สารพันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนมแม่ (ภาค 1 นมแม่กับทารก)
บทความนี้ได้รวบรวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับนมแม่ ในแง่มุมต่าง ๆ ที่คุณแม่อยากรู้ ติดตามอ่านค่ะ
1. ระยะของน้ำนมแม่
น้ำนมแม่ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
– ระยะหัวน้ำนม (Colostrum) หัวน้ำนมนี้จะหลั่งออกมาช่วงแรกหลังคลอดคะ
– ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional milk) หลั่งช่วง 1 – 2 สัปดาห์หลังคลอด
– ระยะน้ำนมแม่ (Mature milk) น้ำนมในช่วงวันที่ 10 หลังคลอด
ระยะหัวน้ำนม (Colostrum)
เป็นระยะที่หัวน้ำนมแม่หลั่งออกวันแรก ๆ หลังคลอด มีสีเหลืองและข้นกว่าปกติ ปริมาณน้อย แต่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยให้ลูกได้รับภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ดังนี้
– Secretary IgA ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันปริมาณสูง ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อในลำไส้ของทารกแรกเกิด
– สารควบคุมการเจริญเติบโต (Growth Factor) มีประโยชน์มากกว่าน้ำนมในระยะหลังถึง 5 เท่า ควบคุมการเจริญเติบโตและสร้างความแข็งแรงให้เยื่อบุทางเดินอาหาร
– มีวิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินอี สูงกว่าน้ำนมแม่ปกติ 2 – 3 เท่า
– มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ทำให้ขี้เทาถูกขับถ่ายสะดวก ลดปัญหาทารกตัวเหลือง
ระยะน้ำนมแม่ (Mature milk)
คือ น้ำนมที่หลั่งออกมาประมาณวันที่ 10 หลังคลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของการให้นมแม่
– ช่วยในเรื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เช่น อิมมูโนโกบูลิน และเม็ดเลือดขาว ช่วยต่อต้านเชื้อโรค
– กรดไขมันบำรุงสมองและสายตาเช่น DHA และทอรีน (Taurine) ช่วยเสริมสร้างการทำงานของจอประสาทตา ระบบประสาท และการดูดซึมไขมัน และมีผลต่อการเจริญเติบโตของระบบทางเดินอาหารและผนังลำไส้ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองและระบบประสาท
– มีสารช่วยในการทำงานของระบบการย่อยและฮอร์โมนต่าง ๆ ป้องกันการเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ในนมแม่ยังมีสารอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน และสารอาหารกลุ่มที่ไม่ให้พลังงาน ได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม สารที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องร่างกายเป็นสารที่มีเฉพาะในนมแม่ที่มีความแตกต่างจากสารอาหารทั่วไป ดังนั้น นมแม่จึงมีประโยชน์มหาศาลแก่ลูกน้อยจริง ๆค่ะ
2. ประโยชน์ของนมแม่
1. สร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น โรคหวัด โรคปอดบวม โรคระบบทางเดินอาหาร ทารกที่ทานนมแม่มักจะไม่ค่อยท้องเสีย ยิ่งในน้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนมจะมีภูมิต้านทานโรค นมแม่จึงเปรียบเสมือนวัคซีนคุ้มกันโรคชนิดแรกที่แม่มอบให้แก่ทารก
2. มีสารอาหารครบถ้วน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก โดยเฉพาะโปรตีนที่ย่อยง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที
