จัดฟัน เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ว การจัดฟันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำเพื่อความสวยงามหรือว่าเป็นเเค่เพียงแฟชั่น เราจะมาดูกันว่า ทำไมถึงต้องจัดฟัน ประโยชน์ของการจัดฟันคืออะไร
การจัดฟันคืออะไร
จัดฟัน คือ การเคลื่อนที่หรือยึดตำแหน่งของฟัน เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานหรือลักษณะของฟัน ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลสุขภาพเหงือกและฟันได้ในระยะยาว ทำให้เราทานอาหารและขบเคี้ยวได้สบายมากขึ้น โดยในขณะที่เราใส่เหล็กจัดฟันนั้น ฟันของเราจะได้รับแรงกดทับจากเหล็ก และเคลื่อนไปตามลักษณะการวางของเหล็กจัดฟัน ซึ่งแรงกดทับดังกล่าวนี้ จะทำให้ลักษณะกรามของเราเปลี่ยนไป เพื่อให้รากฟันและฟันเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม คนที่จัดฟัน จะต้องใส่รีเทนเนอร์หลังจากที่ถอดเหล็กจัดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อนกลับสู่ตำแหน่งเดิมที่เคยอยู่ในตอนต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้องมะลิจัดฟัน ลูกแม่โบว์ แวนด้า จัดฟันแต่เด็ก เด็ก 6 ขวบก็จัดฟันได้แล้วหรอ
ใครจัดฟันได้บ้าง
ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการจัดฟันมากที่สุด คือ ช่วงวัยเด็ก แต่เด็ก ๆ อาจจะต้องรอให้ฟันขึ้นครบทุกซี่ หรืออยู่ในสภาพที่พร้อมเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่หลายคนก็จัดฟันกัน เพื่อรักษาหรือปรับรูปร่างฟันของตัวเอง ดังนั้น อายุจึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดฟัน ซึ่งก่อนจัดฟัน คนไข้จะต้องเข้าปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาแผนการรักษา แต่บางคนที่เป็นโรคเหงือกรุนแรง ก็อาจจะไม่สามารถจัดฟันได้
เหล็กจัดฟันส่วนใหญ่นั้น ทำจากโลหะ แต่ก็มีบางชนิดที่ทำจากเซรามิกหรือพลาสติก เพื่อให้สวมใส่ได้สบาย โดยขณะที่เราใส่เหล็กจัดฟัน อาจจะรู้สึกว่าปวดฟันในช่วงที่ฟันเริ่มเคลื่อน หรืออาจจะรู้สึกปวดในช่วงที่ใส่เหล็กจัดฟันใหม่ ๆ แต่หากใส่เหล็กจัดฟันไปสักระยะหนึ่ง หรือเริ่มชินแล้ว อาการปวดเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หายไป
โดยทั่วไป คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟันและเหงือก ที่ควรเข้ารับการจัดฟัน มีดังนี้
- คนที่เป็นฟันคุด หรือคนที่มีฟันซ้อน ฟันเก
- คนที่มีฟันห่าง หรือคนที่มีฟันน้อยเกินไป
- คนที่มีฟันบนด้านหน้า ยื่นออกมามาเกินไป
- คนที่ฟันหน้าด้านล่าง ยื่นออกมามากกว่าฟันบนด้านหน้า หรือฟันล่างไม่สบฟันบน
- คนที่อยากมีรอยยิ้มที่สวย หรืออยากมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น
ส่วนระยะเวลาในการจัดฟัน ก็ขึ้นอยู่กับว่าฟันของคนไข้มีปัญหามากน้อยแค่ไหน โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 2-3 เดือน ไปจนถึง 2 ปีครึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ จะจัดฟันเป็นเวลา 1-2 ปี และคนไข้ที่จัดฟัน จะต้องเข้าพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6-8 สัปดาห์ เพื่อปรับเครื่องมือ หรือตรวจดูเหล็กจัดฟัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 ยี่ห้อน้ำยาบ้วนปากที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ ฟันไม่ผุ แถมยิ้มได้มั่นใจกว่าเดิม!
