ฤดูฝนที่ไร แม่ๆ กลุ้มใจทุกที บรรดาเชื้อร้าย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา มากันเพียบ อีกหนึ่งมหันตภัยร้ายที่แฝงตัวอยู่ในบ้านนั่นก็คือ เชื้อราหน้าฝน ส่งผลร้ายต่อสุขภาพคือทำให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และอาจเป็นปอดอักเสบได้ โดยเฉพาะเด็กvๆ ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ยิ่งต้องระวัง
เชื้อราหน้าฝน ปัญหากวนใจภายในบ้าน
ฝนที่ตกช่วยทำให้ชุ่มฉ่ำ แต่กลับสร้างภัยร้ายอย่างเชื้อรา! สาเหตุหนึ่งนั้นมาจากด้วยความชื้นในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ภายในบ้านมีความชื้นสูงมากขึ้นเช่นกัน บ้านที่อับชื้นก็เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของเจ้าเชื้อรา ที่พร้อมจะแพร่กระจายภายในบ้าน ยิ่งบ้านไหนที่มีปัญหาน้ำท่วมยิ่งต้องระวัง เพราะน้ำท่วมและน้ำขังที่อยู่ภายนอกบ้าน อาจจะซึมผ่านรูรั่วเล็กๆ เข้ามาภายในบ้าน ก่อให้เกิดเชื้อราได้โดยที่แม่ไม่ทันระวัง
3 ห้องต้องระวังเชื้อรา
1) ห้องน้ำ
บริเวณห้องน้ำเป็นส่วนที่มีความชื้นตลอดเวลา แม่ต้องคอยสังเกตให้ดี เพราะเมื่ออาบน้ำคราบไคลจากผิวหนังและคราบสบู่ จะกลายเป็นอาหารให้เชื้อราอิ่มหนำ สิ่งที่ต้องระวังคือ กระเบื้อง ฝ้าเพดาน ผ้าม่านในห้องน้ำ อ่างล้างหน้า หรือแม้แต่แปรงสีฟัน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำก็สำคัญ ต้องมีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ซึ่งมีฤทธ์เป็นด่าง ช่วยกำจัดเชื้อราฝังแน่นได้ดี
2) ห้องครัว
ขึ้นชื่อว่าห้องครัว คือห้องสำหรับทำอาหาร หลีกเลี่ยงความชื้นได้ยาก ทั้งจากการทำอาหาร และบริเวณที่ล้างจาน ซึ่งเป็นที่อับชื้น จึงต้องทำความสะอาดอยู่บ่อยๆ และเช็ดให้แห้งเสมอ
3) ห้องนอน
ในห้องนอนมีพื้นที่ที่เหมาะจะอาศัยอยู่ของเชื้อรา ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ใต้พรม เครื่องนอน และเครื่องปรับอากาศ ในส่วนของเครื่องนอน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ควรจะซักและตากแดดเป็นประจำ แล้วอย่าลืมล้างแอร์บ่อยๆ ด้วยนะ
มหันตภัยร้ายอันตรายต่อลูกน้อย จาก เชื้อราหน้าฝน
กลุ่มที่มีโอกาสป่วยจากเชื้อราหน้าฝนคือ ผู้สูงอายุ และเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กอ่อน อาการเบื้องต้นหลังจากที่หายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล และมีไข้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิดได้ โดย น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาเผยว่า ในช่วงหน้าฝน ปัญหาที่พบได้บ่อยนั้นก็คือ เสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้นเนื่องจากเปียกฝน หรือการใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ซึ่งนับว่าเป็นเป็นแหล่งสะสม ของเชื้อโรคที่ดีเลยทีเดียว เมื่อนำมาสวมใส่แล้วอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อราตามมาได้ อาทิ เช่น
1) ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
สามารถพบปัญหานี้ได้ทุกเพศและทุกวัย แต่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก ซึ่งจะมีอาการผิวหนังแห้ง แดง อักเสบ ในบริเวณตำแหน่งที่ใดตำแหน่งหนึ่ง และมีอาการคันมาก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน หรือใช้ยาทาชนิดสเตียรอยด์
2) ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา
ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบที่จะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ มีขุยบาง ๆ จุดจะกระจัดกระจายไปทั่วผิวหนัง หลังจากนั้นจุดพวกนี้ก็จะค่อย ๆ ขยายโตขึ้นเป็นผื่นราบ วงสีจางกว่าผิวหนังปกติ เกิดเป็นรอยด่าง ส่วนแบบที่สองจะเรียกว่า กลาก ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่สามารถพบได้ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า
3) ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้ง ๆ ออกน้ำตาล มักเป็นบริเวณที่มีความอับชื้นซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียมาก ๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า เช่น โรคเท้าเหม็น โดยที่เท้าจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้า และง่ามเท้า
4) โรคน้ำกัดเท้า
โรคผิวหนังอักเสบที่มาจากความอับชื้น เมื่อเท้าของเราได้สัมผัสกับสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ก็จะเกิดผื่นตามเท้าและบริเวณซอกนิ้วเท้า ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้ค่ะ
กำจัดเชื้อราหน้าฝนอย่างไรให้อยู่หมัด
การทำความสะอาดบ้านให้เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบ้านควรจะใส่ใจ ซึ่งเราได้คัดวิธีมาให้แล้ว ดังนี้
- พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด
- ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
- ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย
- ไม่ควรให้มีคราบน้ำหรือน้ำขังบริเวณบ้านและอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ไม่ควรมีคราบน้ำที่กระจก ผนัง ฝ้า และเพดาน
- ควรมีอุปกรณ์สวมใส่ในการป้องกันตนเองระหว่างการทำความสะอาดบ้านหรือกำจัดเชื้อรา เช่น การสวมหน้ากากชนิด N95 หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดหายใจ เอาสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย และควรสวมถุงมือและแว่นตาป้องกันการสัมผัสเชื้อราโดยตรง
- เปิดช่องทางระบายอากาศ หรือใช้พัดลมดูดอากาศเพื่อลดความชื้นในห้องต่างๆ ของบ้าน
ที่มา : matichon, gedgoodlife, AnamaiMedia
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เชื้อรา อากาศร้อน ระวังโรคผิวหนังจากเชื้อราในเด็ก
เคล็ดลับจัดการ “ฝุ่น”…ภัยร้ายตัวจิ๋วรอบตัวลูก
สกัดจุด…หยุดเชื้อราตัวร้ายในห้องน้ำ เพื่อสุขภาพของลูกรัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!