3. สะอาด ปราศจากโรคและสิ่งเจือปน
4. มีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตและทำให้ลูกมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
5. ทารกน้อยมีสุขภาพจิตดี เพราะขณะที่เจ้าหนูดูดนมแม่นั้นจะได้รับความอบอุ่นทั้งทางกายและใจ ได้สัมผัสร่างกายแม่ใกล้ชิด
3. การให้นมแม่อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
ดูดเร็ว
การดูดนมก็คือการกระตุ้นร่างกายให้ผลิตน้ำนม เพราะฉะนั้นยิ่งลูกได้ดูดนมแม่เร็วเท่าไหร่ นมแม่ก็มาเร็วเท่านั้น ทันทีที่แม่พร้อมภายหลังคลอด หรือทันทีที่ได้อยู่กับลูก ควรเริ่มให้ดูดนมทันที แม้ในขณะนั้นคุณแม่จะยังไม่มีน้ำนมก็ตาม
ดูดบ่อย
หลังคลอดแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ และได้ดูดน้ำนมเหลืองด้วยในทันทีที่น้ำนมไหล การดูดนมแม่บ่อย ๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากพอสำหรับความต้องการของลูกน้อยในแต่ละวัน
ดูดถูกวิธี
การดูดที่ถูกท่า ถูกวิธีจะช่วยให้ลูกดูดนมได้อย่างสบายเต็มที่ และกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมได้อย่างดี คุณแม่ควรอยู่ในท่าที่สบาย คือ นั่งบนเตียงเอน ๆ หรือตะแคงข้าง มีหมอนรองรับหลังและศีรษะ อุ้มลูกในท่ากระชับในอ้อมแขน ใกล้อก เต้านมอยู่ในระดับแก้มลูก มือของแม่อีกข้างประคองเต้านม เอาหัวนมแตะที่ริมฝีปากล่างของลูก ลูกจะอ้าปากงับหัวนม ประคองศีรษะลูกให้งับถึงลานหัวนม หรือบริเวณที่เป็นสีน้ำตาลรอบหัวนมจนมิด เวลาที่ลูกดูดจะกดบนลานหัวนม ซึ่งมีน้ำนมอยู่ภายในและลิ้นจะรีดน้ำนมออกมา
4. วิธีการให้นม
1. ก่อนและหลังให้นมทารกทุกครั้ง ควรทำความสะอาดหัวนมโดยการล้างมือให้สะอาดและเช็ดหัวนมด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก
2. ทั้งคุณแม่และทารกควรอยู่ในท่าที่สบาย เช่น คุณแม่นอนตะแคง ศีรษะและหลังควรมีหมอนรองรับ ทารกก็ควรนอนตะแคงเช่นกัน หันหน้าเข้าหาแม่ หากคุณแม่นั่งก็ควรเป็นเก้าอี้ที่สบาย มีหมอนหนุนหลัง ลูกอยู่ในอ้อมแขนของแม่ เมื่ออยู่ในท่าที่สบาย คือ แขนของแม่องรับศีรษะและต้นคอของลูก ส่วนมือก็รองรับลำตัวเด็กโดยให้ลูกอยู่ในท่านอนตะแคงเข้าหาเต้านม ตัวทารกจะโค้งเล็กน้อย ศีรษะจะก้มลงเล็กน้อย เพื่อให้กล้ามเนื้อในการกลืนหย่อนตัว ลูกจะดูดกลืนได้ง่ายขึ้น ปากของลูกจะอยู่ระดับเดียวกับหัวนมของแม่
3. คุณแม่ใช้มือพยุงเต้านมโดยให้หัวแม่มืออยู่ด้านบนของเต้านมเหนือบริเวณลานนมและอีก 4 นิ้ว ประคองบริเวณเต้านมด้านล่างและให้หัวนมแตะริมฝีปากเด็กเบาๆ เพื่อให้ลูกอ้าปาก แม่สอดหัวนมเข้าปากลูกให้ถึงลานนม หัวนมจะยื่นเข้าไปอยู่ในอุ้งลิ้น และถูกดึงขึ้นไปแนบเพดาน ลิ้นของลูกจะไล้ใต้ลานนมและหัวนมทำให้น้ำนมไหลออกมา การดูดแบบนี้จะทำให้น้ำนมออกดีกว่าดูดเฉพาะบริเวณหัวนมอย่างเดียว เด็กอาจจะกัดหัวนมแตก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบได้
4. คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมทั้งสองข้างสลับกัน ในระยะแรกให้ดูดข้างละ 2 – 5 นาที ต่อให้ดูดข้างละ 10 – 15 นาที ไม่ควรเกิน 20 นาที และควรให้นมลูกเร็วที่สุดหลังคลอด เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมได้เร็ว ควรให้นมห่างกันข้างละ 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำนมมาเร็วและมีปริมาณเพียงพอ
5. เมื่อทารกอิ่มแล้วก่อนจะดึงหัวนมออกให้คุณแม่กดคางทารกเบาๆ หรือใช้นิ้วก้อยใส่มุมปากเด็กและกดเบาๆ เพื่อให้เด็กปล่อยหัวนมออก หลังจากนั้นให้จับลูกเรอทุกครั้งเพื่อไล่ลมที่ลูกดูดเข้าไป และทำความสะอาดหัวนมแม่ทุกครั้งหลังจากให้นมเรียบร้อยแล้ว
5. อะไรที่ทำให้นมแม่ไม่เพียงพอ
การดูดนมของทากรเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนม หากลูกไม่ดูดหรือปั๊มนมบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง ดังนั้น คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนม โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกหลังทารกคลอด เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการกระตุ้นน้ำนม
นอกจากนี้ สภาพจิตใจของคุณแม่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนม ความเครียดหรือกังวล ทำให้ยับยั้งการไหลของน้ำนม อีกปัจจัยหนึ่งคือ คุณแม่ที่มีน้ำหนักมากจะหลั่งน้ำนมหลังคลอดได้ช้ากว่าคุณแม่ที่มีน้ำหนักปกติ
6. เทคนิคกระตุ้นน้ำนมให้น้ำนมไหลมาเทมา
1. คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอและพยายามจิบน้ำอุ่นตลอดทั้งวัน ที่สำคัญควรทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียดหรือกังวล ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายบ้าง สวมเสื้อผ้าที่สบายและให้ผิวหนังผ่อนคลาย
2. ก่อนให้ลูกดูดนม ดื่มน้ำอุ่นจัดสักแก้ว โดยเฉพาะก่อนบีบน้ำนมจะช่วยให้ระบบการไหลเวียนของน้ำนมดีขึ้น
3. ก่อนบีบน้ำนมคุณแม่ควรหามุมสงบ ๆ บรรยากาศสดชื่นและนั่งในท่าที่คุณแม่คิดว่าสบายที่สุด หาหมอนใบเล็ก ๆ มารองขาไว้ด้วยก็ดีนะคะ นั่งในท่าทางที่ถนัด สบาย ทำให้ร่างกายผ่อนคลายจะช่วยให้บีบน้ำนมได้มาก
4. เมื่อได้มุมที่สงบแล้ว หาผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ สักผืนชุบน้ำอุ่น หรือนึ่งไอน้ำมาวางบริเวณเต้านม พร้อมกับนวดคลึงเต้านมประมาณ 2 นาที ก่อนบีบน้ำนม
5. การกระนวดกระตุ้นเพื่อบีบน้ำนม หลังจากกระตุ้นแล้วควรบีบน้ำนมทีละครึ่งเต้าสลับข้างไปมาข้างละ 3 – 5 นาที ทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง
คำแนะนำคุณแม่เพื่อให้มีน้ำนมคุณภาพ
ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายขณะที่ให้นมลูก ไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ ตลอดวัน โดยเฉพาะในช่วงก่อนให้นมหรือปั๊มนม เพื่อช่วยเพิ่มและกระตุ้นน้ำนม ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าสม่ำเสมอ เพื่อจะได้กระตุ้นปริมาณน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอ
อ่าน สารพันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนมแม่ (ภาค 2 แม่ให้นมก็สวยปิ๊งได้!!!) คลิกหน้าถัดไป
สารพันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนมแม่ (ภาค 2 แม่ให้นมก็สวยปิ๊งได้!!!)
