วิธีเบ่งคลอดที่ถูกต้อง
วิธีเบ่งคลอดที่ถูกต้อง วิธีเบ่งคลอด ทำอย่างไร การฝึกหายใจ ทำยังไงให้มีลมเบ่งตลอด จนคลอดลูกออกมาได้ วิธีลดความเจ็บปวดขณะเบ่งคลอด แม่ต้องเบ่งอย่างไร หายใจแบบไหน มาไขคำตอบไปกับคุณหมอกันค่ะ
ใกล้วันคลอดเข้าไปทุกที แม่มือใหม่กลัวเหลือเกิน อยากคลอดง่าย หายใจไม่หมดลมเบ่ง
การคลอดธรรมชาติ
การเบ่งคลอดอันแสนเจ็บปวด เป็นภาพจำของหลาย ๆ คนจากละครไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นจริง และเป็นการแสดงตามบทบาทของตัวละครในเรื่อง การเบ่งคลอดเป็นเรื่องของการฝึกฝนร่วมด้วยกับสัญชาติญานของความเป็นแม่ก็มีส่วนช่วยให้เบ่งได้ด้วย ลองนึกภาพให้เทียบเคียงกับการถ่ายหนัก ว่าเราต้องฝึกเบ่งถ่ายหรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเบ่งถ่ายเราก็เบ่งได้เลยตามธรรมชาติ การเบ่งคลอดก็เช่นกัน
- ในครรภ์แรกคุณแม่ไม่เคยเบ่งคลอดมาก่อน แต่ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการสอนเบ่งในช่วงที่กำลังรอคลอดในห้องคลอด ก็สามารถเบ่งได้ถูกต้องและคลอดสำเร็จได้
- ประสบการณ์การเบ่งคลอดก็มีความสำคัญ หากเคยเบ่งคลอดมาก่อน มักจะเบ่งคลอดท้องที่ 2 ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ระยะเวลาเบ่งคลอดที่เหมาะสม
การเบ่งคลอดถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญ เป็นช่วงท้ายของการรอคลอด ที่ศีรษะเด็กจะเคลื่อนลงต่ำผ่านปากมดลูกที่เปิดหมดแล้วลงมารอในช่องคลอดส่วนล่างพร้อมที่จะคลอดต่อไป ระยะเวลาเบ่งในท้องแรกปกติไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมง และในท้องหลังไม่ควรนานเกิน 1 ชั่วโมง หากนานเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกได้และคุณแม่มักจะหมดแรงเบ่งนำไปสู่การช่วยคลอดด้วยวิธีอื่นต่อไป
วิธีเบ่งคลอดที่ถูกวิธี เบ่งคลอดอย่างไรให้ลูกคลอดง่าย ต้องหายใจแบบไหน ให้แม่มีลมเบ่งจนคลอดออกมา
วิธีเบ่งคลอดที่ถูก ต้องสูด-กลั้น-เบ่ง
- เมื่อคุณแม่เข้าสู่ระยะคลอดจะได้รับการสอนวิธีการเบ่งคลอด โดยสูดหายใจเข้าให้ลึกและกลั้นลมหายใจไว้แล้วค่อยเบ่งคลอดลงมาที่ก้นคล้ายเบ่งถ่ายหนักให้ยาวจนสุดลมหายใจออก พร้อมกับที่มดลูกหดรัดตัว
- ทั่วไปคุณแม่สามารถเบ่งได้ 2-3 ลมหายใจต่อการหดรัดตัวของมดลูกหนึ่งครั้ง การเบ่งนี้จะได้ผลดีมากขึ้นถ้ามีทีมช่วยเชียร์เบ่งคลอดให้จังหวะไปพร้อมกันด้วย (มักจะสอนว่า “สูด-กลั้น-เบ่ง”) การเบ่งคลอดจึงเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดลมหายใจและเบ่งคลอดให้ตรงกับจังหวะการหดรัดตัวของมดลูกนั่นเอง
ความเจ็บปวดจากการเบ่งคลอด
การเจ็บปวดขณะเบ่งคลอดนั้นสืบเนื่องมาจากการหดรัดตัวของมดลูกเป็นหลัก เมื่อใกล้คลอดจะมีการหดรัดตัวของมดลูกที่แรงขึ้น เป็นจังหวะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ศีรษะเด็กเคลื่อนลงต่ำ คุณแม่จะมีอาการปวดท้องเริ่มจากยอดมดลูกแล้วขยายบริเวณไปทั่วท้อง ปวดร้าวไปที่เอวพร้อมกับหน่วงลงก้นหรือช่องคลอดได้ ในช่วงเบ่งคลอดจริงคุณแม่มักจะไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวดเนื่องจากจะเพ่งเล็งไปที่จังหวะการเบ่งคลอดมากกว่า โดยจะมีความรู้สึกเหมือนอยากถ่ายหนัก
เมื่อเบ่งคลอดสำเร็จความเจ็บปวดทั้งหมดจะหายทันที ในช่วงที่รอคลอดให้ปากมดลูกเปิดหมดช่วงที่ยังไม่ได้เริ่มเบ่งคลอดจึงเป็นช่วงที่คุณแม่ได้รับความเจ็บปวดจากมดลูกหดรัดตัวแรง คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้หลายเทคนิค เช่น
- เป่าลมออกปาก
- ผ่อนลมหายใจออกให้ยาว
- นอนในท่าที่สบายตัว
- กรีดร้อง คราง คำราม
- ให้สามีหรือผู้อื่นช่วยบีบนวดบริเวณเอว
ไม่ควรเบ่งคลอดเร็วเกินไป
อาการเจ็บปวดนี้ เป็นไปตามวิธีธรรมชาติของการคลอดบุตร คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมห้องคลอดและสูติแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเริ่มเบ่งคลอดเร็วเกินไป อาจส่งผลให้ปากมดลูกบวมและเปิดขยายได้ช้าทำให้ดำเนินการคลอดช้าลง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเบ่งคลอด คุณแม่ที่เบ่งคลอดเหมือนกับการวิ่งมาราธอน จะวิ่งเร็วหรือช้าไม่สำคัญ ขอให้วิ่งไปข้างหน้าเรื่อย ๆ จนถึงเส้นชัยก็ถือเป็นผู้ชนะ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง เชื่อฟังโค้ช กำหนดเป้าหมายที่จะไปให้ถึง
ท้ายนี้ขอให้กำลังใจคุณแม่ทุกท่านที่จะเตรียมคลอดบุตรเอง ท่านจะได้รับรู้ทั้งความทุกข์กาย แต่สุขใจ และท่านจะระลึกถึงคุณแม่ของท่านที่เคยผ่านเหตุการณ์สำคัญนี้มาก่อนที่คลอดท่านนั่นเอง
ขอบคุณภาพจากละครบุพเพสันนิวาส
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กินยาอย่างไรไตไม่พัง เรามาดูแลไตของเรากันเถอะ
จำเป็นไหม แม่ต้องโกนขนก่อนคลอดลูก?
ยาอันตรายห้ามใช้กับคนท้อง แม่ท้องต้องรู้ 11 ยาอันตรายอาจทำให้ลูกในครรภ์พิการได้
ตารางระดับ hCG แม่ตั้งครรภ์ อายุครรภ์แต่ละสัปดาห์ ควรมีค่าฮอร์โมน hCG เท่าไหร่ถึงถือว่าปกติ