ก้างติดคอ ทําไง
ก้างติดคอ ทําไง วิธีแก้ก้างติดคอ เอาแมวมาเขี่ยคอ ดื่มน้ำมะนาว หรือกลืนข้าวคำโต ทำแบบนี้ลูกจะหายหรือไม่
วิธีแก้ก้างติดคอ ทําไง
ก้างปลาติดคอลูกทำอย่างไรดี?
ก้างปลาติดคอเป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะในครอบครัวที่ชอบทานปลา ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดหรือความเชื่อแต่โบราณที่ว่า
- ติดคอให้เอาแมวมาเขี่ยคอ
- กินข้าวหรือข้าวเหนียวคำใหญ่ ๆ
- ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำมะนาวเยอะ ๆ เพื่อให้ก้างปลาหลุดไป
ซึ่งล้วนเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้ช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาแต่อย่างใด อีกทั้งการกลืนข้าวหรือข้าวเหนียวคำใหญ่อาจยิ่งทำให้ก้างตำลึกลงไป หรือเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ในที่ ๆ เป็นอันตรายได้มากขึ้น เรามาดูกันนะคะว่าหากลูกก้างปลาติดคอควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นการดูแลที่ถูกต้องและไม่เป็นอันตราย
ก้างปลาติดคอลูก
“ก้างปลา” ก็คือกระดูกของปลาซึ่งแข็ง มีปลายแหลม มีส่วนประกอบหลักคือ แคลเซียม มีขนาดและความยาวที่แตกต่างกันตามชนิดของปลา ในผู้ป่วยที่ก้างปลาติดคอจะสามารถไปติดอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ในคอ เช่น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอหอย โคนลิ้น ฝาปิดกล่องเสียง โดยมักจะไปติดที่บริเวณต่อมทอนซิล บริเวณส่วนฐานของลิ้น ซึ่งมักสามารถมองเห็น และสามารถนำออกมาจากบริเวณที่โดนตำได้ง่าย
แต่บางครั้งก้างปลาอาจตำลึกลงไปที่บริเวณหลอดอาหาร ซึ่งอาจไม่สามารถมองเห็นได้และการนำก้างปลาออกมาทำได้ยาก จนเกิดแผลและการอักเสบแก่อวัยวะภายในที่โดนตำรวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียง หากปล่อยทิ้งไว้อาจมาซึ่งความรุนแรงจนเกิดการทะลุของหลอดอาหาร เกิดภาวะแทรกซ้อนจากบาดแผล และการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น ฝีในคอ มีหนองในช่องอกและเยื่อหุ้มหัวใจ ฝีในปอด ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
ลูกก้างติดคอหาหมอดีที่สุด
สิ่งที่ควรทำเมื่อก้างปลาติดคอ ไม่ว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่ คือ ควรไปพบคุณหมอเพื่อให้ช่วยเอาออก เบื้องต้นคุณหมอจะสอบถามอาการและตรวจร่างกาย หากสามารถมองเห็นก้างปลาในคอได้ชัดเจนคุณหมอก็จะนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยหยิบหรือคีบออกไป แต่หากไม่สามารถมองเห็นก้างปลาได้จากภายนอก คุณหมออาจพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์ธรรมดาเพื่อดูตำแหน่งของก้างปลาในคอและช่องอกก่อน หากไม่เห็นชัดเจนหรือสงสัยว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณหลอดอาหารและท้อง หรืออาจส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปากเพื่อส่องดูบริเวณคอหอยและหลอดอาหาร และใช้เครื่องมือที่เหมาะสมนำก้างปลาออกมา
ทั้งนี้ หากไม่สามารถเห็นตำแหน่งของก้างปลาจากการตรวจเอกซเรย์ธรรมดาหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บในบริเวณคออยู่ คุณหมอจะนัดมาติดตามอาการภายใน 24 ชั่วโมง หากอาการหายไปก็อาจเพราะก้างปลาอาจหลุดผ่านหลอดอาหารลงไปในระบบย่อยอาหารแล้ว แต่หากอาการยังมีอยู่คุณหมออาจพิจารณาส่องกล้องเพื่อหาตำแหน่งของก้างปลาให้เจอและแน่ใจว่าไม่ได้เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่ออื่นค่ะ
ก้างปลาติดคออาจไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม หากลูกก้างปลาติดคอก็ควรไปพบคุณหมอให้ช่วยเอาออกดีกว่านะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกขาดวิตามิน ลูกขาดสารอาหาร ลูกไม่กินข้าว อาหารเสริม ทารกขอกินแต่นม ทั้งที่ถึงวัยต้องเสริมอาหารแล้ว
วิธีเลี้ยงลูกให้แข็งแรง อาการป่วยเด็กเล็ก เด็กโต การดูแลลูกให้แข็งแรงฉลาดสมวัย ไอคิวดี อารมณ์แจ่มใส
สัญญาณอันตรายของเด็ก วัยแรกเกิด -11 ปี ลูกมีอาการแบบนี้ ควรพบแพทย์ด่วน
Tip เลี้ยงลูกให้สมองดีทำได้ไม่ยาก