สำหรับ คนท้องเหนื่อยง่าย ถือเป็นเรื่องปกติมากเลยค่ะ เพราะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จะทำงานหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหัวใจจะทำงานมากขึ้นมา 50% และเม็ดเลือดแดงก็นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เหนื่อยได้ง่ายแม้ไม่ได้ทำงานหนัก รวมทั้งคุณแม่ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจากสรีระของร่างกายที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้คุณแม่เหนื่อยและอ่อนล้าได้ง่ายเช่นเดียวกันค่ะ
คนท้องเหนื่อยง่าย เกิดจากอะไร
อาการเหนื่อยง่ายของคนท้องที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากเกินไป ซึ่งเป็นอาการปกติของคนท้องค่ะ ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอะไรอีกบ้างมาดูกันค่ะ
1. ขาดธาตุเหล็ก
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่เหนื่อยง่ายบ่อย ๆ ก็เป็นเพราะว่าขาดธาตุเหล็กหรือเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอก็ทำให้เลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มากพอ ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่าย บางครั้งก็มีอาการใจสั่น และตัวซีดด้วย
2. นอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับของคุณแม่ หรืออาการนอนไม่พอที่ติดต่อกันหลาย ๆ วันก็มีผลด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไป หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน อันเป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวาน
3. โรคเบาหวาน
สำหรับคนท้องที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย จะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียได้ง่ายเช่นกัน บางครั้งก็รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ๆ ปัสสาวะบ่อย หรือน้ำหนักตัวที่ลดน้อยลง ดังนั้น ถ้าคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและลูกในท้อง
4. ยารักษาโรค
ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นกัน เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยาระงับอาการปวด ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยง่ายได้ค่ะ
5. ระบบเผาผลาญร่างกาย
กระบวนการเผาผลาญพลังงานหรือเมตาบอลิซึมที่ต่ำกว่าปกติ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า รวมถึงอาจแสดงถึงภาวะขาดไทรอยด์ ส่วนกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงกว่าปกตินั้นอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย และเป็นอาการจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ค่ะ
6. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
เมื่อคุณแม่มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการทานยามากเกินไป ไตเสื่อม หรือไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา โดยระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามอาการค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมท้องแล้วขี้เกียจ คนท้องนอนเยอะ เหนื่อยง่าย หิวง่าย ผิดปกติหรือเปล่า?
วิธีรับมือกับอาการคนท้อง เหนื่อยง่าย
อาการของคนท้องเหนื่อยง่าย และรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นในช่วงระยะ 8-10 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์ เพราะว่าการตั้งครรภ์เริ่มทำให้เกิดกระบวนการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น พลังงานถูกใช้ออกไปเลยทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ และอาการของคนท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 และเพื่อช่วยให้ร่างกายของคุณแม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ
- หาเวลางีบหลับในระหว่างวันสัก 1-2 ชั่วโมง
- ไม่เข้านอนดึก ควรนอนแต่หัวค่ำ เพื่อให้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอต่อวัน
- คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะการทานอาหารที่ดี และเพียงพอต่อร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น และไม่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากพลังงานที่ถูกเผาผลาญไป
- หากคุณแม่มีลูกเล็ก ๆ ที่ยังคงต้องดูแล ก็ควรหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระลงไปบ้าง เพื่อจะได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้คนท้องเหนื่อยง่ายจนเกินไป
อาการของคุณแม่แบบไหนที่ต้องระวัง ?
แม้ว่าคนท้องจะเหนื่อยง่าย และมีอาการอ่อนเพลียจะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ทัน เพราะอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคโลหิตจางได้ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการตั้งครรภ์เลยค่ะ ดังนั้น หากมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับอาการอื่น ๆ เหล่านี้ คุณแม่จะต้องเริ่มดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ด้วยการทานอาหารคนท้องที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น ตับ เนื้อไม่มีมัน ข้าวกล้อง ผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดูแลตัวเอง ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ว่าอาการคนท้องเหนื่อยง่ายที่เป็นอยู่นั้นปกติหรือไม่ประกอบด้วยค่ะ
คนท้องเหนื่อยง่าย ของแต่ละไตรมาสต่างกันยังไง ?
-
ไตรมาส 1
ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีสูงขึ้นมากกว่าปกติ จึงทำให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ หรือบางครั้งก็ทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก ๆ แต่หลับไม่สนิท หรือคุณแม่นอนกลางวันมากเกินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลากลางคืนไม่รู้สึกง่วงก็ได้ค่ะ
-
ไตรมาส 2
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 อาการอ่อนเพลีย ง่วงบ่อยจะลดน้อยลง แต่คุณแม่บางคนอาจยังเพลียอยู่เพราะว่า การดิ้นของลูกในท้อง ทำให้พักผ่อนได้น้อยลง ประกอบกับช่วงไตรมาสนี้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายของคุณแม่ยังคงสูงอยู่ เพราะฉะนั้น คุณแม่อาจจะนอนไม่หลับได้เช่นเดียวกันค่ะ
-
ไตรมาส 3
ช่วงใกล้คลอดในไตรมาส 3 อาการอ่อนเพลียอาจกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการขยายใหญ่ของหน้าท้อง จึงทำให้รู้สึกแน่นท้อง เสียดท้อง รู้สึกปวดหลัง ตึงเกร็ง ไม่สบายตัว ทำให้นอนลำบาก หรือปวดปัสสาวะจนทำให้คุณแม่ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ทำให้มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และมาง่วงช่วงกลางวันแทน
อาการเหนื่อยง่ายของคุณแม่ อาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทุกคน การดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการเสริมวิตามินจำเป็น เช่น โฟลิก (Folic Acid) วิตามินรวม และธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้เช่นเดียวกัน เมื่อคุณหมอให้วิตามินบำรุงสำหรับคนท้องมา คุณแม่ควรกินเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีรับมือลดอาการอ่อนเพลียระหว่างตั้งครรภ์
เตรียมรับมือ! 4 อาการแม่ท้องแก่ไตรมาสสุดท้าย
คนท้องหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก อันตรายต่อลูกในท้องไหม?
ที่มา : Pobpad., Enfababy, Gedgoodlife