แคโรลิน ไวสส์ วัย 37 ปีมีแผนการคลอดที่แปลกกว่าใคร
หนึ่งชั่วโมงก่อนไวสส์ให้กำเนิดลูกสาวโดยการผ่าคลอดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เธอจะสอดผ้าก็อซชุบน้ำเกลือเข้าไปในช่องคลอดของเธอ และก่อนที่การผ่าคลอดจะเริ่มขึ้น เธอจะเอาผ้าก็อซออกมาเก็บไว้ในภาชนะที่ผนึกมิดชิด ไม่กี่วินาทีหลังทารกลืมตาดูโลก สามีของเธอจะนำผ้าก็อซแผ่นเดียวกันนั้นไปป้ายในปากของทารก รอบดวงตาและบนผิวหนัง กรรมวิธีนี้กำลังเริ่มเป็นที่สนใจของแม่ๆ มากมายค่ะ
เพราะอะไรหรือคะ อย่างแรกคือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ร่างกายมนุษย์เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าจุลชีพราว 100 ล้านล้านตัว ซึ่งรวมกันเข้าเป็นระบบนิเวศซับซ้อนที่เรียกว่ากลุ่มจุลินทรีย์ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจบทบาทสำคัญยิ่งยวดที่กลุ่มจุลินทรีย์มีต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่งานวิจัยใหม่ล่าสุดนี้ระบุว่าสิ่งมีชีวิตจิ๋วๆ นับล้านล้านตัว (ซึ่งรวมๆ กันแล้วหนัก 1 กิโลกรัม) ทำงานวุ่นวายในร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา
พวกมันฝึกฝนระบบภูมิคุ้มกันของเรา ช่วยเรารับมือกับการติดเชื้อและช่วยย่อยสลายอาหาร อันที่จริงเมื่อพิจารณาว่ากลุ่มจุลินทรีย์นี้เป็นตัวควบคุมกิจกรรมการเผาผลาญอาหารอย่างกว้างขวางเพียงใดแล้ว นักวิจัยก็เริ่มมองว่าพวกมันควรถูกจัดให้เป็นอวัยวะชิ้นหนึ่ง แม้ว่าประชากรจุลินทรีย์จะหนาแน่นที่สุดในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีจุลินทรีย์เฉพาะเจาะจงบางจำพวกที่อาศัยอยู่บนทุกพื้นผิวของร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นผิว ปาก ช่องคลอด ปอด กระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การแพทย์แผนตะวันตกมักมองว่าจุลินทรีย์เป็นเชื้อแปลกปลอมที่บุกรุกร่างกาย จึงนำไปสู่ความเชื่อแพร่หลายที่ว่าการกำจัดจุลินทรีย์โดยใช้ยาปฏิชีวนะไปจนถึงเจลล้างมือฆ่าเชื้อจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ความคิดดังกล่าวนี้กำลังถูกสั่นคลอนเมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจระดับความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันและกันระหว่างมนุษย์กับจุลินทรีย์ นับตั้งแต่วันที่เราลืมตาดูโลก
ขณะยังอยู่ในมดลูกของแม่ เป็นไปได้มากว่าลำไส้ของทารกยังสะอาดปลอดเชื้อจุลินทรีย์ใดๆ จนกระทั่งเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก จุดนี้เองที่นักวิจัยเชื่อว่า กลุ่มจุลินทรีย์จากร่างกายของแม่จะเริ่มเข้าไปตั้งรกรากในตัวทารก กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไประหว่างที่ทารกเคลื่อนลงไปตามทางผ่านสู่ช่องคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีจุลินทรีย์จากแม่เคลือบคลุมทั้งตัว เมื่อแรกคลอดกลุ่มจุลินทรีย์ของทารกจะละม้ายคล้ายคลึงกับจุลินทรีย์ที่อยู่ในช่องคลอดของแม่มาก
