เจ็บหัวนม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บจนท้อ แทบจะไม่อยากให้ลูกดูดนมต่อแล้ว แต่ด้วยความรัก ก็ต้องทนให้ลูกดูดนมอยู่ต่อไป แต่ทุกปัญหา ย่อมมีทางแก้ไขเสมอ ดังนั้นวันนี้ theAsianparent Thailand จะพาคุณแม่มาดูสาเหตุกันก่อนว่าที่เจ็บหัวนมระหว่างให้นมลูกนั้น เป็นเพราะอะไร และมีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันครับ
เจ็บหัวนม เกิดจากอะไร
เจ็บหัวนมอาจเกิดได้หลายสาเหตุ แต่ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เจ็บหัวนมตอนให้นมลูก มีดังนี้
1. ให้นมผิดท่า
สาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของหัวนมเจ็บ เกิดจากการจัดท่าให้นมไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกอมไม่ลึกถึงลานนม ริมฝีปากจึงไม่บานพอที่จะครอบเต้านม ซึ่งตอนที่คุณแม่ให้นมลูกนั้น คุณแม่ควรอุ้มลูกให้หัวของลูกอยู่ในระดับเดียวกับหน้าอกของคุณแม่ เพราะหากลูกน้อยอยู่ในท่าที่หัวอยู่ต่ำกว่าหน้าอก ก็อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บหัวนมจากการที่ลูกต้องดูดหัวนมแล้วดึงลงมาด้านล่างนั่นเอง
คุณแม่อาจจะหาหมอนมาหนุนรองเพื่อให้ลูกอยู่ในระดับที่สามารถดูดนมได้ถนัด อีกทั้งคุณแม่ยังสามารถใช้นิ้วกดคางของลูกลงมาเบา ๆ เพื่อที่จะให้ลูกอ้าปากดูดนมได้กว้างขึ้น ที่สำคัญควรให้ลูกงับถึงลานนมด้วยนะครับ
2. หัวนมเปียก
หากหัวนมคุณแม่เปียกแฉะตลอดเวลา อาจเพราะไม่ได้เปลี่ยนแผ่นรองซับหรือเสื้อชั้นใน ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ ซึ่งก็จะทำให้เจ็บหัวนมได้อีกเช่นกัน
3. ลิ้นติด
เด็กที่มีปัญหาลิ้นติดจะมีปัญหาในการดูดนม เช่น ดูดนมได้ไม่ดี อมหัวนมแล้วมักหลุด จนเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บหัวนมหรืออาจทำให้หัวนมเป็นแผลได้ นอกจากนี้แล้ว สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้เจ็บหัวนมตอนให้นมลูก ได้แก่
- เต้านมคัด ลานนมแข็ง ลูกดูดนมแล้วไม่มีน้ำนมออก
- หัวนมแห้งแตก
- ใช้เครื่องปั๊มนมที่มีความแรงเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บหัวนมและคันหัวนม บอกสัญญาณของโรคอะไร
วิธีแก้ไขอาการเจ็บหัวนม
เมื่อทราบแล้วว่าอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เจ็บหัวนม ก็สามารถหาทางแก้ไขตามจุดได้เลยครับ โดยวิธีแก้ไขปัญหาเจ็บหัวนมตอนให้นมลูกนั้น คุณแม่สามารถทำได้ตามนี้เลยครับ
1. นำลูกเข้าเต้าให้ถูกวิธี
วิธีนำลูกเข้าเต้าที่ทำให้เจ็บหัวนม และลูกได้น้ำนมดี ทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้มือประคองเต้านม ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรทำท่าแบบคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)
- อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอ และท้ายทอย แต่อย่ากดที่ใบหูลูกนะครับ ให้ลูกเงยหน้าเล็กน้อย แล้วเคลื่อนลูกเข้ามาโดยให้คางของลูกชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่) แล้วลูกก็จะเริ่มอ้าปาก แต่ถ้าลูกไม่อ้าปาก ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก
- ไม่โน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก แต่รอจนลูกอ้าปากกว้าง (เหมือนตอนหาว) จึงเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลก่อนลูกจะเริ่มหุบปากลง
- ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
2. ทำความสะอาดหัวนมให้ถูกวิธี
คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกตินะครับ ได้ไม่จำเป็นต้องฟอกสบู่ที่หัวนมบ่อย เพราะจะทำให้หัวนมแห้ง และแตกได้ และให้ใช้สำลีชุบน้ำธรรมดาเช็ดก่อนที่จะให้ลูกดูด และควรเปลี่ยนเสื้อชั้นใน และคอยดูแลเปลี่ยนผ้าซับน้ำนม อย่าให้หัวนมชื้นแฉะ หากมีอาการหัวนมแตก ก็สามารถบีบน้ำนมมาทาบริเวณหัวนม แล้วผึ่งให้แห้งได้
3. ตัดพังผืดใต้ลิ้นตั้งแต่เล็ก ๆ
หากลูกมีปัญหาลิ้นติด หรือมีพังผืดใต้ลิ้น การตัดพังผืดใต้ลิ้นตั้งแต่เล็ก ๆ จะทำให้ลูกไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องงดนม และหลังผ่าตัดก็กลับบ้านได้ทันที ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกดูดนมแม่ได้เป็นปกติแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาการพูดไม่ชัดเมื่อโตขึ้นด้วย
4. บีบน้ำนมด้วยมือ
หากใช้เครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูดแรงมาก จนทำให้เจ็บหัวนม หรือหัวนมแตก ให้ใช้วิธีการบีบน้ำนมด้วยมือแทน ก็จะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการใช้เครื่องปั๊มนมได้
5. นวดลานหัวนม
คุณแม่อาจจะลองนวดลานหัวนมให้นิ่มก่อนให้ลูกดูดนม หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ แล้วนวดเต้าเบา ๆ ให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา แล้วค่อยให้ลูกดูดต่อ ก็จะคลายความเจ็บตึงได้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคดูดนมจากเต้า ที่ถูกต้องไม่เจ็บหัวนม มีเทคนิคแบบไหนบ้าง
เจ็บหัวนมแบบนี้ จะให้นมลูกต่อได้ไหม
หากคุณแม่มีอาการเจ็บหัวนมไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ลูกงดดูดนมนะครับ นอกเสียจากว่าเจ็บจนทนไม่ไหวจริง ๆ โดยเริ่มให้นมจากเต้าที่เจ็บน้อยก่อน และให้ลูกเข้าเต้าตามวิธีที่ได้แนะนำไปข้างต้น หลังให้นมแล้ว ก็เอาน้ำนมคุณแม่ทาที่หัวนมสักหน่อย แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง หรือคุณแม่ควรใช้ ครีมทาบำรุงหัวนม เพื่อบรรเทาความเจ็บ และอักเสบจากอาการหัวนมแตก
แต่ถ้าคุณแม่เจ็บหัวนมมากจนทนไม่ไหวแล้ว ก็อาจจะต้องพักเต้านม แล้วปั๊มนม หรือบีบด้วยมือแล้วป้อนลูกแทนไปก่อน รอจนหายเจ็บค่อยให้นมลูกจากเต้าตามเดิม หรือหากเจ็บมากจริง ๆ ก็อาจจะใช้แผ่นป้องกันหัวนม หรือ Nipple shield ในช่วงเป็นแผลก็พอได้ แต่อาจทำให้การสร้างน้ำนมลดลงได้
เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนต่างก็อยากจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับคุณแม่บางคนก็อาจจะต้องเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ ระหว่างที่ให้นมลูก โดยเฉพาะอาการเจ็บหัวนม สามารถนำวิธีการข้างต้นไปบรรเทาอาการกันได้นะครับ รับรองว่าการให้นมลูกจะไม่ยากอีกต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?
ไวท์ดอท เรื่องที่ทำแม่ให้นมต้องนอนร้องไห้ เช็คหัวนมด่วน มีจุดขาวไหม
น้ำนมแม่ไม่ไหล ท่อนมอุดตัน เต้าคัด ปั๊มไม่ออก เกิดจากสาเหตุอะไร ต้องแก้ยังไง
ที่มา : breastfeedingusa