ฝากครรภ์ที่ไหนดี ท้องกี่วันถึงฝากครรภ์ได้ มีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เท่าไหร่

เมื่อคุณแม่มือใหม่วุ่นวายใจเรื่องการฝากครรภ์ เป็นต้นว่า ฝากครรภ์ที่ไหนดี ท้องกี่วันถึงจะฝากครรภ์ได้ โรงพยาบาลฝากครรภ์ฟรีมีที่ไหนบ้าง ฯลฯ เราจึงรวบรวมคำตอบของทุกคำถามมาไว้ให้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

มีบ่อยครั้งที่คุณแม่มือใหม่ โดยเฉพาะท้องแรก จะตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูก เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ สารพันคำถามก็จะพุ่งเข้าหาเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่องของ การฝากครรภ์ เช่น จำเป็นต้องฝากครรภ์มั้ย ท้องกี่วันถึงฝากครรภ์ได้ ฝากครรภ์ที่ไหนดี มีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เท่าไหร่ ฯลฯ บทความนี้จะมาจับมือคุณแม่เรียนรู้และเตรียมตัวไปพร้อมกันค่ะ

 

การฝากครรภ์สำคัญอย่างไร จำเป็นต้องฝากครรภ์มั้ย

เชื่อว่าแม่หลายคนมีคำถามนี้อยู่ในใจ ไม่เฉพาะแม่มือใหม่ แต่แม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ที่ 3 ก็อาจยังมีคำถามว่า การฝากครรภ์สำคัญแค่ไหน จำเป็นต้องฝากครรภ์ไหม คำตอบที่เราให้ได้คือ “สำคัญ” และ “จำเป็น” ค่ะ เนื่องจาก…

  • คุณแม่และทารกในครรภ์ควรต้องได้รับการดูแลสุขภาพด้านร่างกายและทางจิตใจให้ปลอดภัยทั้งคู่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ทารกในครรภ์ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมีย และดาวน์ซินโดรม รวมถึงการตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • การฝากครรภ์จะช่วยติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรงตามปกติ และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตามปกติหรือไม่
  • การฝากครรภ์สามารถช่วยลดอัตราการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือการคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก ทั้งยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกได้ด้วย
  • การฝากครรภ์จะช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ให้ความสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด เพราะแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์อย่างถูกต้อง รวมถึงตอบคำถามที่แม่ท้องกังวลใจ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย ฯลฯ

 

 

ท้องกี่วันถึงฝากครรภ์ได้ ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน

แล้ว อายุครรภ์ประมาณเท่าไร จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฝากครรภ์ล่ะ เรื่องนี้แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าควรเข้ารับการฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ ซึ่งเริ่มนับอายุครรภ์จากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย หรือฝากให้เร็วที่สุดตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์ตลอดช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอด ตามความเหมาะสมและตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม การที่พ่อแม่เข้ารับคำปรึกษาจากสูติแพทย์ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนการมีบุตร และเตรียมความพร้อมในด้านสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ ถือว่าสำคัญเช่นกัน เพราะหากพบปัญหาด้านสุขภาพจะได้รีบทำการรักษาหรือหาทางป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ได้ด้วย

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ไปฝากครรภ์เตรียมตัวยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง

การไปฝากครรภ์นั้นคุณแม่ไปแต่ตัวไม่ได้นะคะ จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลส่วนตัว และเอกสารประจำตัวไปด้วย คือ

  • บัตรประชาชน ใช้สำหรับทำประวัติการฝากครรภ์
  • ข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษา รวมถึงประวัติการแพ้ยา และการคลอดบุตร
  • ข้อมูลของรอบประจำเดือนครั้งสุดท้าย
  • ถ้าเป็นไปได้ จูงมือสามีไปฝากครรภ์ด้วยกันนะคะ

 

ฝากครรภ์ที่ไหนดี

คำถามว่า ฝากครรภ์ที่ไหนดี นี้นับว่าเป็นปัญหาโลกเกือบแตกเลยนะคะ แต่จริง ๆ แล้วคุณแม่สามารถฝากครรภ์ที่ไหนก็ได้ตามความสะดวก และงบประมาณที่มี ทั้งคลินิก ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เลือกที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม สามารถฝากครรภ์กับคุณหมอที่ตัวเองไว้ใจ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ประวัติการทำงานของแพทย์ร่วมด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

หรือถ้าคุณแม่เคยมีประวัติการรักษาโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง กับสถานพยาบาลใด ๆ มาก่อน แนะนำให้คุณแม่เลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนั้น ๆ เนื่องจากแพทย์จะมีทั้งประวัติการรักษาและประวัติการใช้ยาของเรา จะส่งผลดีต่อการดูแลคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดด้วย