แล้วถ้าเป็นการผ่าคลอดซึ่งทารกจะไม่ได้สัมผัสกับจุลินทรีย์ในช่องคลอดของแม่ล่ะ นักวิจัยพบว่ากลุ่มจุลินทรีย์ของทารกจะคล้ายคลึงกับที่พบบนผิวแม่ และไม่ใช่จากของแม่คนเดียวเท่านั้น แต่ยังจากของหมอ พยาบาล คนไข้อื่นๆ ในโรงพยาบาล รวมไปถึงคนทำความสะอาดห้องผ่าคลอดด้วย นี่ก่อให้เกิดความวิตกว่ากลุ่มจุลินทรีย์บุกเบิกที่เข้าไปตั้งรกรากเหล่านี้อาจทำให้ทารกอ่อนแอต่อเชื้อก่อโรคและนำไปสู่การเจ็บป่วยได้ในที่สุด
เมื่อเทียบกับทารกคลอดตามธรรมชาติแล้ว ทารกผ่าคลอดมีแนวโน้มประสบกับปัญหาสุขภาพสูงกว่า เช่นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ผิวอักเสบ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และภาวะอักเสบในลำไส้เล็กทำให้ดูดซึมแร่ธาตุไม่ได้ ทั้งยังเสี่ยงต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบสูงกว่าด้วย ปัจจุบันนักวิจัยเชื่อว่ากลุ่มจุลินทรีย์อาจเป็นต้นเหตุปัญหาเหล่านี้
ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างของกลุ่มจุลินทรีย์อันเป็นผลจากวิธีคลอดที่ต่างกันจะคงอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน ทารกผ่าคลอดในวัยหกเดือนยังมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่พัฒนาความหลากหลายช้ากว่า งานวิจัยในเนเธอแลนด์เมื่อปีที่แล้วพบว่าความแตกต่างนี้ปรากฏให้เห็นกระทั่งในเด็กวัยเจ็ดขวบ
เรื่องนี้จึงก่อให้เกิดคำถามว่าแม่ที่ต้องผ่าคลอดควรทำอย่างไร >>คลิกหน้าถัดไป
ดร.มาเรีย กลอเรีย โดมิงเกซ-เบลโล นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กศึกษากลุ่มจุลินทรีย์มานานหลายปีแล้ว ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเธอได้พยายามศึกษาว่าทารกผ่าคลอดจะได้ประโยชน์เช่นเดียวกับทารกคลอดธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ด้วยผ้าก็อซที่เก็บไว้ในช่องคลอดของแม่ได้หรือไม่ จนถึงตอนนี้ ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจค่ะ
ปีที่แล้ว ดร.โดมิงเกซ-เบลโลทำการวิจัยกับทารก 21 คนในเปอร์โตริโก และพบว่าเทคนิคของเธอส่งผลเชิงบวกต่อความหลากหลายของกลุ่มจุลินทรีย์ในทารกแรกเกิด เทคนิคดังกล่าวคือผ่าคลอดนำทารกออกจากมดลูกของแม่ ใช้ผ้าก็อซที่เตรียมไว้ป้ายในปาก รอบดวงตาและผิวหนังของทารกก่อนจะวางทารกลงบนอกของแม่ “เราพบว่าถ้าให้ทารกได้สัมผัสกับเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อจุลินทรีย์นั้นจะเข้าไปอยู่ในตัวทารก” เธอกล่าว ทารกที่ได้รับการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ผ่านผ้าก็อซจะมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใกล้เคียงกับทารกที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติมากกว่าทารกผ่าคลอด และผลลัพธ์นี้ยังคงอยู่ต่อเนื่องถึงหนึ่งเดือนหลังคลอด “ถึงผลที่ได้จะไม่เท่ากับทารกที่คลอดทางช่องคลอด แต่ก็นับว่าดีขึ้นกว่าเดิมมากค่ะ” ดร.เบลโลกล่าว
คำถามสำคัญที่สุดคือกระบวนการง่ายๆ นี้จะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในทารกผ่าคลอดได้สำเร็จอย่างที่ดร.เบลโลหวังไว้หรือไม่ เธอตั้งใจจะตอบคำถามนี้ด้วยการขยายงานวิจัยออกไปศึกษาทารกจำนวนมากกว่านี้และเธอต้องติดตามดูผลเป็นเวลาอย่างน้อยสามปี “เราจะได้เห็นว่าเด็กเป็นโรคหอบหืดน้อยลงไหม” เธอพูด “เป็นโรคอ้วนน้อยลงหรือเปล่า วิธีนี้จะมีผลต่อสุขภาพของทารกจริงๆ หรือไม่”
