แม่ ๆ มักคิดว่า อาการปวดหลังและความเจ็บปวดทั้งหลายจากการตั้งครรภ์ จะหายไปทันทีราวกับร่ายมนตร์วิเศษหลังจากคลอด ทว่าจริง ๆ แล้ว ร่างกายแม่หลังคลอดยังคงมีอาการปวดหลังได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการตั้งครรภ์ การคลอดและอื่น ๆ วันนี้เราจะพามาดูกันว่า คลอดแล้วยังปวดหลังอยู่ทำไง อาการหลังคลอดแบบนี้อันตรายหรือเปล่า ทำไมไม่หายปวดหลังสักที เรามาดูกันค่ะ
สาเหตุที่แม่หลังคลอดยังปวดหลังไม่หายสักที
อาการปวดเมื่อยหลังคลอด ที่กินเวลายาวนาน ไม่ยอมหายสักที แม่ ๆ หลายคน คงมีวิธีบรรเทาอาการปวดหลังที่แตกต่างกันไป ทั้งการอาบน้ำ ใช้ยาแก้ปวด หรือแปะแผ่นยาบรรเทาอาการปวดหลัง วิธีเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ชั่วคราว เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา และรักษาอย่างถูกวิธี ก่อนที่แม่ ๆ จะเสียกำลังใจ มาดูสาเหตุของอาการปวดหลัง ที่เกิดขึ้นหลังคลอดกันก่อนนะคะว่า เกิดจากอะไรได้บ้าง
-
กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงไม่แข็งแรงเท่าเดิม
การตั้งครรภ์ทำให้กล้ามเนื้อจำนวนมากทั้งในช่วงท้องและหลังอ่อนแรงลง เนื่องจากการปรับท่วงท่าเพื่อแบกรับน้ำหนักที่ถ่วงอยู่ด้านหน้า โอบอุ้มทารกตัวโต ๆ ไว้ทั้งคน (หรือมากกว่าหนึ่งคน) เมื่อคลอดลูกแล้ว แม้ว่าคุณแม่ไม่ต้องแบกน้ำหนักอีกต่อไป แต่อาการปวดหลังก็ใช่ว่าจะหายในชั่วข้ามคืน ทั้งนี้ปัญหาปวดหลังเรื้อรัง สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยวิธีออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องและหลังให้แข็งแรง ลองปรึกษาคุณหมอถึงวิธีออกกำลังกายหลังคลอดที่เหมาะสม หรือเล่นโยคะก็สามารถช่วยได้ด้วยการจัดท่วงท่าและปรับสมดุลร่างกาย ที่สำคัญ อย่าลืมปรับท่วงท่าการยืนและเดินด้วย
-
ผ่านช่วงเวลาการคลอดที่ยากลำบาก นานหลายชั่วโมงกว่าจะคลอด
ถ้าคุณแม่ผ่านประสบการณ์การคลอดที่ยากลำบาก ก็อาจมีปัญหาปวดหลังภายหลังการคลอดได้ แม้ว่าช่วงตั้งครรภ์จะไม่เคยมีปัญหาปวดหลังเลยก็ตาม เนื่องจากท่าที่ใช้ในการคลอด ความยาวนานในการคลอด รวมถึงปัญหาในการเบ่งคลอด อาการปวดหลังภายหลังการคลอดที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวนี้ สามารถจัดการแก้ไขได้ โดยปรึกษาแพทย์ไคโรแพรคติก ซึ่งมุ่งเน้นการบำบัดอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปวดหลัง เป็นสัญญาณร้ายบอกโรคหรือไม่ อยากรู้ต้องอ่านบทความนี้!!
-
ปวดหลังจากบล็อกหลัง
บุคลากรทางการแพทย์และหมอ ต่างบอกว่า การบล็อกหลังไม่ได้เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้แม่ปวดหลัง ช่วงแรก ๆ แม่อาจปวดเมื่อยจากการนอนขดตัว นอนคุดคู้หลายนาที (อาจนานถึง 20 นาที) ซึ่งจะปวดหลังเพียงไม่กี่วันก็หายไป เรื่องนี้ สวนทางกับคำตอบของคุณแม่หลาย ๆ ท่านที่ผ่านการบล็อกหลัง ยืนยันว่า มีอาการปวดหลังภายหลังคลอดลูก นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีต่าง ๆ ออกมาบอกว่า อาการปวดหลังนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการบล็อกหลัง เมื่อยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด จึงยากที่จะหาวิธีรักษาที่แพทย์จะเห็นพ้องต้องกัน หลาย ๆ คนจึงหันไปนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง หรือเลือกฝังเข็มกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
-
ท่วงท่านั่ง ยืน นอน เดิน ทำให้ปวดหลัง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ท่าทางในการเดิน นั่ง หรือยืน ที่ไม่ถูกต้องจนติดเป็นนิสัย สิ่งที่แม่ต้องทำเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง คือฝึกนิสัยการใช้ท่วงท่าต่าง ๆ เสียใหม่ นั่งให้หลังตรงตลอดเวลา อย่านั่งหลังงอหลังเวลาที่อุ้มลูกโยกไปมาหรือตอนให้นม ภายในระยะเวลาสั้น ๆ จะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงและจะปวดหลังน้อยลงไปเรื่อย ๆ สำหรับคุณแม่ให้นม ควรเลือกท่าให้นมที่ถูกต้อง ลดอาการปวดเมื่อย หรือสังเกตท่าอุ้มลูก ว่าถูกวิธีหรือไม่ เพื่อลดอาการปวดหลัง และป้องกันอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการอุ้มลูกที่ผิดวิธี
-
แม่อาจขาดสารอาหาร ต้องเลือกกินให้ครบ 5 หมู่