ภาค 2 นี้อยากชวนคุณแม่มาปลุกเร้าความสาว ความสวย และเซ็กซี่ ตามแบบฉบับแม่ให้นม มาดูกันค่ะว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
1. อาหาร
คุณแม่ให้นมถ้าอยากสวยต้องดื่มน้ำมาก ๆ นะคะ วันละ 3 ลิตรเป็นอย่างน้อย ไม่ต้องร้องโอ้โห!!!ค่ะ คุณแม่สามารถ คุณแม่ทำได้อยู่แล้ว การดื่มน้ำมาก ๆ ดีทั้งต่อลูกและตัวคุณเองนะคะ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดชื่น สดใส ส่วนอาหารอื่น ๆ เดินทางสายกลาง รับประทานให้ครบ 5 หมู่ และให้ปริมาณมากกว่าปกติ 1 เท่าครึ่ง เพราะร่ากายต้องการพลังงานมาผลิตน้ำนม และถ้ารู้สึกน้ำนมน้อยลงให้เพิ่มการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนให้มากขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ งานนี้ไม่ต้องกลัวอ้วนค่ะ เพราะการให้นมแม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 1,000 กิโลแคลอรีทีเดียวนะคะ
บทความแนะนำ คุณแม่มีโภชนาการดี…น้ำนมให้ลูกย่อมมีคุณภาพ
2. การแต่งตัว
ควรเป็นเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับบุคลิกของคุณแม่ ใส่แล้วรู้สึกมั่นใจ อย่าเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวเพราะต้องให้นมลูก เพราะปัจจุบันนี้เสื้อให้นมลูกมีหลากหลายสไตล์ แฟชั่นล้ำ ๆ มีให้เลือกค่ะ สำหรับเสื้อให้นม หลักการโดยทั่วไปควรเป็นเสื้อที่มีผ้ายืดหลวม ๆ สักหน่อย เพราะเวลาเปิดให้นมลูกจะได้ไม่ขัดเขิน อาจเพิ่มความเก๋ไก๋ด้วยผ้าคลุมไหล่ และควรใช้เสื้อที่มีลวดลาย สีสัน เพราะช่วยพรางสายตาเวลาให้นมได้ อีกทั้งเวลาที่นมเปื้อนเสื้อจะได้มองเห็นไม่ชัด แต่ให้ดีอย่าลืมใส่แผ่นซับน้ำนมด้วยนะคะ
Tip : เพิ่มความเซ็กซี่
ในช่วงให้นมคุณแม่จะมีน้ำมีนวลมากขึ้น โอกาสนี้แหละค่ะ คุณแม่ลองหาเสื้อที่คอลึกมาใส่ จะช่วยเพิ่มความเซ็กซี่และรู้สึกดี ๆ กับตัวเองและคุณพ่อด้วยนะ ส่วนจะเป็นกระโปรงหรือกางเกงตามสะดวกเลยค่ะ
3. เสื้อชั้นใน
ควรใส่เสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูกเท่านั้นนะคะ ถ้าหากชอบแบบที่มีโครงเหล็กก็ควรจัดเต้านมให้เข้าที่เข้าทาง ขณะสวมจะได้ไม่ถูกกดทับ อาจทำให้เต้านมอักเสบได้
Tip : การสวมใส่เสื้อชั้นในอย่างถูกวิธี
คุณแม่ต้องก้มตัวไปข้างหน้าแล้วสวมบรา เกี่ยวตะขอให้เรียบร้อย แล้วค่อยยืดตัวตรงตามปกติ เพราะการสวมเสื้อชั้นในขณะที่ก้มลงนั้นทรวงอกจะคล้อยมารับกับเต้าเสื้อในพอดี วิธีนี้จะช่วยประคองทรวงอกให้เข้ารูปได้
4. รองเท้า
คุณแม่หลังคลอดแนะนำให้ใส่รองเท้าส้นเตี้ย แต่ไม่ควรใช้ส้นแบนนะคะจะทำให้เมื่อยเท้า หรือจะใส่ผ้าใบก็ได้ เก๋ไก๋เข้ากับแฟชั่นดีนะคะ
