เมื่อใดก็ตามที่อายุครรภ์ของคุณแม่ครบ 40 สัปดาห์แล้วยังไม่รู้สึกเจ็บท้องแต่อย่างใด คุณหมอจะทำการพิจารณาและปรึกษากับคุณแม่ถึงวิธีการเร่งคลอด ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการคำนึงถึงสุขภาพของทารกเป็นหลัก เพราะถ้าขืนปล่อยเอาไว้นานกว่านี้ ทารกในครรภ์ก็อาจที่จะเสียชีวิตได้
การเร่งคลอด คืออะไร ทำไมต้องทำ ตรวจภายในก่อนคลอดยังไง
การเร่งคลอดคืออะไร?
การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งการคลอดหรือการยุติการตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลดีมากกว่าให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่ไม่สามารถรอธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้เจ็บครรภ์คลอดได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องให้มีการเร่งคลอดเกิดขึ้นเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์เอาไว้
กรณีใดที่ควรเร่งคลอด
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ จัดได้ว่าเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมจนไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อีกต่อไป จึงอาจทำให้ขาดออกซิเจนและอาหารได้
- คุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลเกรงว่าอาจจะไม่ทันกาล ซึ่งอาจทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้
- ทารกในครรภ์เติบโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์ คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า
- ความดันโลหิตสูง หรือ ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ เพราะเนื้อเยื่อรกบางส่วนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
- คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
- ภาวะน้ำคร่ำน้อย
- การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานเกินไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ เพราะอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้
วิธีการเร่งคลอดมีอะไรบ้าง หาคำตอบได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
วิธีการเร่งคลอดนั้นก็มีหลายวิธีค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
1. การกวาดปากมดลูก วิธีการนี้จะคล้าย ๆ กับการตรวจภายใน เพราะคุณหมอจะใช้นิ้วกวาดบริเวณปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้มีเจ็บท้องคลอด
2. การเจาะถุงน้ำคร่ำ วิธีการนี้คุณหมอจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีหน้าตาคล้ายกับเข็มถักโครเช เพื่อเจาะถุงน้ำคร่ำให้แตกเป็นการกระตุ้นคลอดทำให้มดลูกหดรัดตัว แต่วิธีนี้ก็ไม่ยืนยันว่าจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
3. การใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน วิธีการนี้คุณหมอจะใช้ฮอร์โมนในรูปของเจลหรือยา เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์โดยเหน็บช่องคลอดโดยสอดเข้าไปที่บริเวณคอมดลูกเพื่อกระตุ้นการเจ็บครรภ์
4. ยาเร่งคลอด วิธีการใช้ยาเร่งคลอดจะให้ผ่านสายน้ำเกลือ อาจกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกค่อนข้างแรง ดังนั้น คุณแม่จึงอาจต้องใช้การฉีดยาเข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลังเพื่อระงับความเจ็บปวดด้วย วิธีนี้มักจะใช้ร่วมกับการเจาะถุงน้ำคร่ำ
ซึ่งวิธีเร่งคลอดที่จัดได้ว่าเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยและได้ผลดีก็คือ การกวาดปากมดลูก นั่นเอง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า วิธีการนี้ คุณหมอจะทำโดยใช้นิ้วกวาดปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด การใช้วิธีนี้สามารถช่วยลดการตั้งครรภ์เกินกำหนด ลดการใช้ยาเร่งคลอด โดยไม่เพิ่มการติดเชื้อทั้งในคุณแม่และทารก และไม่เพิ่มโอกาสการผ่าคลอดแต่อย่างใด จากการศึกษาในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ พบว่าหลังการใช้วิธีนี้คุณแม่จำนวน 2 ใน 3 เกิดการเจ็บครรภ์คลอดตามมาภายใน 72 ชั่วโมง (ถ้าทำสำเร็จคุณแม่มักจะมีการเจ็บครรภ์คลอดภายใน 24-48 ชั่วโมง)
กรณีใดบ้างที่ไม่ควรเร่งคลอด อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะทำการเร่งคลอดได้นะคะ เพราะเมื่อถึงเวลา คุณหมอต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับทารกในครรภ์ และนี่คือข้อยกเว้นที่เรานำมาฝากกันค่ะ
