อาการท้องแข็ง ตามความหมายของคุณหมอมักจะหมายถึง การที่มดลูกบีบตัว แข็งตัวขึ้น โดยอาการท้องแข็งนั้น เป็นอาการที่มักจะพบได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยที่จะมีลักษณะอาการ และสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูสาเหตุของอาการท้องแข็งกันว่าเกิดจากอะไร และอาการท้องแข็งบ่อยมากกว่าปกติ ท้องแข็งถี่ นั้นอันตรายอะไรไหม แล้วควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการท้องแข็ง
5 สาเหตุ อาการท้องแข็ง
1. ท้องแข็งที่เกิดจากลูกโก่งตัว
เป็นอาการท้องแข็งแบบไม่มีอันตราย ที่คุณแม่ท้องมักจะเจอกันอยู่บ่อย ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ท้องจะมีความรู้สึกว่า ท้องแข็งบางที่ นิ่มบางที่ โดยอวัยวะของลูกในท้องที่กำลังดิ้น หรือโก่งตัว อย่างเช่น ศอก ไหล่ เข่า หัว หรือก้น จะนูนตรงนั้นตรงนี้ไปทั่ว ส่วนที่มักจะนูนโก่งแข็งจนมดลูกเบี้ยวไปข้างนึงเลยก็มักจะเป็นหลัง กับ ก้น อีกด้านก็จะนิ่มกว่า แล้วก็จะรู้สึกลูกดิ้นเป็นจุดเล็กจุดน้อย ด้านนั้นก็จะเป็นส่วนของมือ ส่วนของเท้า
2. ท้องแข็งเพราะกินอิ่ม
เนื่องจากความจุของช่องท้องนั้น มีพื้นที่จำกัด มดลูกของคุณแม่ท้องที่โตขึ้นตามอายุครรภ์ไปเบียดแย่งพื้นที่กับอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง พอกินอะไรเข้าไปจึงรู้สึกว่าแน่นไปหมด บางครั้งก็รู้สึกแน่นจนแทบหายใจไม่ออก ต้องนั่งยืดตัวสักพักอาการท้องแข็งก็จะดีขึ้น
อาการท้องแข็งแบบนี้ ท้องจะไม่แข็งมาก มักจะเป็นหลังกินข้าว โดยมากมักจะเป็นความรู้สึกแน่นท้องเสียมากกว่า อาการท้องแข็งแบบนี้ ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด แต่คุณแม่ท้องควรกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ รับประทานครั้งละน้อย ๆ พยายามอย่าให้ท้องผูก และควรขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ก็จะรู้สึกแน่นท้องน้อยลง
3. ท้องแข็งเกิดจากมดลูกบีบตัว
อาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกบีบตัวนั้น คุณแม่ท้องจะมีอาการท้องแข็งทั้งหมด ไม่แข็งเป็นบางจุดเหมือนอาการท้องแข็งเพราะเด็กโก่งตัว และจะมีอาการปวดท้อง เหมือนปวดประจำเดือนร่วมด้วย โดยอาการท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัวนั้น ยังสามารถแยกย่อยได้ ดังนี้
- ท้องแข็งของแท้ (มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด)
ปกติแล้ว มักจะเป็นในช่วงหลังจากตั้งครรภ์ได้ 28 ไปแล้ว โดยช่วงที่พบว่ามีอาการท้องแข็งจากมดลูกบีบตัวบ่อยที่สุด ก็คือในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด เพราะการที่ลูกดิ้นมาก ๆ ก็อาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นได้ด้วยเหมือนกัน จนเมื่อผ่านช่วงอายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ไปแล้ว อาการท้องแข็งก็จะน้อยลง
หากคุณแม่ท้องมีอาการท้องแข็งบ่อย และถี่ขึ้น ไม่ได้แข็งเป็นบางจุด และบางทีรู้สึกแข็งมาก หรือแข็งจนรู้สึกแน่นหายใจไม่ออก และอาการไม่ดีขึ้น ควรจะรีบไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพราะมดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิด ตามมาด้วยการเจ็บท้องคลอด ทำให้ก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ท้องบางคน พอถึงเวลาครบกำหนดคลอด แต่กลับไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด จนบางทีเลยกำหนดไปเลยก็มี
- ท้องแข็งตามธรรมชาติ (Braxton Hicks Contraction)
คุณแม่ท้องบางคน อาจมีอาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกบีบตัว ซึ่งเป็นการท้องแข็งนิด ๆ หน่อย ๆ ที่เกิดขึ้นได้เองเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายใด ๆ หรือที่เรียกกันว่า Braxton Hicks Contraction นั่นเอง
4. ท้องแข็งเตรียมคลอด
สำหรับคุณแม่ที่ใกล้ถึงกำหนดคลอดเต็มที เมื่อถึงวันคลอด สิ่งที่แม่ท้องจะต้องเจอเลย ก็คืออาการท้องแข็งใกล้คลอด หรือเรียกว่า Labor Contractions โดยแม่ท้อง จะมีอาการท้องแข็งเตือน ทุก ๆ 5- 15 นาที และใน 1 ครั้ง มักจะท้องแข็งนานตั้งแต่ 5 วินาที ไปยัน 1 นาทีเลยทีเดียว และจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย สังเกตได้ง่าย ๆ เลยก็คือแม่ท้องจะท้องแข็งเป็นระยะ และปากมดลูกก็จะค่อย ๆ ขยาย อาการที่จะตามมาเลยก็คือ อาการน้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด และเมื่อมีอาการท้องแข็งถี่แบบนี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลเลย ลูกน้อยกำลังจะคลอดแล้ว
5. ท้องแข็งจากสาเหตุอื่น ๆ
จริง ๆ แล้วสาเหตุของอาการท้องแข็งนั้นมีมากมาย นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้นแล้ว สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่ท้องเกิดอาการท้องแข็ง เช่น
- อาจเกิดจากคุณแม่ท้องไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี
- เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง
- มดลูกไม่แข็งแรง มดลูกมีโครงสร้างไม่ปกติ
- มีเนื้องอกของมดลูก
- เกิดจากครรภ์แฝด
- เด็กตัวใหญ่
- น้ำคร่ำมาก
แม้แต่การมีตกขาว หรือมีการอักเสบของปากมดลูก ก็เป็นสาเหตุของอาการท้องแข็งที่พบได้บ่อย ๆ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุด มากกว่า 30% ก็คือ ไม่ทราบสาเหตุก็เป็นไปได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องแข็ง เกิดจากอะไร ท้องแข็งเป็นอาการป่วย หรือสัญญาณใกล้คลอด?