5. กระเป๋า
นอกจากกระเป๋าใส่สัมภาระลูก มาดูกันว่าจะมีกระเป๋าแบบไหนแทนได้ คุณแม่ควรเลือกกระเป๋าที่มีฐานกว้างเพื่อให้บรรจุสิ่งของได้มาก ๆ จะใช้แบบสะพายข้าง สะพายหน้า สะพายหลัง ตามสะดวกเลยค่ะ จัดเตรียมทุกอย่างสำหรับเจ้าหนูไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูป แผ่นซับน้ำนม กระดาษชำระทั้งแบบแห้งและแบบเปียก ผ้ากันเปื้อน ของเล่นของลูก หนังสือเล่มโปรดของคุณแม่ แว่นกันแดด ฯลฯ แล้วให้คงทุกอย่างไว้แบบนี้ จะหยิบอะไรออกไปก็ควรนำกลับมาทุกครั้งไม่ควรรื้อเข้ารื้อออกบ่อย ๆ ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่นี้ไปไหนก็มั่นใจ มีของใช้ครบแล้ว
6. เทคนิคแต่งหน้าสวยให้คุณแม่
หากคุณแม่กำลังมองหาสไตล์การแต่งหน้าที่สวยดูดีเป็นธรรมชาติ ใช้ 4 วิธีนี้รับรองสวยปิ๊งแน่ค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมผิวด้วยการทาครีมบำรุงให้เหมาะกับสภาพผิว รองพื้นให้เรียบเนียน หลังจากนั้นปัดแป้งฝุ่นทับอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 2 ใช้อายแชโดว์สีน้ำตาลอ่อนไล้บนเปลือกตาด้านบนให้ทั่ว ตกแต่งคิ้วด้วยอายแชโดว์สีน้ำตาล
ขั้นตอนที่ 3 ปัดแก้มด้วยบรัชออนน์สีชมพูอมส้ม
ขั้นตอนที่ 4 ทาปากสีชมพูแล้วตามด้วยลิปกลอสเพิ่มความชุ่มชื้น เป็นอันเสร็จขั้นตอนสวยใสเป็นธรรมชาติ ฉบับคุณแม่หลังคลอดค่ะ
บทความแนะนำ 11 เทคนิคแต่งหน้า เปลี่ยนหน้าโทรมเป็นหน้าสวยสดใส
7. ผมสวย
1. สระผมบ่อย ๆ ด้วยแชมพูที่เหมาะสมกับสภาพผม
2. เล็มปลายผมออกเป็นประจำ หรือทุก 4 – 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแตกปลาย
3. แปรงผมให้ทั่วศีรษะเพื่อกระจายน้ำมันหล่อเลี้ยงผม
4. อย่ารวบ หรือทำผมให้ตึงหรือรั้งรากผมมากเกินไปเพราะจะทำให้ผมร่วงได้
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ นมสด เพราะอุดมไปด้วยซิลิกา เหล็ก ซัลเฟอร์ สังกะสีและวิตามินบี
บทความแนะนำ เลอค่า! วิธีไดร์ผมเริ่ด ๆ ให้ได้ทรงสวย (มีคลิป)
ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับสารพันความรู้เกี่ยวกับนมแม่ ทั้งต่อทารกและคุณแม่เองแล้วนะคะ อย่ารอช้ามาปฏิบัติตามกันเลยค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
เอกสารเผยแพร่ Healthy Society โรงพยาบาลไทยนครินทร์
เอกสารเผยแพร่ เจ้าตัวน้อย โรงพยาบาลเปาโล เมมโมเรียล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
9 ปัญหายอดนิยม กับทางแก้ของแม่ให้นม
10 เรื่องหลากรสของแม่ให้นมเท่านั้นที่จะเข้าใจ