ชีวิตครอบครัวของแต่ละคนแตกต่างกัน บางจังหวะ ธรรมชาติก็สร้างชีวิตน้อยๆ ขึ้นมาในทันที แต่บางคนก็เลือกว่าจะมีลูกเมื่อไหร่ดี เพราะการมีลูกแต่ละคน ต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมเงินในกระเป๋าให้พร้อม!
มีลูกหัวปีท้ายปี ดีไหม
ข้อดีของการมีลูกห่างกันเพียง 1-2 ปี
- ผลวิจัยระบุว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า เมื่อเริ่มต้นมีน้อง อาจจะเป็นเพราะว่าเด็กยังไม่รู้เดียงสามากพอ จึงไม่รู้สึกระแวดระวัง หรือกังวลกับสมาชิกใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาภายในบ้าน
- ถ้ามีลูกในช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกัน ลูกจะมีเพื่อนเล่น มีความสนุกสนานกับการเล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน แบบเดียวกัน เล่นกันรู้เรื่อง จึงไม่ต้องกลัวลูกเหงา
- การที่มีลูกอายุใกล้ๆ กัน แม่คนเดียวมักจะเอาไม่อยู่ ทีนี้คุณก็มีเหตุผลที่จะดึงสามีอยู่ติดบ้านในวันหยุด เพื่อช่วยเลี้ยงลูก ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้บ่อยๆ
- เด็กที่โตมาแบบเพื่อนกัน เติบโตในช่วงวัยเดียวกัน แม่ต้องปวดหัวเป็นธรรมดา แต่เหนื่อยแค่แป๊บเดียว พอลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่พร้อมๆ กัน พ่อแม่ก็สบายหายห่วง
ข้อเสียของการมีลูกห่างกันเพียง 1-2 ปี
- การมีลูกหัวปีท้ายปี จะสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับคุณแม่ เพราะลูกๆ จะเข้านอนไม่ตรงกัน คนโตก็หลับๆ ตื่นๆ ส่วนลูกอีกคนก็เป็นทารกแรกเกิดที่ตื่นตลอดคืน แถมต้องมาเดาใจลูกๆ ด้วยว่า ที่ร้องงอแงต้องการอะไรกันแน่
- ลูกอายุใกล้ๆ กันมักจะทะเลาะกันบ่อยๆ
- ต้องเตรียมเงินไว้มากๆ เพราะทารกแรกเกิด และเด็กเล็กในขวบปีแรกๆ มีเรื่องต้องใช้เงินเยอะ
อ่าน มีลูกหัวปีท้ายปี หรือห่างกันหลายปี แบบไหนดีกว่ากัน ต่อหน้าถัดไป
ข้อดีของการมีลูกห่างกัน 2-3 ปี
- ข้อดีข้อแรก เมื่อมีลูกอีกคนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ลูกคนแรกก็โตพอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องดูแลตลอดเวลา
- อีกข้อคือ ตัวของคุณแม่เองร่างกายจะแข็งแรงพร้อมมีลูกคนต่อไป เพราะผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฟื้นฟูจากการคลอดลูกคนแรก
- ลูกโตพอจะกินอาหารเสริม และดูดนมจากขวด ไม่จำเป็นต้องให้ลูกดูดจากเต้า จึงสามารถไปดูแลลูกอีกคนได้อย่างเต็มที่
ข้อเสียของการมีลูกห่างกัน 2-3 ปี
- ลูกจะขาดเพื่อนเล่นในช่วงวัยเดียวกัน เพราะต้องรอให้น้องโตก่อน อาจจะเหงา หรือพ่อแม่ต้องพาลูกไปเจอเด็กคนอื่นๆ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมลูก
- พี่คนโตจะเริ่มรู้เรื่อง และรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อมีน้องเกิดขึ้นมา กังวลว่าจะมาแย่งความรัก หรือแย่งของเล่น พ่อแม่จึงต้องหาวิธีพูดคุยกับลูกคนโตให้เข้าใจ สร้างความมั่นใจให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่จะรักลูกไม่มีเปลี่ยนแปลง
- ค่าใช้จ่ายกองโตที่พ่อแม่ต้องเตรียมงบประมาณให้ดี เพราะเด็กแรกเกิดต้องใช้เงินเยอะ ขณะเดียวกันลูกอีกคนก็เตรียมพร้อมจะเข้าสู่เตรียมอนุบาล
ข้อดีของการมีลูกห่างกัน 3 ปีขึ้นไป
1.เมื่อลูกคนโตอายุเกิน 3 ขวบ นั่นหมายความว่า ลูกอยู่ในวัยเข้าเตรียมอนุบาล หรือบางคนก็เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลแล้ว ทำให้แม่มีเวลาทุ่มเทกับลูกคนใหม่ที่เพิ่งคลอดออกมา มีเวลาให้นม เล่นกับเบบี๋ และมีเวลาของแม่เองที่จะผ่อนคลาย ได้งีบหลับสักหน่อย
2.การมีลูกอายุห่างกัน แม่เองก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ร่างกายฟื้นฟูแล้ว กลับมาแข็งแรง พร้อมดูแลลูกอีกคน
3.ความสัมพันธ์ของเด็กที่อายุต่างกัน จะช่วยลดการทะเลาะเบาะแว้งของพี่น้อง ลูกแต่ละคนไม่รู้สึกแข่งขันกันเอง แถมยังเป็นที่พึ่งที่ดีให้แก่กัน
4.ให้พี่ช่วยเลี้ยงน้อง เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว การที่พี่น้องอายุห่างกันจะช่วยดูแลกัน แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้
ข้อเสียของการมีลูกห่างกัน 3 ปีขึ้นไป
– ความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน แม่ต้องเตรียมพร้อม หาความรู้ และใส่ใจกับลูกๆ ทุกคน ทำให้พ่อแม่เหนื่อยเป็นพิเศษ
– ร่างกายของแม่เอง ก็ห่างหายจากการตั้งครรภ์ไปนาน ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งตั้งท้องได้ยากขึ้น ทำให้ต้องบำรุงและตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจท้องอีกครั้ง
– ถ้าแม่กลับไปทำงานประจำ พอท้องอีกครั้งก็ต้องปรับตัวใหม่ วางแผนครอบครัวใหม่ ให้ชีวิตลงตัวมากขึ้น
– หากลูกของเพื่อนๆ โตกันหมดแล้ว แต่คุณแม่เพิ่งจะมีน้องมาเพิ่มอีกคน การไปพบปะสังสรรค์ก็จะน้อยลง อาจไม่ได้สนุกกับเพื่อนๆ เหมือนเดิม
ไม่ว่าจะมีลูกหัวปีท้ายปี หรือห่างกันหลายๆ ปี ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย ที่ทุกครอบครัวต้องตัดสินใจเอาเอง จากความพร้อมของทั้งร่างกายคุณแม่ และการเตรียมค่าใช้จ่ายให้ลูก เพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์และมีความสุขที่สุด
ที่มา : sg.theasianparent.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!