นั่นคือสิ่งที่คุณแม่อย่างแคโรลิน ไวสส์หวังเอาไว้ ลูกสาวคนแรกของเธอซึ่งคลอดด้วยการผ่าคลอดเป็นโรคผิวหนังอักเสบตั้งแต่แรกคลอด และเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าแพ้อาหารด้วย ไวสส์ศึกษาหาต้นตอที่แท้จริงของปัญหาที่ลูกสาวของเธอเผชิญอยู่จนได้มาพบกับงานวิจัยของดร.เบลโล เมื่อไวสส์ตั้งครรภ์อีกครั้งและหมอบอกว่ามีโอกาสที่เธอต้องผ่าคลอดซ้ำอีก ไวสส์และสามีจึงตัดสินใจจะลองเทคนิคของดร.เบลโลดู “ในฐานะพ่อแม่ เราย่อมอยากมอบเกราะป้องกันที่แข็งแรงที่สุดให้แก่ลูก” ไวสส์กล่าว “ถึงจะมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่วิธีนี้จะช่วยได้ เราก็จะลองค่ะ”
ดร. เบลโลซึ่งได้รับอีเมลจากคุณแม่ตั้งครรภ์ถามถึงกระบวนการนี้อยู่เนืองๆ เน้นย้ำว่าเทคนิคดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย และเนื่องจากยังเป็นวิธีการที่ใหม่มาก จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาหมอซึ่งยินดีทำให้ พ่อแม่ที่อยากลองวิธีนี้จึงจำต้องลงมือเอง
“โดยรวมแล้ว หมอของเราสนับสนุนความคิดนี้นะคะ แต่เขาไม่ยอมทำให้” ไวสส์พูด “หน้าที่นั้นเลยตกเป็นของสามีฉันไป” วิธีการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์นี้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อร้ายถึงลูกได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เป็นแม่ต้องมีระบบนิเวศจุลินทรีย์ที่แข็งแรงดี ต้องตรวจหาว่าช่องคลอดมีเชื้อแลคโตบาซิลัสชนิดกรดหรือไม่ ต้องปลอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อสเตรปโตคอกคัสกลุ่มบี รวมทั้งเชื้อกามโรคต่างๆ
ดร.เบลโลเชื่อว่าความคิดนี้จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อสุขภาพของมนุษย์ “24 ปีก่อนฉันคลอดลูกสาวด้วยการผ่าคลอดค่ะ” เธอเล่า “ถ้าตอนนั้นฉันรู้สิ่งที่ได้รู้จากการวิจัยในตอนนี้ละก็ ฉันคงลองใช้วิธีนี้เหมือนกัน”
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่แม่ต้องระวังคือ การแพ้อาหารและแพ้นมวัว
90% ของการแพ้อาหารและแพ้นมวัวในเด็กมักแสดงอาการภายในขวบปีแรก การให้ลูกทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนหลังคลอดช่วยปกป้องลูกจากการเกิดอาการแพ้ได้ และในนมแม่ยังมีพรีไบโอติก อาหารของจุลินทรีย์สุขภาพที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าคุณแม่ให้นมลูกไม่ได้ ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในการเลือกนม HA สูตรปกป้องการแพ้ พร้อมเสริม GOS/lcFOS (พรีไบโอติก)
ที่มาบทความ : www.theguardian.com/lifeandstyle/2015/aug/17/vaginal-seeding-c-section-babies-microbiome
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ผ่าคลอดเป็นอย่างไร – ประสบการณ์ของคุณแม่มือใหม่
5 เคล็ดลับเตรียมตัวเมื่อต้องผ่าคลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!