ทารกแรกเกิดจะยังมีวิสัยทัศน์ด้านการมองเห็นที่ยังไม่สมบูรณ์ บางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ สังเกตการมองเห็น หรือการทำงานขอดวงตา อาจจะเริ่มรู้สึกว่า ตาทั้งสองข้างของลูก ทำงานไม่ประสาน สอดคล้องกัน ทารกตาเหล่ ตาเข หรือผิดปกติหรือไม่ ?
ถ้าหากเป็นช่วงแรกเกิด ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะดวงตาทั้งคู่ของลูก ยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ถ้า 3 เดือนแล้ว อาการ ทารกตาเหล่ ตาเข ยังมีอยู่ ก็อาจเป็นความผิดปกติได้ค่ะ
พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารก
แรกเกิด – 1 เดือน
การมองเห็นเป็นพัฒนาการที่ทารกเพิ่งได้เรียนรู้เมื่อออกมาจากท้องของคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่จะเห็นว่าลูกจะหน้านิ่วคิ้วขมวด และเพ่งไปยังจุดที่เขาสนใจในระยะประมาณ 8 – 12 นิ้ว ทั้งนี้ ทารกน้อยจะสามารถมองเห็นได้อย่างเลือนลาง และมองในลักษณะเลื่อนลอยบ้างในบางครั้ง ที่สำคัญดวงตาของทารกจะมีความไวต่อแสงมาก
การมองเห็นจะเริ่มดีขึ้นเมื่ออายุ 1 เดือน มองเห็นชัดเจนได้ไกลขึ้นเป็นรัศมีประมาณ 15 นิ้ว การมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นนี้เอง ทำให้หนูน้อยพยายามเอื้อมมือไปไขว่คว้าสิ่งของที่มองเห็น ลูกเริ่มจะเรียนรู้ในการโฟกัสสิ่งของ โดยใช้สายตาทั้งสองข้าง ทำงานประสานกัน
2 – 3 เดือน
จากภาพที่เห็นลาง ๆ ก็จะเริ่มมองเห็นได้ดีขึ้น เริ่มเป็นรูปร่าง เริ่มกลอกตาซ้ายขวาได้ การมองเห็นก็จะเริ่มดีขึ้น การมองเห็นสีสำหรับลูกที่จะแยกแยะสีที่มีโทนสีใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงกับสีส้ม ดังนั้น ลูกน้อยจึงชอบมองสิ่งของที่มีสีขาวสลับดำหรือวัตถุใดก็ตามที่มีสีตัดกันมาก ๆ
4 – 6 เดือน
พัฒนาการการมองเห็นของทารก ค่อนข้างเกือบจะสมบูรณ์ คือ สามารถปรับภาพการมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะต่าง ๆ หนูน้อยเริ่มพัฒนาการรับรู้เกี่ยวกับความลึก ซึ่งทำให้สามารถควบคุมการทำงานของการใช้แขนไขว่คว้าได้ดีขึ้น
7 – 9 เดือน
การมองเห็นเริ่มดีขึ้น ตา 2 ข้างเริ่มทำงานประสานกัน มีการทำงานของมือที่ประสานกับการทำงานของตาได้ดีขึ้น เด็กจะเห็นภาพได้คมชัดดีใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ และมีพัฒนาการในการมองควบคู่กับการใช้มือหยิบจับ ลูกจึงสามารถเอื้อมมือหยิบจับสิ่งของที่อยู่ข้างหน้าได้แม่นยำขึ้น ลูกน้อยสามารถมองเห็นได้แม้กระทั้งวัตถุเล็ก ๆ หรือวัตถุที่เคลื่อนที่ หรือบางครั้งแค่เห็นสิ่งของนั้นบางเสี้ยว ไม่ได้เห็นทั้งหมด แต่หนูน้อยก็สามารถจดจำสิ่งของนั้นได้
10 – 12 เดือน
การมองเห็นของลูกพัฒนาขึ้นจนเกือบจะเท่ากับผู้ใหญ่ทั้งในด้านความชัดเจน และการรับรู้เกี่ยวกับความชัดลึก แต่การมองสิ่งของในระยะใกล้ ๆ จะดีกว่าการมองสิ่งของที่อยู่ไกล ๆ
การมองเห็นของลูกจะดีพอจนสามารถมองข้ามห้องที่ค่อนข้างกว้างไป สังเกตเห็นผู้คน หรือสิ่งของที่เขาคุ้นเคยได้ ส่วนความสามารถในการรับรู้เรื่องสีก็ดีเกือบจะสมบูรณ์แล้ว สามารถแยกแยะสีในโทนต่าง ๆ ได้ดี ไม่ได้ชอบเฉพาะสีตัดกันเหมือนช่วงแรก ๆ อีกต่อไป
ไขข้อข้องใจ รู้ได้อย่างไรว่าทารกแรกเกิดทำไมตาเหล่
