คิดให้ตกก่อนคลอด 8 เรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนคลอด ไม่งั้นอาจสายเกินไป
คิดให้ตกก่อนคลอด 8 เรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนคลอด ไม่งั้นอาจสายเกินไป เพราะอีกไม่นานเมื่อคุณแม่จะคลอดแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้เสมอไปค่ะ
1.เลือกสูติแพทย์
สำหรับคุณแม่บางคนนั้นเลือกตั้งแต่คุณหมอที่ฝากครรภ์ และส่วนใหญ่จะคลอดกับคุณหมอคนนั้นเลย แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่สะดวกฝากครรภ์กับคุณหมอที่ตั้งใจว่าจะคลอดด้วย ก็มีเหมือนกันค่ะ แต่นอกจากนั้น ควรจะเช็คให้แน่ใจว่าช่วงที่ใกล้คลอดและช่วงที่กำหนดคลอด คุณหมอไม่ได้มีกำหนดการเดินทางไปไหน สามารถมาทำคลอดให้คุณแม่ได้ แต่ก็อย่าลืมวางแผนสำรองไว้ด้วยนะคะ ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจค่ะ
นอกจากนี้การเลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเลือกไว้เนิ่นๆ ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง หากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองหรือโซนรถติด ควรมีแผนสำรองไว้ล่วงหน้าเลยว่า หากคุณแม่ปวดท้องคลอดในช่วงที่รถติดหนักมาก อย่างตอนเช้าและตอนเย็นนั้น จะสามารถเปลี่ยนไปคลอดที่โรงพยาบาลอื่นได้หรือไม่นะคะ
อีกเรื่องคือการเลือกโรงพยาบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการให้นมแม่ หรือจะยิ่งดีหากมีศูนย์นมแม่ หรือคลินิกนมแม่อยู่ในโรงพยาบาลเลย เพื่อที่ว่าคุณแม่จะได้รับการดูแลในเรื่องการให้นมที่ถูกต้อง และแก้ปัญหาในการให้นมต่างๆ ได้เลยค่ะ
2.การให้นมแม่
สำหรับเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ การให้นมแม่นะคะ ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ เด็กทารกควรกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้นหากคุณแม่สามารถให้นมแม่ได้ต่อเนื่องก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องที่อาจเป็นปัญหาที่คุณแม่ต้องตรวจสอบอยู่
เช่น คุณแม่มีโรคประจำตัวอะไรบ้างที่ต้องกินยาประจำ และสามารถให้นมแม่ได้หรือไม่ คุณแม่มีหัวนมแบบไหน ถ้าหัวนมบอด ควรจะต้องรีบแก้ไขให้ทันก่อนการคลอด เป็นต้นค่ะ นอกจากนี้ในระหว่างการรอคลอดคุณแม่สามารถหาข้อมูลการให้นมแม่ และการแก้ไขอาการต่างๆ ไปก่อนได้นะคะ เนื่องจากพอถึงเวลาเป็นจริงๆ จะได้รับมือได้ทันท่วงที ไม่ต้องกังวลหรือเสียเวลามานั่งหาข้อมูลอีกรอบค่ะ
3.การขลิบ
ก็ค่อนข้างเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นนะคะ กับเรื่องการขลิบตั้งแต่แรกเกิดให้กับลูกชาย เพราะข้อดีก็ของการขลิปหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศก็มีไม่น้อย ตั้งแต่ง่ายต่อการทำความสะอาดกและไม่หมักหมม ลดความเสี่ยงจากการติดเชื่อทางเดินปัสสาวะ ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเริมและ HPV อีกด้วยค่ะ แต่ในทางกลับกันก็มีประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องของการไวต่อการสัมผัส และการละเมิดสิทธิเช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดต่อลูกนะคะ
4.การยืดเวลาตัดสายสะดือ
ข้อดีของการรอสัก 2-3 นาที ก่อนที่จะตัดสายสะดือหลังคลอด ปล่อยให้เลือดที่ค้างอยู่ในสายสะดือไหลออกจากรกไปหาลูกน้อย ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพของเจ้าตัวเล็กค่ะ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจางในช่วงหกเดือนแรกได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการแนะนำจาก American Congress of Obstetricians and Gynecologists ว่าใหตัดสายสะดือช้าออกไปอย่างน้อย 30-60 วินาที ดังนั้นควรจะคุยกับคุณหมอก่อนที่จะคลอดลูกค่ะ ว่าคุณแม่ต้องการแบบไหน หรืออาจจะขอคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติมได้เช่นกัน
5.การเก็บเซลล์ต้นกำเนิด
หรือที่เรียกว่า cord blood พ่อแม่หลายคนเลือกที่จะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเลือดที่เหลืออยู่ในสายสะดือและรกของลูก เพื่อใช้รักษาหรือประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆ ในอนาคต นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดสินใจก่อนคลอดค่ะ เนื่องจากโดยปกติแล้วจะต้องใช้อุปกรณ์ในวันที่คลอดเลย หรือในอีกทาง คุณพ่อคุณแม่อาจจะตัดสินใจว่าต้องการบริจาคให้กับผู้ป่วยที่ต้อง หรือเก็บไว้กับโรงพยาบาลเผื่อมีกรณีที่ต้องการใช้ก็ได้นะคะ
6.ทำยังไงกับรก
อย่าลืมว่ามีคุณแม่บางคนที่ยังต้องการกินรกตัวเองอยู่นะคะ สำหรับคุณแม่ที่ไม่กินคงไม่มีอะไรจะต้องบอกกับคุณหมอหรือตกลงกับทางโรงพยาบาลค่ะ แต่สำหรับคุณแม่ที่ต้องนำรกของตัวเองกลับไปกินนั้น อาจจะต้องคุยกับคุณหมอก่อน เพื่อปรึกษาและตกลงกับคุณหมอหรือทางโรงพยาบาลว่า จะเก็บรักษารก ขนส่ง และนำกลับบ้านยังไงดี
7.ยาปฏิชีวนะ
เช่น การใช้ยา erythromycin เพื่อหยอดตาเด็กแรกเกิดเพื่อป้องกันเยื่อตาอักเสบ การให้วิตามินเคกับเด็กแรกเกิดเพื่อลดภาวะเลือดออกได้ง่าย แต่ทั้งนี้บางโรงพยาบาลคุณแม่อาจจะปฏิเสธการใช้ยากับลูกได้ถ้าต้องการค่ะ
8.วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ปกติแล้วเด็กทารกจะได้รับการฉีดวัคซีนพร้อมกับการได้รับวิตามินเคค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่จะเลือกให้เว้นระยะออกไปหน่อยก็ทำได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องบอกคุณหมอเอาไว้เบื้องต้นนะคะ
ที่มา fitpregnancy
บทความที่น่าสนใจ
ตรวจครรภ์ก่อนคลอด สำคัญนะ!!! แม่ท้องแก่อย่าละเลย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!