค่อย ๆ สอดสายอย่างนุ่มนวลโดยสอดสายให้โค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อยแล้วย้อนลงสู่ด้านล่างสายจะค่อย ๆ เคลื่อนไปตามช่องจมูก ถ้าสอดสายแล้วรู้สึกติดห้ามกระแทกหรือดันให้ถอนสายออกมาเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ พยายามสอดใหม่หากสอดสายไม่เข้าให้เปลี่ยนไปใส่ช่องจมูกอีกข้างแทน
- ขณะสอดสายดูดเสมหะเข้าในช่องจมูกให้ทำการดูดเมื่อมีน้ำมูกในโพรงจมูก หรือเด็กมีอาการไอ เพราะถ้าไม่มีน้ำมูกในโพรงจมูกสายดูดเสมหะจะดูดเนื้อเยื่อในโพรงจมูกทำให้เกิดการอักเสบและบวมได้
- อย่าลืมให้เด็กพักเป็นระยะ ๆ ในระหว่างทำการดูดเสมหะเพื่อไม่ให้เด็กเหนื่อย
- ภายหลังดูดเสมหะเสร็จอย่าลืมปลอบโยนเด็กโดยการอุ้ม หรือโอบกอดจนเด็กสงบ และหยุดร้องไห้
หากไม่มีน้ำมูกหรือเสมหะในปอดแล้ว หรือลูกสามารถสั่งน้ำมูก และไอเอาเสมหะออกจากปอดได้ดี ก็เลิกดูดเสมหะได้ค่ะ
ทารกเป็นหวัดมีเสมหะ ปอดอักเสบ ปอดบวม สังเกตยังไง
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ระบุไว้ว่า โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็ก เป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของทางเดินหายใจลดลง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรง บางครั้งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เกิดมีน้ำหนักตัวน้อยอายุต่ำกว่า 1 ปี มีโรคขาดอาหาร โรคเรื้อรัง หรือความพิการแต่กำเนิด
พ.ญ.พนิดา ศรีสันต์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ อธิบายว่า โรคปอดอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อ ทั้งจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการเริ่มต้นโดยเป็นหวัดก่อน 2-3 วัน ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อรา พยาธิ หรืออาจเกิดจากการแพ้ การระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป ซึ่งเชื้อโรคที่ก่อนให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น
- การสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปโดยตรง
- การสำลัก การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด
เสมหะติดคอลูก ทารกเป็นหวัดมีเสมหะ
อาการปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายหรือถุงลม เชื้อเกิดการแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา โดยที่ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสมักมีอาการไข้หวัดนำมาก่อนสัก 2-3 วัน ได้แก่ มีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ตามมาด้วยอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ส่วนมากถ้าอาการไม่รุนแรงอาจดีขึ้นได้เอง อัตราการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อแบคทีเรีย
การสังเกตอาการเบื้องต้น ของโรคปอดบวมอยู่ในภาวะป่วยหนักหรือรุนแรง จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
- ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ
- ซึมมาก
- ปลุกตื่นยาก
- หายใจมีเสียงดัง
- หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม
- มีอาการขาดน้ำ
- ค่าความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดต่ำ
- ถือว่าเป็นภาวะป่วยหนัก ควรรับการรักษาในโรงพยาบาล
วิธีป้องกันปอดอักเสบ ปอดบวม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ
- มีอนามัยส่วนบุคคล โดยฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตาหรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่ายคือ การอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์
- เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญเด็กทุกคนควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้น ๆ
- ผู้เลี้ยงดูเด็กควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรนำมาพบแพทย์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคที่ทารกชอบเป็น ป่วยต้องดูอาการให้ดี บางอาการอาจจะอันตรายกว่าที่คิด
ทารกนอนบิดตัว เกิดจากอะไร ส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยหรือไม่?
ทารกนอนแอร์กี่องศา ทารกนอนพัดลมได้ไหม กลัวลูกปอดติดเชื้อ ปอดบวม แม่ต้องทำอย่างไร
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!