เมื่อได้ทราบถึงพัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกน้อยแล้ว แต่ไม่วายยังมีข้อสงสัยเรื่องตาเหล่ ตาเขของทารกแรกเกิด ตกลงว่าเป็นอย่างไรกันแน่คะ ???? (แอบได้ยินคำถามในใจแม่ ๆ) ทีมงานของเราจึงไปหาคำตอบมาให้ดังนี้ค่ะ
ตาเหล่ ตาเข ในทารกแรกเกิด
นับแต่วินาทีแรกลูกน้อยคลอดก็สามารถมองเห็นแสงสว่าง ได้ยินเสียง และสามารถกะพริบตาได้ทันทีตามสัญชาตญาณ (Blink reflex) ก็เพื่อปกป้องดวงตาที่บอบบางจากอันตรายภายนอก เป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการด้านการมองของลูกน้อย ทารกแรกเกิดคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นว่า ดวงตาของลูกดูเหมือนเหล่ หรือตาเข ตาสองข้างทำงานไม่สอดคล้องกัน ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ !!!!
เนื่องจากการทำงานของประสาทตายังไม่สมบูรณ์ แต่ถ้า 3 เดือนไปแล้ว ดวงตาของลูกน้อยยังมีอาการตาเหล่ ตาเขอยู่ แบบนี้คงไม่ดีแน่ ต้องพาเจ้าตัวน้อยไปพบคุณหมอแล้วค่ะ เพราะอาจเกิดความผิดปกติของดวงตาได้
1. การปรับโฟกัสสายตา (Accommodation) แก้วตาหรือเลนส์ตาของทารกน้อยจะมีการเปลี่ยนแปลงและหดขยายเพื่อที่จะปรับภาพให้ชัด เมื่อทารกมีอายุได้ 3 เดือน จึงจะมีทักษะในการปรับโฟกัสของเลนส์ตาได้ดีเท่าๆ กับผู้ใหญ่
2. การเคลื่อนไหวสายตา (Saccades) ทารกสามารถกวาดสายตาเพื่อจับภาพวัตถุใดวัตถุหนึ่ง หรือค้นหาตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งจากภาพกว้าง ๆ ในเด็กแรกเกิดยังไม่ค่อยมีทักษะนี้มากนัก แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก
3. การขมวดสายตา (Vergence) โดยทั่วไปเวลาที่เราเพ่งมองวัตถุใดอยู่ ลูกตาดำของเราจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าลองเพ่งมองดูที่ปลายจมูกของตัวเอง ลูกตาดำจะเคลื่อนเข้าหากันจนมองดูเหมือนตาเหล่ แต่สำหรับทารกเมื่อเขาขมวดสายตาเพื่อเพ่งจ้องอะไรบางอย่างจนลูกตาดำของเขาเคลื่อนเข้าหากันนั้นไม่ใช่อาการตาเหล่นะคะ
วิธีดูแลทำความสะอาดดวงตาของทารก
1. ทำความสะอาดดวงตาให้ลูกน้อยโดยใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกอุ่น ๆ เช็ดจากหัวตาไปยังหางตา แล้วเปลี่ยนสำลีก้อนใหม่เช็ดตาอีกข้าง ห้ามใช้เช็ดซ้ำกับตาอีกข้างเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อกระจายได้ง่าย
2. ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้ารองนอนให้ลูกบ่อยๆ ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าตา
3. หลีกเลี่ยงพาลูกไปในที่มีแสงจ้ามาก ๆ ฝุ่นควันเยอะ ๆ หรือมีลมแรง
เมื่อได้อ่านข้อมูลข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงคลายความกังวลไปได้บ้างนะคะ อย่างไรก็ตามคุณแม่ ซึ่งมักจะใกล้ชิดลูกมากที่สุดควรตรวจดูพัฒนาการของลูกให้เหมาะสมกับวัย หากเกิดสิ่งผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอนะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก : goodmamee.wordpress.com, doctorvision
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye) เกิดจากอะไร รักษายังไง ลูกเราจะเป็นมั้ย?
ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคตาขี้เกียจ (Lazy eyes)
โรคตาในเด็ก และโรคตาของผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงอายุมีอะไรบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!