เลี้ยงลูกด้วยจอ มือถือ แท็บเล็ต เลี้ยงอย่างไรให้เหมาะสม
ในระยะหลังๆ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่บางคนติดมากกว่าเด็กเสียอีก แต่ต่างกันที่เด็กยังต้องการเรียนรู้และการพัฒนาในด้านอื่นๆ อีกเยอะ ดังนั้น พ่อแม่ควรระวังอย่า เลี้ยงลูกด้วยจอ มากเกินไป เพราะถ้าลูกติดจอเมื่อไหร่ จะยากต่อการควบคุมลูกน้อยได้นะ
ให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ตนานแค่ไหนดี
การแบ่งเวลา และการจัดสรรเวลาให้เจ้าตัวน้อยได้เล่นมือถือ หรือแท็บเล็ตอย่างพอดี พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกน้อยตั้งแต่แรก สำหรับระยะเวลาในการเล่นนั้น สมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ American Academy of Pediatrics หรือ AAP เคยแนะนำว่า สำหรับเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น ควรอยู่กับหน้าจอมือถือ และแท็บเล็ตไม่เกินสองชั่วโมงต่อวัน แต่เวลาต่อมาได้เปลี่ยนข้อแนะนำขึ้นมาใหม่ พร้อมการแบ่งช่วงอายุให้ขัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ อย่าให้ลูกเล่นสื่อดิจิทัลใดๆ เลย ยกเว่นวีดีโอแชท หรือวีดีโอคอล
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ครึ่ง – 2 ปี ถ้าจะให้ลูกเล่นมือถือ แนะนำให้ดูพวกสื่อที่มีคุณภาพ โดยที่พ่อแม่ต้องคอยนั่งดูกับเขาด้วย อย่าปล่อยให้ดูเพียงคนเดียว และไม่ควรนำมาให้ลูกเล่นเพียงเพราะว่าอยากให้เขาอยู่นิ่งๆ ไม่ร้องไห้งองแง หรือทำให้เขาสงบลง
- เด็กที่มีอายุ 2 – 5 ปี สามารถให้ลูกเล่นมือถือได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และพ่อแม่ต้องดูกับลูกน้อยข้างๆ ด้วย
- เด็กที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งกฎกับลูกเรื่องเวลา โดยต้องมีความเหมาะสมที่ไม่กระทบต่อการนอน การพักผ่อน การเล่น การออกกำลังกาย และการกินของหนูๆ
ไม่เพียงแค่นั้นทางสมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ ยังบอกต่ออีกว่า ครอบครัวยุคใหม่ควรจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอื่น นอกจากเล่นมือถือ ดูวิดีโอคลิปด้วยกัน ซึ่งนักวิชาการอย่าง คริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน อาจารย์มหาวิทยาลัย Stetson ภาควิชาจิตวิทยา ในรัฐฟลอริด้า ได้กล่าวว่า “เวลา screen time (เวลาอยู่กับหน้าจอ) ที่มากเกินไป จะส่งผลร้ายจริงๆ ต่อเยาวชน” เพราะว่าเมื่อเด็กมีเวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้น พวกเขาจะลดเวลาที่ให้กับการเรียนหนังสือลง
ลูกจะก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ เพราะเล่นมือถือ
จากการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญที่อังกฤษ ระบุว่าพฤติกรรมด้านลบเมื่อลูกเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต เช่น ความก้าวร้าว และอารมณ์หดหู่ จะเพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กที่ใช้เวลา screen time อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน อาจารย์เฟอร์กูสัน จึงได้ทำการวิจัยกับเยาวชนในสหรัฐฯ โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 6 พันราย ในรัฐฟลอริด้า ในเด็กที่มีอายุเฉลี่ย 16 ปี โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกแบบแบบสอบถาม และได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Psychiatric Quarterly พบว่า การที่ลูกเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตนานๆ จะมีกระทบด้านพฤติกรรมอยู่เล็กน้อย กล่าวคืออาการเพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้าอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลการเรียนที่ตกต่ำลง อยู่ในระดับร้อยละ 1.2
การเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตของเด็กนั้น จะส่งผลต่อพฤติกรรม และผลการเรียนของเด็กมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ เพราะสื่อในโลกออนไลน์มีหลายประเภทมาก อยากรู้เรื่องอะไรมีหมด มีตั้งแต่ความรู้ยากๆ เฉพาะทาง ไปจนถึงเรื่องบันเทิง สนุกสนาน และเรื่องอันตราย หากพ่อแม่คอยควบคุมและแบ่งเวลาให้เข้าตัวน้อยอย่างเหมาะสม จะทำให้ช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีความคิดอะไรใหม่ๆ และยังทำให้พ่อแม่ค้นหาความสนใจ หรือความชอบของลูกน้อยได้ เพื่อส่งเสริมให้เขามีการพัฒนาความถนัดไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเด็กที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี
ที่มา: voathai
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เช็กพฤติกรรม “ลูกติดโทรศัพท์” ส่งผลสมาธิสั้น
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!