คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยวัย 0 – 1 ปี นั้น อาจจะยังไม่ได้คิดคำนึงถึง การปรับตัวในสังคมภายนอก สำหรับลูกน้อยเป็นแน่ นั่นเป็นเพราะด้วยอายุของลูก และยังไม่เห็นถึงความจำเป็นสำหรับเด็กในวัยนี้
ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เราสามารถฝึกพัฒนาการเพื่อ การปรับตัวในสังคมภายนอก ให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังแบเบาะจากวิธีการฝึกง่าย ๆ เพื่อให้เจ้าตัวน้อย สามารถมีพัฒนาการ และภูมิต้านทานในการปรับตัวเพื่อเข้ากับสังคมเมื่อถึงวัยที่สมควร
เราควรฝึกลูกน้อยอย่างไร?
ในช่วงที่ลูกน้อยเริ่มก้าวเข้าสู่วัย 6 เดือน การพัฒนาทางด้านร่างกายก็จะก้าวกระโดดมากเป็นลำดับ ลำตัวของเด็กจะเริ่มใหญ่ขึ้น การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ก็จะพัฒนาไปตามลำดับ เช่น การเริ่มหัดกำมือ แบมือ หยิบจับสิ่งของที่ต้องการ สามารถพลิกคอไป – มา เริ่มมองตามสิ่งต่าง ๆ แม้การพัฒนาในช่วงนี้จะยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก แต่การฝึกที่ดีคือการสร้างพื้นฐานการเข้าสังคมให้กับลูกน้อยได้ในอนาคต
การสอนให้เด็กเข้ากับคนอื่น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญกับตัวเด็กเป็นอย่างมาก หากมีการเตรียมพร้อม และฝึกให้เด็กจนเป็นนิสัยที่ปลูกฝัง จะทำเด็กสามารถเติบโต และปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก ได้อย่างมั่นใจ และมีประสิทธิภาพเมื่อโตขึ้น
สอนลูกให้เล่นและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น
เราควรฝึกลูกน้อยให้รู้จักมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งเด็กในวัยเดียวกันก็ตาม การฝึกนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคมแล้ว ยังสามารถสร้างการพัฒนาทางด้านภาษา และเสริมให้เกิดความมั่นใจของเด็ก เมื่อจะต้องพบเจอกับสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สามารถสอนอะไรกับเด็กวัยนี้ได้บ้าง
- การสอนให้รู้จักแบ่งปันสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังแบเบาะ ด้วยการขอสิ่งของในมือของลูก ให้ลูกรู้จักที่จะหยิบยื่นให้ เช่น หากลูกจับถือของเล่นอยู่ ให้เราพูดว่าขอคุณแม่ได้มั้ยคะ? แล้วดึงจากมือเบา ๆ สังเกตว่าลูกยอมปล่อยมือจากของเล่นชิ้นนั้นหรือไม่ ไม่ควรที่จะกระชากออกจากมือเด็ก เพราะจะทำให้เด็ก เกิดทัศนคติที่ไม่ดีเมื่อมีใครมาขอของจากเขา
- พยายามไม่ให้เล่นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ หลาย ๆ บ้าน มักจะให้ลูกน้อย ได้ดูโทรทัศน์ ไอแพด หรือมือถือ เพื่อดึงดูความสนใจของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การเกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง ในกรณีที่ลูกยังเล็กอยู่ การที่ผู้ปกครองให้ความสนใจกับอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้ละเลยการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก
- ฝึกให้รู้จักทักทาย พูดคุย เช่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกออกไปนอกบ้าน ให้ลูกรู้จักที่จะทักทาย สวัสดี และพูดจาไพเราะ ไม่โหวกเหวกโวยวาย แม้ในช่วงวัยนี้เด็กจะยังไม่สามารถพูดออกมาเป็นประโยคได้ แต่เด็กสามารถซึมซับได้ว่า เมื่อเจอผู้อื่น ควรที่จะพูดจาทักทาย และพูดจาอย่างอ่อนโยน
- ให้เด็กรู้จักการรอ การให้อภัย เช่น หากเด็กร้องอยากให้อุ้ม ควรบอกให้เด็กหยุดร้องก่อน แล้วซักพักจึงค่อยอุ้มเค้าขึ้น ซึ่งในช่วงขวบปีเด็กจะสามารถเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และสามารถปฏิบัติตามได้บ้างแล้ว
- ฝึกให้เด็กเข้าใจว่าการมีมารยาทที่ดีนั้น จะต้องทำทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
สอนลูกให้แสดงความรู้สึกของตัวเองในทางที่ถูกต้อง
- สอนให้ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ คือให้รู้เท่าทันอารมณ์ ถึงแม้ว่าในวัยนี้ เด็กจะยังไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ แต่ลักษณะการพูดของคุณพ่อ คุณแม่ น้ำเสียง และท่าทาง จะเป็นสิ่งที่เด็กจะสามารถสัมผัสรับรู้ และเรียนรู้ได้เช่นกัน เช่น หากโดนเพื่อนแย่งของเล่นไปจากมือ แล้วลูกของเราร้องโวยวาย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะทำคือการ เข้าไปปลอบโยน โดยการพูด และใช้มือแตะไปที่ตัวเด็กเบา ๆ รอให้เด็กสงบลงจากการโวยวายซักนิด แล้วจึงค่อย ๆ พูดว่า แบ่งให้เพื่อนเล่นนะครับ / นะคะ หนูยังมีอย่างอื่นให้เล่นอีกเยอะแล้ว แล้วเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปหาของเล่นชิ้นอื่น หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ รีบเข้าไปอุ้มแล้วแย่งของคืนมาให้เด็ก เด็กจะเรียนรู้ว่า การที่เด็กร้องโวยวาย เมื่อถูกขัดใจ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ควรจะระวังเป็นพิเศษนะคะ
- ลูกมีอารมณ์รุนแรง เมื่อลูกน้อยมีอารมณ์รุนแรง สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ไม่ควรทำคือการ ห้าม ดุ ด่า ว่า หรือตี เด็ดขาด ในทางกลับกันควรที่ไปอยู่ข้าง ๆ รอเค้าสงบแล้วจึงค่อย ๆ อธิบาย คอยถามว่า ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรงแบบนี้เพราะอะไร แม้ว่าลูกน้อยจะยังไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ แต่สิ่งที่สื่อสารจากพ่อแม่ ทำให้เด็กน้อยสามารถเรียนรู้ที่จะอารมณ์เย็นขึ้น
สอนลูกให้รู้จัก “รัก” ในตัวเองและผุ้อื่น
สิ่งนี้ควรจะปลูกฝังตั้งแต่สถาบันครอบครัว เมื่อเด็กได้รับความรักมากเพียงพอ เด็กก็จะสามารถเผื่อแผ่ความรักความห่วงใยไปให้คนรอบข้างด้วยเช่นกัน
- แสดงออกถึงความรักกับลูกให้ชัดเจน เช่น การบอกรัก หอมแก้ม กอด
- พยายามหลีกเลี่ยงการดุ ไม่ควรว่าเด็กว่า ดื้อ ซน นิสัยเสีย เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่รักเขา
- ชื่นชมลูก เมื่อลูกทำดี ทำถูกต้อง หรือทำสิ่งนั้น ๆ ได้ อย่างเหมาะสม ไม่ควรที่จะชมลูกพร่ำเพรื่อ
- ฟังลูกให้เยอะขึ้น แม้ว่าช่วงวัยนี้ลูกจะไม่สามารถพูดสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจน แต่การหยุดฟัง ก็จะทำให้ตัวเด็กสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่
- ให้ลูกฝึกทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ต้องคอยช่วยตลอดเวลา เช่น ลูกพยายามยันตัวเพื่อลุกขึ้นยืน หรือการเหยียดมือเพื่อหยิบจับสิ่งของที่ต้องการ
ฝากเลี้ยงที่เนอสเซอรี่
สำหรับเด็กที่ได้รับการดูแลจากสถานฝากเลี้ยง หรือเนอสเซอรี่ เด็กจะมีพฤติกรรมในการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมอย่างอัตโนมัติ เนื่องจากเด็กจะได้พบเจอกับคนอื่น ๆ หลากหลาย อีกทั้งทางสถานรับฝากเลี้ยงเด็กเล็กเหล่านี้ จะมีวิธี หรือขั้นตอนการฝึกการเรียนรู้อย่างมีขั้นมีตอน ตามหลักสูตรสอนสถานรับเลี้ยงเด็กเหล่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณพ่อ – คุณแม่ ในช่วงที่เลือกสถานที่ที่จะฝากเลี้ยงลูกเมื่อคุณพ่อและคุณแม่ต้องออกไปทำงานนั่นเอง
ที่มา : Dr.Panthita Phuket Pediatrician
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หลักการเลือกเนอสเซอรี่ : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
ลูกร้องไห้แบบไหนไม่ปกติ 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 70
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!