ภาวะ ติดเชื้อในกระเเสเลือด (Septicemia) คือภาวะที่เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด จนทำให้ร่างกายเกิดเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) คือภาวะที่เกิดการอักเสบจากตามบริเวณต่างๆ หรือทั่วทั่งร่างกาย จากการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกันและมักจะใช้ในความหมายเดียวกันค่ะ (อ้างอิงจาก หาหมอ)
ติดเชื้อในกระแสเลือด-1
ภัยเงียบที่ต้องเฝ้าระวัง
The National Institute of Health and Care Excellence ออกมาเตือนแพทย์ให้เฝ้าระวังภาวะนี้ ในผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ ภาวะติดเชื้อในกระเเสเลือด หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่ามีภาวะโลหิตเป็นพิษหรือเลือดเป็นพิษ มีความร้ายแรงของโรคขนาดทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่าย แพทย์ควรจะต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยได้
ผู้ป่วยจำนวน 150,000 คน ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แบ่งเป็นเด็กๆ ได้จำนวน 10,000 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 44,000 คน ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีแฝงอยู่ด้วยเนื่องจากคนที่ติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมีจำนวนลดลงไปประมาณ 5,000-13,000 คน ในทุกปี
คุณแม่จึงต้องคิดในแง่ร้ายที่สุดไว้ก่อนเมื่อลูกเจ็บป่วยหรือเกิดการติดเชื้อ เพื่อที่จะได้ให้กุมารแพทย์ตรวจและรักษาได้ทันเวลา
อาการหากติดเชื้อในกระแสเลือด
คุณแม่จำเป็นที่จะต้องดูว่าลูกมีไข้ หนาวสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจแรงหรือไม่ เนื่องจากในบางกรณีอาการเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการช็อคได้จากความดันที่ลดลงอย่างมาก อาการอย่างมึนหัวหรือเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง มีภาวะซีด ริมฝีปากม่วง มือเท้าเริ่มคล้ำลง พูดติดขัดหรือเริ่มไม่ชัด ปวดตามเนื้อตัว ไม่มีการสบตา ซึมลงไปอย่างเห็นได้ชัด หายใจติดขัด ปัสสาวะน้อยลง ก็เข้าข่ายที่จะเป็นได้แล้วนะคะ ให้รีบพาลูกไปหาหมอให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินค่ะ
ติดเชื้อในกระแสเลือด-2
ใครเสี่ยงเป็นได้บ้าง
เด็กและคนชรา คนที่มีร่างกายอ่อนแอ เด็กๆ หรือคนที่เพิ่งผ่าตัดเสร็จ หรือประสบอุบัติเหตุ มีแผลหรือการเจ็บป่วยต่างๆ สามารถเป็นได้ทั้งนั้นค่ะ
คุณพ่อคุณแม่นั้นเป็นคนสำคัญที่สุดที่จะคอยสังเกตอาการ เพื่อแจ้งคุณหมอ และนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้อาการหนักมากขึ้นไปอีกนะคะ
ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คือภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จากนั้นเชื้อแบคทีเรียซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งทำให้ลิ่มเลือดอุดตันการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ การทำงานของอวัยวะส่วนนั้นจึงล้มเหลว ซึ่งถือเป็นอาการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ร้ายแรง ทั้งนี้ อาจมีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดถึงร้อยละ 50 เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว ผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
ติดเชื้อในกระแสเลือด-3
อาการการติดเชื้อในกระแสเลือด
การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจติดเชื้อในกระแสเลือดได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดขึ้นหลังป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งในระยะแรก ทั้งนี้ การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุหรือหลังได้รับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยมักมีอาการเบื้องต้น ดังนี้
- รู้สึกหนาว มือและเท้าเย็นมาก
- ป่วยเป็นไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยบางราย อาการอาจค่อย ๆ เป็นหนักขึ้น และอาจป่วยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย
- หายใจเร็วขึ้น
- ชีพจรเต้นเร็ว
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและปล่อยให้อาการกำเริบ จะปรากฏอาการรุนแรง ดังนี้
- รู้สึกตัวน้อยลง รวมทั้งสับสนจนคิดอะไรไม่ออก
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผิวหนังอาจเกิดจุดหรือแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ โดยรอยช้ำเหล่านี้จะแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง
- ปัสสาวะน้อยลง
- เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก
ทั้งนี้ เด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือด อาการจะแสดงออกไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ โดยเด็กอาจจะตัวเย็นมาก เกิดจุดเป็นหย่อม ๆ และมีสีผิวออกเขียว ๆ หรือผิวซีด หายใจถี่กว่าปกติ รู้สึกเหนื่อยง่ายและซึมลง ปลุกให้ตื่นยาก เมื่อลองกดผื่นบนผิวหนังแล้ว ผื่นนั้นไม่ยอมหายไปตามรอยกด
สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด
การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง โดยทั่วไปแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แบ่งเป็นการติดเชื้อจากปัญหาสุขภาพทั่วไป และภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การติดเชื้อจากปัญหาสุขภาพทั่วไป ปัญหาสุขภาพถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบได้มากที่สุด โดยเชื้อแบคทีเรียจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดทันที ปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้แก่
- โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม
- การติดเชื้อที่ไต
- โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- การติดเชื้อบริเวณท้อง
- ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยกระบวนการทางแพทย์หรือการผ่าตัดนั้น เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดสูง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมักมีลักษณะดังนี้
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผลขนาดใหญ่หรือถูกไฟลวก
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยลูคีเมีย
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉีดสเตียรอยด์ หรือวิธีที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ผู้ที่ต้องสวนปัสสาวะ หรือผู้ที่ถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำ
- ผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- เด็กอายุน้อยมากหรือคนชรา
การวินิจฉัยการ ติดเชื้อในกระเเสเลือด
การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นทำได้ยาก เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อระบุสาเหตุของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงต้องใช้วิธีการตรวจหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนี้
- การตรวจอาการทั่วไป เบื้องต้นแพทย์จะตรวจอาการของผู้ป่วย ประกอบกับดูประวัติการรักษา นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อวัดระดับความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และอาการ หรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด
- การตรวจเลือด แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือด การทำงานที่ตับหรือไต ความสามารถในการลำเลียงออกซิเจน และระดับความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายผู้ป่วย
- การตรวจปัสสาวะ ผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะอักเสบต้องนำตัวอย่างปัสสาวะให้แพทย์ตรวจ เพื่อดูการติดเชื้อของแบคทีเรีย
- การตรวจสารคัดหลั่งจากบาดแผล หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บและเกิดแผลติดเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบาดแผลมาตรวจ เพื่อช่วยในการจ่ายยาปฏิชีวนะให้สามารถรักษาการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ หากผู้ป่วยเกิดอาการไอและมีเสมหะด้วย แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำมูกหรือเสมหะ โดยการตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
- การตรวจด้วยภาพสแกน วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจสภาพของอวัยวะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจด้วยภาพสแกนประกอบด้วย
- เอกซเรย์ ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอดควรได้รับการเอกซ์เรย์ โดยวิธีนี้จะช่วยแสดงสภาพของปอดชัดเจนขึ้น
- อัลตราซาวด์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ถุงน้ำดีหรือรังไข่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงเพื่อช่วยสร้างภาพออกมา
- ซีทีสแกน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ลำไส้ ตับอ่อน หรือไส้ติ่ง ควรตรวจด้วยการทำซีที สแกน โดยแพทย์จะนำภาพเอกซเรย์จากหลายมุมมารวมกันเพื่อให้เห็นภาพรวมโครงสร้างของอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ
- เอ็มอาร์ไอ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อตรงเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เกิดฝีที่กระดูกสันหลัง ควรตรวจด้วยการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะช่วยระบุบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อนติดเชื้อได้ โดยแพทย์จะใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กไฟฟ้าในการประมวลภาพสแกนของโครงสร้างอวัยวะภายในออกมา
การรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด
หากการติดเชื้อในกระแสเลือดส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยอาจต้องเข้ารับการรักษาและพักฟื้นร่างกายที่หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก ทั้งนี้ วิธีรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อายุ สุขภาพด้านต่าง ๆ ลักษณะอาการของผู้ป่วย และความอดทนต่อฤทธิ์ยา หากเกิดการอักเสบภายในร่างกาย ส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตัน ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อกระตุ้นให้หายใจได้ปกติและหัวใจกลับมาทำงานเหมือนเดิม โดยวิธีรักษาประกอบด้วยการรักษาด้วยยา การดูแลตามอาการของผู้ป่วย และการผ่าตัด ดังนี้
- การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจะได้รับยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจะได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมหลายประเภท เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อได้อย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาอันสั้น อีกทั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะที่คาดว่ามีผลในการรักษาผู้ป่วยเข้าหลอดเลือดดำภายใน 6 ชั่วโมงแรกหรือเร็วกว่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้ผลตรวจเลือดแล้ว แพทย์จึงจะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาประเภทของเชื้อได้เฉพาะเจาะจง โดยจะเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะแบบเม็ดให้ผู้ป่วยหลังจากระยะวิกฤตผ่านไปแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาในช่วงระยะเวลา 7-10 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย
- การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ทั้งนี้ สารน้ำที่ให้แก่ผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อในกระแสเลือดจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและไตล้มเหลว โดยแพทย์จะให้สารน้ำภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
- ยาเพิ่มความดันโลหิต ผู้ป่วยบางรายหากยังมีความดันโลหิตต่ำอยู่หลังจากได้รับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ แพทย์อาจให้ยาเพิ่มความดันโลหิต โดยยานี้จะทำให้หลอดเลือดตีบลงและช่วยเพิ่มความดันโลหิต
- การดูแลผู้ป่วยตามอาการ ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอาจจำเป็นต้องต่อท่อหรือใส่หน้ากากเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- การผ่าตัด หากต้นเหตุของการติดเชื้อมากจากฝีหรือแผลที่ทำให้ลุกลามได้นั้น อาจต้องเจาะเอาหนองออกมา ส่วนผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อออกไป และรักษาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหาย
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อในกระแสเลือด
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาทันที ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยการติดเชื้อในกระแสเลือดก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated Intravascular Coagulation, DIC) หรือภาวะดีไอซี ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดภาวะเลือดในหลอดเลือดแข็งตัวได้ โดยจะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดเล็กที่อยู่ทั่วตามร่างกาย
- ต่อมหมวกไตล้มเหลว ต่อมหมวกไตอยู่เหนือไต ทำหน้าที่ผลิตอะดรีนาลีน สเตียรอยด์ และสารสื่อประสาทอื่น ๆ ที่สำคัญต่อร่างกาย หากผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด อาจทำให้การทำงานของต่อมหมวกไตล้มเหลวได้
- อวัยวะทำงานผิดปกติ นอกจากภาวะแทรกซ้อนตามที่กล่าวมาแล้ว การติดเชื้อในกระแสเลือดยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายอีกด้วย กล่าวคือ อวัยวะหลายส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานของหัวใจ ปอด และไต
- ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome, ARDS) ภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงปอดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังทำให้ปอดเสียหายถาวร และส่งผลกระทบต่อสมองจนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความจำ
การป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด
สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่มีไข้หรือสงสัยว่าได้รับเชื้อแบคทีเรียควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาทันที หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทันเวลา จะช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าสู่กระแสเลือด และไม่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ พ่อแม่ช่วยดูแลลูกไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อบางประเภทได้ โดยพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้โดยปฏิบัติ ดังนี้
- งดสูบบุหรี่
- เลี่ยงใช้สารเสพติด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ระวังเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ
ที่มาจาก : https://www.pobpad.com/
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อุทาหรณ์! โดนญาติเห่อทั้งอุ้มทั้งหอม ลูกป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด
น้ำตาลในนมเเม่ ป้องกันลูกน้อยเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!