เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในช่วงแรก คุณแม่จะมีอาการเหมือนคนท้องตามปกติ นั่นคือ ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย ง่วงนอน ปัสสาวะบ่อย และคัดตึงเต้านม ฯลฯ และเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป จะเริ่มมีเลือดสีน้ำตาลออกทางช่องคลอด หรือบางครั้งออกมาเป็นเลือดสีแดงสดเป็นระยะ ต่อมาผู้ป่วยอาจจะมีอาการแสดงถึงภาวะการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมากขึ้น ดังนี้
อาการที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
- มีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจมีเนื้อเยื่อใสๆ ออกมาด้วย เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
- มีเม็ดใสๆ ที่ลักษณะคล้ายเม็ดสาคูออกมาจากช่องคลอด
- ขนาดของมดลูกจะโตกว่าอายุครรภ์จริงคล้ายการตั้งครรภ์แฝด
- มีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงกว่าการตั้งครรภ์ปกติหลายเท่า
- แม่ท้องจะรู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลียอย่างมาก มีอาการปวดท้องและผิวหนังสีซีด
- มีอาการใจสั่น มือสั่น ซึ่งอาจมีต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย
- มีอาการปวดศีรษะ แขน ขาบวม มีความดันโลหิตสูงขึ้น
- มีอาการครรภ์เป็นพิษ คือ มีความดันโลหิตสูงเมื่ออายุครรภ์ ก่อน 20 สัปดาห์ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Beta hCG/ Human chorionic gonadotropin hormone) สูงเกินไป (โดยทั่วไปหากเป็นการตั้งครรภ์ปกติอาการครรภ์เป็นพิษจะเกิดขึ้นได้เมื่ออายุครรภ์มากแล้ว)
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมีสาเหตุเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์ไข่ปลาอุก อ่านหน้าต่อไปคลิก
สาเหตุของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
สาเหตุที่แท้จริงของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกยังไม่ทราบเหตุที่ชัดเจน พบว่าไข่ของฝ่ายหญิงขาดโครโมโซมเพศ (โครโมโซมX) เมื่อถูกผสมด้วยเชื้ออสุจิทำให้โครโมโซมของตัวอ่อนจะเป็นโครโมโซมที่มาจากฝ่ายชายทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวอ่อนหรือทารกที่สมบูรณ์ได้
ครรภ์ไข่ปลาอุกทำให้เกิดอันตรายได้หรือไม่
โดยมากตั้งการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดต่อเนื่อง ซึ่งหากเลือดออกครั้งเดียวแต่ออกมากอาจทำให้คุณแม่ท้องช็อกหมดสติได้ แต่หากเลือดออกทีละน้อยโดยผู้ป่วยไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ ก็จะส่งผลทำให้โลหิตจางได้ ซึ่งการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก สามารถลุกลามแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก (Invasive mole) ทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยวิธีการดูดโพรงมดลูกร่วมกับให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลักเพื่อเก็บมดลูกไว้ตั้งครรภ์ ในรายที่มีบุตรเพียงพอแล้วสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกออกได้ ที่สำคัญการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกยังอาจกลายไปเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งของเนื้อรกได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก
- ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- ในผู้หญิงที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
- ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
- ในผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการจะตั้งครรภ์ให้มีคุณภาพ ควรต้องตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ หรือหากเมื่อตั้งครรภ์ไปแล้ว และพบว่าตัวเองมีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพเกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้วินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามสำหรับการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกถึงแม้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก็ตาม แต่การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลาก็ช่วยลดการเกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นได้นะ
ตรวจสอบความถูกต้อง : นายแพทย์เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อาการท้องแข็ง เรื่องน่ากังวลขณะตั้งครรภ์
โรคภูมิแพ้ในแม่ท้อง เสี่ยงต่อความผิดปกติของลูกในครรภ์หรือไม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!