ท้องแข็งถี่ อันตรายไหม
อาการท้องแข็งบ่อยมากกว่าปกติ ท้องแข็งถี่ หรือเดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวหายติด ๆ กันเป็นชุด บางครั้งอาจมีอาการเจ็บเวลาที่ท้องแข็ง เป็นอาการที่คุณแม่ท้องไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจว่าลูกในท้องยังแข็งแรงดีไหม ใกล้คลอดแล้วหรือเปล่า ซึ่งในรายที่มีอาการท้องแข็งมาก หรือท้องแข็งถี่ มีการบีบตัวของมดลูกชัดเจน คุณหมอก็อาจจะให้รอดูอาการที่โรงพยาบาล
ส่วนการรักษาหลัก ๆ ก็คือให้คุณแม่นอนพักให้เต็มที่ ให้ยืนหรือเดินน้อยที่สุด และคุณหมอก็อาจจะให้ยารักษาอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงของยาก็คือ อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แต่เมื่ออาการท้องแข็งดีขึ้น คุณหมอก็จะลดยาลง
และสำหรับคุณแม่ที่มีอาการท้องแข็งถี่ แต่ไม่มากถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล คุณหมอก็อาจจะให้ยาคลายมดลูกกลับไปกินที่บ้าน และควรนอนพักให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการเดินเยอะ ๆ การขึ้นลงบันได การยกของหนัก เพราะถ้ามีกิจกรรมมาก ท้องก็จะยิ่งแข็งมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีแก้อาการท้องแข็ง และเรื่องที่ห้ามทำตอนท้องแข็ง
ควรทำอย่างไร เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
- อย่าบิดขี้เกียจ เพราะตอนบิดขี้เกียจ ช่องท้องจะมีปริมาณเล็กลง ความดันในมดลูกก็จะสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องแข็งได้
- อย่ากลั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่มากขึ้น มดลูกก็จะเบียดแย่งเนื้อที่กัน มดลูกก็จะมีความดันสูงขึ้น เป็นเหตุทำให้มดลูกบีบตัว และเกิดอาการท้องแข็งได้
- อย่าจับท้องบ่อย เพราะมดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อต่าง ๆ มากมาย และไวต่อการกระตุ้นมาก ยิ่งจับบ่อย มันก็ยิ่งแข็งบ่อยนั่นเอง
- ค่อย ๆ ลุก นั่ง ยืน นอน ช้า ๆ เพื่อลดอาการเกร็งหน้าท้อง
- งดการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมี เพศสัมพันธ์ จะไปกระตุ้นแถวบริเวณปากมดลูก ซึ่งจะทำให้มีการบีบตัวของมดลูกตามมา
- ไม่ควรสัมผัสบริเวณอวัยวะที่ไวต่อการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวบ่อย ๆ เช่น บริเวณหน้าอก หรือเต้านม ระหว่างอาบน้ำ ก็ไม่ควรไปถู ไปจับ บริเวณหัวนมจนเกินความจำเป็น หากหัวนมแข็งชันขึ้นมาเมื่อไหร่ มดลูกก็อาจจะบีบตัวตามมาได้
เห็นไหมคะ ว่าอาการท้องแข็ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยนะคะว่าอาการ ท้องแข็งถี่ ดังกล่าวมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยที่ดูเหมือนจะเป็นอันตรายหรือไม่ หากมีก็ให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อให้ทำการวินิจฉัยต่อไปจะดีที่สุด ดังนั้น แม่ท้องอย่าลืมสังเกตตัวเองบ่อย ๆ นะคะ จะได้รีบเข้ารับการดูแลอย่างทันท่วงที ปลอดภัยหายห่วงทั้งแม่และลูกน้อย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องลด รู้สึกอย่างไร คนท้องท้องลด แสดงว่าใกล้คลอดจริงไหม
ท้องแก่ นอนไม่หลับ ทำไมยิ่งใกล้คลอดยิ่งนอนไม่หลับ
น้ำคร่ำแตก เป็นอย่างไร มีอาการแบบไหน ใกล้คลอดหรือยังแบบนี้
ที่มา : Dr.anon.r.manan, enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!