แม่หลังคลอดต้องฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง เพราะระหว่างตั้งครรภ์จวบจนวันคลอด แม่ได้ใช้พลังงานไปเยอะ สารอาหารต่าง ๆ ที่แม่ได้รับ ก็ต้องแชร์กับลูกในท้อง หลังคลอดจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่แม่ต้องใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่ที่เปี่ยมไปด้วยประโยชน์ ร่างกายแม่เองก็จะได้กลับมาแข็งแรงเร็ว ๆ ภายหลังคลอดลูก นอกจากจะต้องทานอาหารอย่างดี เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบครันแล้ว ยังต้องดูแลร่างกายด้วยการออกกำลังกาย และถ้าคุณหมอให้วิตามินเสริม แม่ก็ต้องทานให้ครบนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารหลังคลอด อาหารอยู่เดือน แม่ให้นมต้องกินอะไรให้น้ำนมพุ่ง
ข้อควรระวังจากอาการปวดหลัง หลังคลอด
อาการปวดหลัง หลังคลอด หากปล่อยปละละเลยอาจรุนแรงกว่าที่คิด อาทิ ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือถึงขั้นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์วิชาการแพทย์ไคโรแพรคติก อธิบายถึงการเปลี่ยนของโครงสร้างร่างกายคุณแม่ เริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ว่า เมื่อน้ำหนักของเด็กมากขึ้นจะถ่วงท้องด้านหน้า โครงสร้างร่างกายจะปรับสภาพ โดยการหมุนของแกนกระดูกอุ้งเชิงกรานไปด้านหน้า เกิดการแอ่นตัวมาด้านหลังตอนบน เกิดเป็นลักษณะของการแอ่นของหลังตอนล่าง เมื่อแนวโครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลง ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่พยุงหลังย่อมมีผลกระทบ ทำให้เกิดสภาพไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ถ้าถูกปล่อยทิ้งไว้ขาดการฟื้นฟูโครงสร้างกระดูกอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง เรียกว่า อาการปวดหลังคุณแม่หลังคลอด (Postpartum Pain)
คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายตั้งแต่ ในระยะ 1-2 เดือนหลังคลอด และไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน สำหรับผู้ที่คลอดโดยการผ่าตัดร่างกายจะฟื้นตัวค่อนข้างช้า ร่างกายต้องพักอย่างน้อย 1-2 เดือน หากคุณแม่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติสามารถออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อปรับสมดุลให้ร่างกาย ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-2 หลังคลอด
คลอดแล้วยังปวดหลังอยู่ทำไง
รู้สาเหตุของอาการปวดหลัง หลังคลอดกันไปแล้ว คราวนี้เรามาดูวิธีรับมือกันดีกว่าว่าควรทำอย่างไร
- เปลี่ยนท่าให้นมลูก
- นั่งหลังตรง ไม่งอหลัง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- เล่นโยคะเพื่อปรับสมดุลร่างกาย
- ไปนวดหรือฝังเข็มกับผู้เชี่ยวชาญ
- ปรึกษาคุณหมอถึงวิธีออกกำลังกายหลังคลอดที่เหมาะสม
- ปรึกษาแพทย์ไคโรแพรคติกซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแล้วยังปวดหลังไม่หาย ทำอย่างไรให้อาการบรรเทาหายไป
วิธีออกกำลังกายแม่หลังคลอด
- การกระดกกระดูกเชิงกรานในท่ายืน เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และลดการแอ่นของหลังส่วนล่าง ด้วยการยืนหลังพิงฝาผนัง ส้นเท้าชิดผนัง พยายามกดหลังให้ส่วนเว้าของหลัง ชิดกับผนังให้มากที่สุด และกระดูกเชิงกรานมาด้านหน้าเล็กน้อยพร้อมกับเกร็งหน้าท้องและคลาย ทำสลับกัน 10 – 15 ครั้ง
- เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการนั่งเก้าอี้ หลังเหยียดตรง มือซ้ายจับเข่าขวา พยายามบิดตัวไปทางขวาช้า ๆ สลับกัน มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้ายช้า ๆ
ยาแก้ปวดและการอาบน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังลงได้ชั่วคราว ในอีกไม่กี่ชั่วโมงแม่ก็จะปวดหลังอีก สิ่งสำคัญอย่างแรกในการรักษาอาการปวดให้หายขาด คือการหาต้นตอของการปวดนั้น แล้วรักษาให้ตรงกับสาเหตุ ต้องรักษาที่โรค ไม่ใช่รักษาตามอาการนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โยคะแก้ปวดหลัง รวมท่าแก้ปวดหลัง โยคะง่าย ๆ ทำตามได้ที่บ้าน
เบาะรองหลัง ช่วยแก้อาการปวดหลังได้จริงหรือไม่? ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี
สาเหตุอาการปวดหลัง เกิดจากอะไร? ปวดหลังแบบไหนอันตราย ต้องรีบรักษา!
ที่มา : mgronline