จัดฟัน มีข้อดียังไง
ประโยชน์ของการจัดฟัน ไม่ได้มีแค่ช่วยให้ฟันเราเข้าที่เข้าทาง แต่ยังช่วยให้ฟันเราเคลื่อนไปอยู่ในทิศทางหรือตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้เราทานอาหารได้ง่ายขึ้น และทำให้เราทำความสะอาดฟันได้ดีขึ้น ซึ่งหากเราเป็นคนที่มีฟันซ้อน หรือมีฟันคุด การจัดฟันจะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับกราม ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการสบฟันที่ไม่ปกติ
โดยการจัดฟัน ก่อให้ประโยชน์ระยะยาวต่อเราได้ ดังนี้
1. ป้องกันโรคเหงือกและฟัน
โรคเหงือก เกิดจากการที่เหงือกติดเชื้อ จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ฟัน และโรคนี้ อาจทำให้เป็นโรคปริทันต์ จนสูญเสียฟันไปในที่สุด หากเรามีฟันซ้อน หรือฟันไม่เรียงตัวกัน อาจทำให้แปรงฟัน หรือทำความสะอาดฟันได้ไม่ทั่วถึง มีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย และทำให้เหงือกติดเชื้อได้ ซึ่งการจัดฟันนี่เอง ที่จะช่วยให้ฟันเราเรียงกัน และลดความเสี่ยงจากการสะสมของแบคทีเรียตามซอกฟันได้
2. ป้องกันฟันผุ
หากฟันเราไม่เรียงตัวกัน เราจะเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก หรืออาจจะเคี้ยวได้ไม่ละเอียดมากพอ ทำให้อาหารชิ้นใหญ่ไปติดตามซอกฟัน ทำให้เราทำความสะอาดฟันได้ยาก โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ ซึ่งสามารถทำให้ฟันผุได้ โดยการจัดฟันนั้น จะทำให้ฟันเราเรียงกันเป็นระเบียบมากขึ้น ง่ายต่อการทำความสะอาด
3. ป้องกันการสึกกร่อนของกระดูก
กระดูกขากรรไกร เป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งที่ช่วยยึดฟันให้เข้าที่ ซึ่งหากแบคทีเรีย แทรกซึมผ่านเหงือก หรือฟัน จนเข้าไปอยู่ในกระดูกขากรรไกร ก็สามารถทำให้กระดูกขากรรไกรสึกกร่อน และได้รับความเสียหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรามีฟันที่ไม่สบกัน หรือมีฟันซ้อนเก จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากฟันและเหงือก จะได้รับแรงกดจากการเคี้ยวอาหารมากกว่าปกติ จนเกิดช่องว่างในเหงือกและฟัน ที่ทำให้แบคทีเรียเข้าไปอยู่ได้ จนแทรกซึมผ่านไปยังกระดูกขากรรไกรในที่สุด
4. ป้องกันไม่ให้ฟันแตกหรือหัก
คนที่ฟันไม่สบ ฟันซ้อน ฟันเก จะรู้สึกลำบากเวลาที่เคี้ยวอาหาร แถมยังทำให้บริเวณต่าง ๆ ของฟันได้รับแรงสบ หรือแรงกดไม่เท่ากัน โดยอาจจะมีฟันซี่ใดซี่หนึ่ง ถูกกดทับมากกว่าฟันซี่อื่น จนสุดท้ายแล้ว อาจทำให้ฟันซี่นั้นแตกหรือหัก ซึ่งการจัดฟัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่จะช่วยให้ฟันเรียงตัว และช่วยกระจายแรงกดจากการเคี้ยวอาหารไปยังฟันทุกซี่ และช่วยลดความเสี่ยงที่ฟันจะแตกหรือหักได้
5. ช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น
หากมีฟันที่ไม่ปกติ หรือฟันไม่สบกัน จะทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ดี เคี้ยวไม่ละเอียด จนทำให้มีอาหารชิ้นใหญ่ลงไปในกระเพาะ และทำให้ปวดท้อง หรือไม่สบายท้องได้ ซึ่งการจัดฟัน จะทำให้ฟันเข้าที่เข้าทาง และทำให้เคี้ยวอาหารได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การจัดฟัน ยังช่วยลดโอกาสที่เราจะกัดลิ้น หรือกัดกระพุ้งแก้มตอนที่เคี้ยวอาหารได้อีกด้วย
6. ช่วยสร้างความมั่นใจ
หลายคนไม่มีความมั่นใจเวลายิ้ม เพราะฟันไม่สวย และบางคนก็อาจจะโดนเพื่อล้อ จนสูญเสียความมั่นใจไปเลย โดยการจัดฟันนี่แหละ จะช่วยให้เรากลับมามีความมั่นใจในการพูด หัวเราะ หรือยิ้มอีกครั้ง ซึ่งผลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า คนที่จัดฟัน จะชอบยิ้มในที่สาธารณะ มากกว่าคนที่ไม่ได้จัดฟัน หรือมีฟันไม่สวย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จัดฟันได้ไหม ลูกในท้องจะเป็นอันตรายหรือเปล่า
ข้อแนะนำสำหรับคนจัดฟัน
ปกติแล้ว การจัดฟันไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อฟันอย่างรุนแรง แต่หากคนไข้ ชอบรับประทานเครื่องดื่ม หรืออาหารที่หวาน และทำความสะอาดฟันได้ไม่ดีพอ อาจจะทำให้ฟันมีปัญหา ดังนั้น คนไข้ควรดูแลรักษาความสะอาดของฟันและช่องปากให้ดี อย่างไรก็ตาม การจัดฟัน อาจทำให้รากฟันเราตื้นขึ้น เพราะฟันของเราจะถูกเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และถ้าหากมีความเสี่ยงไหนที่อาจเกิดขึ้นได้อีก คุณหมอก็จะอธิบายให้ฟังก่อนจัดฟันอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากจัดฟันไม่ถูกวิธี อาจทำให้ขากรรไกร เหงือก และรากฟันเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น เราจึงควรจัดฟันกับแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
คนที่จัดฟัน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อสุขภาพเหงือกและฟันที่ดีขณะจัดฟัน
- เข้าพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเช็คฟัน และปรับเครื่องมือ
- แปรงฟันให้สะอาด โดยให้แปรงครั้งแรกในตอนเช้าและอีกครั้งก่อนเข้านอน
- หมั่นรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอ โดยอาจใช้น้ำยาบ้วนปากด้วยก็ได้
- ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและกรด เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไป อาจไปติดอยู่ที่เหล็กจัดฟัน ทำให้ทำความสะอาดได้ยาก โดยอาหารที่มีน้ำตาลและกรด อาจทำอันตรายต่อฟันเพิ่มขึ้นอีก
การจัดฟันนั้น ช่วยให้เรามีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่เรา อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ช็อค! แปรงฟันให้ลูกแล้วเจอเลือดท่วม ลูกจะเจ็บไหม ขนแปรงแข็งไป หรือแม่แปรงแรงเกิน
รีเทนเนอร์ คืออะไร แบบไหนถึงจะเหมาะ ราคาจัดฟันเท่าไหร่
โรคเหงือกคืออะไร โรคเหงือกมีอาการอย่างไร มีวิธีรักษาโรคเหงือกหรือไม่
ที่มา : dentalhealth , bordentownbraces
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!