กรณีใดบ้างที่ห้ามเร่งคลอด
- ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรงหรืออาจอยู่ในท่าที่ไม่สามารถเร่งคลอดได้ เช่น ทารกท่าก้น หรือท่าขวาง
- มีรกเกาะต่ำ เพราะรกจะไปกีดขวางการคลอดได้
- มีภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ
- มีภาวะสายสะดือย้อย
- คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป ในกรณีนี้คุณหมอจะไม่เร่งคลอดให้ เนื่องจากจะคลอดได้ยากและอาจทำให้ทารกบอบช้ำจากการเร่งคลอดได้
- คุณแม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรง ปากมดลูกขยายตัว และอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้
- คุณแม่เคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรงและกล้ามเนื้อบริเวณแผลเป็นไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งอาจจะทำให้แผลปริหรือแตกได้
- คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกจะทำให้มดลูกบาง ถ้าเร่งคลอดก็อาจทำให้แผลฉีกขาดได้
มาถึงตอนนี้คุณแม่อาจจะส่งสัยว่า แล้วหากได้รับการเร่งคลอดแล้ว จะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร วันนี้เราได้เตรียมคำแนะนำมาฝากกันด้วยนะคะ ซึ่งคุณแม่สามารถหาคำตอบได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ
การปฏิบัติตัวของคุณแม่เมื่อได้รับการเร่งคลอด
- เมื่อเข้านอนในโรงพยาบาลคุณแม่ควรที่จะพักผ่อนให้มาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะรับการเร่งคลอด
- ให้คุณแม่สังเกตการดิ้นของทารกให้ดีทั้งก่อนและหลังการเหน็บยาเร่งคลอด หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นให้รีบแจ้งพยาบาลทันที
- ให้คุณแม่สังเกตอาการน้ำเดิน ซึ่งน้ำเดินจะมีลักษณะคล้ายปัสสาวะที่จะไหลออกมาโดยไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ มีกลิ่นไม่ฉุน กลั้นไม่ได้ และจะไหลออกมามากขึ้นเมื่อลุกนั่ง ยืน เดิน หรือเมื่อไอและจาม ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบแจ้งพยาบาลทันทีอย่ารอช้า
- สังเกตมูกเลือดทางช่องคลอด ตามปกติแล้วภายหลังการตรวจภายในมักจะมีมูกเลือดออกมาบ้างแต่ไม่มากนัก โดยมักจะออกปนมากับตกขาว แต่หากออกมาเปื้อนกางเกงชั้นในเหมือนในวันที่มีประจำเดือนมาวันแรก ให้รีบแจ้งพยาบาลทันที
- สังเกตอาการเจ็บครรภ์ทั้งก่อนและหลังการเหน็บยาช่องคลอด ถ้าคุณแม่รู้สึกมีอาการเจ็บครรภ์ทุก ๆ 5 นาทีหรือน้อยกว่า ให้รีบแจ้งพยาบาลทันที (ในช่วงที่มีอาการเจ็บครรภ์ ให้คุณแม่สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ และค่อย ๆ เป่าออกมาทางปากอย่างช้า ๆ และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนอาการเจ็บครรภ์คลายลง จากนั้นให้ถอนหายใจ 1 ครั้ง และให้เริ่มทำใหม่อีกครั้งเมื่อเริ่มเจ็บครรภ์อีกครั้ง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมดลูกบีบตัวตอนที่คุณแม่เจ็บครรภ์ ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์จะมีน้อยลง)
ความแตกต่างระหว่างการคลอดธรรมชาติและวิธีเร่งคลอด
จริง ๆ แล้วความรู้สึกเจ็บครรภ์คลอดจากการเร่งคลอดไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากการคลอดเองตามธรรมชาติมากนัก เนื่องจาก
1. คุณแม่ยังสามารถควบคุมและกำหนดลมหายใจตามจังหวะการเบ่งคลอดได้ ทั้งยังเบ่งคลอดได้เต็มที่ แต่ถ้าคุณแม่เจ็บปวดมาก คุณหมออาจให้ฉีดยาชาที่ไขสันหลังหรือให้ยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
2. สำหรับการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่คุณแม่จะสามารถคลอดได้เอง เนื่องจากปากมดลูกมีความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยจะมีลักษณะนุ่มมาก เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ปากมดลูกก็จะเปิดขยายออกอย่างรวดเร็ว
3. ในขณะที่การเร่งคลอดถึงแม้จะกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวได้สม่ำเสมอก็จริง แต่บางครั้งปากมดลูกยังนุ่มไม่พอก็ไม่สามารถขยายตัวเปิดได้ตามปกติ จึงทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ โอกาสที่จะถูกผ่าคลอดตามมาจึงมีสูงกว่าคุณแม่ที่เจ็บครรภ์คลอดเองตามธรรมชาติ
ขอบคุณที่มา: Med Thai และ New Health Advisor
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!