ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง สำหรับใช้ในกรณีที่มีความฉุกเฉินเท่านั้น และต้องใช้ให้ถูกวิธีเท่านั้น จึงจะสามารถคุมกำเนิดได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์ ตามประสิทธิภาพของตัวยาแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงอีกด้วย
มาดูกันว่า ยาคุมฉุกเฉิน มีวิธีการใช้อย่างไร และเมื่อไหร่ ที่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินใช้อย่างไร ?
ยาคุมฉุกเฉินใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉิน ขอย้ำว่า ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คำว่า “ฉุกเฉิน” ในที่นี้หมายความถึง การมีเพศสัมพันธ์ในคู่สามีภรรยาที่มีการวางแผนครอบครัว ป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ เช่น การรั่ว หรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย ลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นต้น หรือใช้ในกรณีถูกข่มขืน
ยาคุมฉุกเฉินรับประทานอย่างไร ?
ยาคุมฉุกเฉินในประเทศไทยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยจะจำหน่ายเป็นกล่อง ภายในกล่องจะมี 2 เม็ด ซึ่งแต่ละเม็ดจะประกอบด้วยตัวยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) เม็ดละ 750 ไมโครกรัม
-
วิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉินที่ถูกต้อง
รับประทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง และรับประทานเม็ดที่สอง เมื่อครบ 12 ชั่วโมง หลังจากที่รับประทานเม็ดแรกเข้าไป หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง หลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่ และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน
-
ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ดีที่สุดหากรับประทานภายใน 24 ชั่วโมง
การรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 75 แต่หากเริ่มยาภายใน 24 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ดังนั้นจึงควรรับประทานยาเม็ดแรก หลังการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด
-
ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน 2 เม็ดในครั้งเดียว
มีคำแนะนำด้วยว่า สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้ โดยที่ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ซึ่งในสหรัฐอเมริกานิยมรูปแบบการรับประทานในครั้งเดียว และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในรูปแบบยาที่มีความแรงเป็น 2 เท่า คือ มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรลเม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม
การรับประทานเพียงครั้งเดียว จะทำให้เกิดความสะดวกมากกว่าการแบ่งยารับประทาน อย่างไรก็ตามในบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการรับประทานยาเพียงครั้งเดียว มากกว่าการแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินหลายประการ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
-
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถคุมกำเนิดในระยะยาวได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดระยะยาวได้ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง หากสามีภรรยาที่ยังไม่พร้อมมีบุตร แต่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว มีวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากกว่าเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด โดยรับประทานทุกวันวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ จะพบอาการข้างเคียงสูง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย รวมทั้งพบความเสี่ยงในการเกิดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น
-
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทำให้แท้งได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้ง ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น นั่นคือต้องได้ยาเข้าไปในร่างกาย ก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก เแต่หากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ยานี้จึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
-
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด การใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้นไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่สามารถคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
-
หากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกพิการหรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ทารกพิการได้ หากรับประทานไปโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีรายงานว่า ไม่พบทารกพิการจากมารดาที่รับประทานยา โดยไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ อาการแบบไหนที่บอกว่าคุณท้อง ลองสังเกตตัวเองดู
ยาคุมฉุกเฉินป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร ?
เมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเข้าไป ตัวยาลีโวนอร์เจสเตรลจะเข้าไปรบกวนกระบวนการตกไข่ รบกวนการเคลื่อนที่ของอสุจิ ที่จะว่ายเข้าไปผสมกับไข่ รวมทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อขัดขวางการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิ
การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน จึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์ แต่เป็นเพียงแค่การลดโอกาสตั้งครรภ์ลงจากเดิม ดังนั้น ระยะเวลาที่เริ่มรับประทานยา จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วย โดยพบว่าช่วงเวลาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ กับการรับประทานยาเม็ดแรก ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ยิ่งนาน ก็ยิ่งลดลง
เนื่องจากยาออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว ฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น หากมีไข่ที่ผสมกับอสุจิ เกิดการฝังตัวบนผนังมดลูกไปแล้ว ยาที่รับประทานเข้าไป ก็จะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่สามารถทำให้แท้งได้
นอกจากนั้น ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในแต่ละครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ตัวยาไม่มีประสิทธิภาพต่อเนื่องไปตลอดรอบเดือนที่เหลือ ดังนั้น จึงควรมีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย
ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดท้อง มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ประจำเดือนมาเร็ว หรือช้ากว่าปกติ อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา การรับประทานในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่การใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ นอกจากประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึงร้อยละ 2 เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยานี้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน
ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือไม่ ?
นอกจากผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการค้นพบว่า ยาคุมฉุกเฉินจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตกับผู้ใช้ หรือแม้แต่ผลกระทบต่อทารก ในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่ทราบ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติเป็นโรคลมชัก โลหิตแข็งตัว หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
หลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?
โดยทั่วไปแล้ว ประจำเดือนจะมาหลังจากรับประทานยาภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ (หากไม่มี ให้สงสัยว่าตั้งครรภ์ และไปพบแพทย์) หลังจากนั้นประจำเดือนของรอบเดือนนั้น ก็จะมาในช่วงเวลาเดิม ในบางรายอาจพบประจำเดือนรอบต่อไปมาช้า หรือเร็วกว่าปกติได้
บทความที่เกี่ยวข้อง สังเกตสุขภาพจากประจำเดือน รอบเดือนมาปกติหรือไม่
กล่าวโดยสรุป
ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาที่ผลิตคิดค้นออกมา เพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉิน และจำเป็นเท่านั้น โดยจะเกิดผลดีหากใช้ในทางที่ถูกต้อง ในผู้ที่มีการวางแผนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ เป็นต้น
การคุมกำเนิดก่อนการมีเพศสัมพันธ์
การคุมกำเนิดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ มีทั้งแบบชั่วคราว และถาวร ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น สุขภาพ ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ การวางแผนชีวิตครอบครัวว่า ยังต้องการมีบุตรในอนาคตหรือไม่ หรือแม้แต่วิธีการดำเนินชีวิต สามารถรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น หากต้องการคุมกำเนิด ขั้นตอนแรกควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
วิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่ การทำหมัน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ในผู้หญิงจะเป็นการผูก และตัดท่อนำไข่ ส่วนในผู้ชาย จะเป็นการตัดท่อนำอสุจิ
ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราว เช่น การนับระยะปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การใส่ห่วงอนามัย และการใช้ถุงยาง
บทความที่เกี่ยวข้อง วิธีคุมกําเนิด แบบไหนดีที่สุด! กินยาคุม ใส่ถุงยาง ฝังเข็มยาคุม หรือทำหมันเลยดีไหม
อ้างอิงข้อมูลจาก
ภญ. พิชญา ดิลกพัฒนมงคล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล