อาการผิดปกติของอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอดไม่เปิด เยื่อพรหมจารียื่นออกจากช่องคลอด อวัยวะเพศบวมหลังคลอด จิมิโผล่ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หากลูกสาวมีอาการเหล่านี้ควรทำอย่างไร ไขข้อข้องใจที่นี่
1. ช่องคลอดไม่เปิดในเด็ก (Labial adhesions)
นายแพทย์ นพพร ศรีทิพโพธิ์ กุมารศัลยแพทย์ ให้ความเห็นว่า ช่องคลอดไม่เปิด เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในเด็กเพศหญิงอายุ 3 เดือน – 6 ปี ที่มีเยื่อพังผืดยึดติดระหว่างแคมนอกสองด้าน ทำให้ช่องคลอดปิด หรือ ไม่มีช่องคลอด ส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ ผู้ปกครองตรวจพบโดยบังเอิญขณะทำความสะอาดร่างกาย
ในรายที่มีการติดกันโดยตลอดบดบังรูเปิดท่อปัสสาวะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก รวมทั้งการอักเสบของเนื้อเยื่อปากช่องคลอดและช่องคลอดได้
ทำอย่างไรเมื่อ ช่องคลอดไม่เปิด
นายแพทย์ สนทิศ สุทธิจำรูญ สูตินรีแพทย์ อธิบายว่า ในรายที่แคมติดกันแต่ยังเห็นรูเปิดท่อปัสสาวะ ไม่ขัดขวางการไหลของปัสสาวะ ไม่มีช่องคลอดอักเสบ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากแคมที่ติดกันจะแยกออกได้เองเมื่ออายุย่างเข้าวัยรุ่นสาวซึ่งมีการสร้างเอสโตรเจนขึ้น ไม่จำเป็นต้องแยกด้วยมือหรือตัดส่วนที่ติดกันเพราะทำให้เจ็บ เกิดแผลได้และกลับเป็นซ้ำได้ง่าย
คุณหมออาจให้ยา 0.1% dienestrol cream หรือทา conjugated estrogen cream มาทาทุกวันก่อนนอน แคมที่ติดกันจะแยกออกภายใน 14 วัน การรักษาแบบนี้พบว่าได้ผลดี นอกจากรายที่มีการอักเสบของปากช่องคลอดอาจทำให้เกิดแคมติดกันซ้ำในภายหลังได้อีก
2. เยื่อพรหมจารียื่นออกจากช่องคลอด (Hymenal tag)
เยื่อพรหมจารีในทารกแรกเกิดอาจบวมเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผ่านจากแม่ ทำให้ติ่งเนื้อเยื่อสีชมพูเล็กๆ นี้ยื่นออกมาจากผนังช่องคลอด โดยเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 10 ของทารกแรกเกิดเพศหญิง
ทำอย่างไรเมื่อ เยื่อพรหมจารียื่นออกจากช่องคลอด
ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตราย และจะหายไปเองประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางครั้งก็อาจใช้เวลานานกว่านี้ คุณแม่อาจไม่สบายใจ แต่ขอให้อดทน ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรักษา
อาการผิดปกติของอวัยวะเพศหญิง
3. อวัยวะเพศบวมหลังคลอด (Swollen genitals after birth)
เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับอวัยวะเพศของทารกแรกเกิดทั้งชายและหญิงที่จะบวมและแดงหลังการคลอด เนื่องจากการรวมกันของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้ง บาดแผลที่เกิดจากการคลอด และฮอร์โมนที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูก
ทารกแรกเกิดยังได้รับของเหลวจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการบวมในบางจุด เช่น รอบอวัยวะเพศและใบหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทารกเพศหญิงบางครั้งอาจมีตกขาวหรือเลือดออกทางช่องคลอดซึ่งมักจะหายไปในเวลาเพียงไม่กี่วัน
ทำอย่างไรเมื่อ ลูกน้อยอวัยวะเพศบวมหลังคลอด
ไม่จำเป็นต้องทำอะไร อวัยวะเพศบวมเป็นเรื่องปกติในทารกแรกเกิด เด็กแรกเกิดทั้งหมดจะได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดหลังคลอด รวมถึงการตรวจประเมินความผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศด้วย
4. ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ Urinary tract infection (UTI)
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หมายถึงการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ไต หรือท่อปัสสาวะ เป็นเรื่องธรรมดามากในทารกทั้งหญิงและชาย รวมถึงเด็กเล็กที่ยังสวมใส่ผ้าอ้อม
โดยส่วนใหญ่แล้วแบคทีเรียจากลำไส้หรืออุจจาระจะเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะและทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้ลูกน้อยรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ และมักจะเป็นไข้ไปพร้อม ๆ กัน แต่บางครั้งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะก็ไม่มีอาการใด ๆ ที่เห็นได้ชัด
ทำอย่างไรเมื่อ ลูกน้อยติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสามารถรักษาได้โดยยาปฏิชีวนะ หากลูกน้อยมีการติดเชื้อซ้ำอีก อาจต้องทำการอัลตร้าซาวนด์ไต หรือกระเพาะปัสสาวะ หรือบางกรณีคุณหมออาจจำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติมโดยการฉีดสีเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านทางสายสวน
หากคุณแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของจิ๊มิลูกน้อย ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อความมั่นใจ และรับคำแนะนำในการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีขึ้นอยู่กับอาการของเด็กด้วย
ที่มา www.kidspot.com.au, https://ped-surg.blogspot.com/ www.healthcarethai.com
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
วิธีทำความสะอาดอวัยวะเพศหญิง (จิ๊มิลูกสาว)
ขั้นตอนการอาบน้ำทารก ที่คุณแม่ทำเองได้ไม่ยาก
จุ๊ดจู๋ลูกชาย ทำความสะอาดอย่างไร ให้ถูกวิธี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!