ฝากครรภ์ประกันสังคม เสียเงินไหม

คุณแม่ที่กังวลว่าการฝากครรภ์มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แพงมากมั้ย ข่าวดีมีอยู่ว่าสำหรับคุณแม่ท้องที่อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น สามารถเบิกค่าฝากครรภ์จากสำนักงานประกันสังคมได้ วงเงินรวม 1,500 บาท ( 5 ครั้ง ) ตามช่วงอายุครรภ์ ทั้งยังมีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าคลอดบุตร ค่าสิทธิ์ลาคลอด ค่ากรณีแท้งบุตร เงินสงเคราะห์บุตร ได้ด้วย ซึ่งคุณแม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมของตนเองได้เลยค่ะ

 

โรงพยาบาลฝากครรภ์ฟรี มีที่ไหนบ้าง

ส่วนคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และกำลังมองหาโรงพยาบาลฝากครรภ์ฟรี ให้เลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลรัฐที่เข้าร่วมนโยบายฝากครรภ์ฟรีกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นะคะ โดย สปสช. ได้ร่วมกับกรมอนามัยและกรมการแพทย์ มีนโยบายฝากครรภ์ฟรี “ไม่จำกัดจำนวนครั้ง” ณ โรงพยาบาลสังกัด สปสช. ทุกพื้นที่ที่คุณแม่สะดวก หรือสามารถรับบริการฝากครรภ์ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก็ได้ค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์ตรวจอะไรบ้าง?

  • สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นเมื่อไปฝากครรภ์ก็คือการตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณน้ำตาลค่ะ จะได้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่มีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ รวมถึงดูค่าโปรตีนในปัสสาวะด้วยว่ามีมั้ยเพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่าไตทำงานไม่ปกติ ซึ่งถ้าตรวจพบในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูง ก็มีความเสี่ยงสูงที่ครรภ์จะเป็นพิษค่ะ
  • การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อบอกคร่าว ๆ ถึงขนาดเชิงกราน ที่สัมพันธ์กับสัดส่วนกับขนาดของลูก และคุณแม่อาจต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งที่พบแพทย์เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
  • เจาะเลือดบริเวณข้อพับประมาณ 10 ซีซี. เพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือด โรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และ HIV
  • วัดความดันโลหิต เพื่อเช็กค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดันให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และค่าขณะที่หัวใจคลายตัว
  • อัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่าทารกอยู่ในท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ คะเนขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าท่าของเจ้าตัวเล็กจะไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและคุณแม่

 

มีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เท่าไหร่

แน่นอนว่าการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่าคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน แต่ก็อาจต้องใช้เวลาในการรอเข้ารับบริการนานกว่าพอสมควร อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ชาวไทยทุกคนมีสิทธิรับบริการ “ฝากครรภ์คุณภาพ” กับกองทุนบัตรทอง ของ สปสช. แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ รวมทั้งมีการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคธาลัสซีเมียสำหรับสามีหรือคู่ของแม่ตั้งครรภ์ทุกคนด้วยค่ะ

แต่หากคุณแม่ต้องการที่จะฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการมากกว่า เช่น ไม่ต้องรอคิวนาน มีการตรวจบ่อยกว่าต่อ 1 แพ็กเกจ บางแห่งมีแพ็กเกจเหมาจ่ายให้เลือกหลากหลาย แต่มีค่าบริการสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐก็สามารถเลือกได้ตามงบประมาณที่มี เริ่มต้นตั้งแต่ 4,000 ในการฝากครรภ์ครั้งแรก ไปจนถึงเหมาจ่าย 19,900 บาทเลยค่ะ ซึ่งขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในเขตกรุงเทพฯ ดังนี้

 

แพ็กเกจฝากครรภ์โรงพยาบาลเอกชนยอดนิยม

โรงพยาบาล

แพ็กเกจ / โปรแกรม

ราคา

พญาไท โปรแกรมฝากครรภ์ ANC เหมาจ่าย เริ่มต้น 17,000 บาท
เวชธานี แพ็กเกจฝากครรภ์คุณภาพ 19,900 บาท
สินแพทย์ แพ็กเกจฝากครรภ์ 15,900 บาท
วิภาราม แพ็กเกจฝากครรภ์คุณภาพ 17,900 บาท
นครธน โปรแกรมฝากครรภ์ Smart Mom 1

โปรแกรมฝากครรภ์ Smart Mom 2

17,900 บาท

19,900 บาท

จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต แพ็กเกจรายครั้ง

ฝากครรภ์ครั้งแรก

ฝากครั้งต่อไป

ช่วง 5 เดือน ตรวจอัลตราซาวนด์ 2 มิติ

 

4,000 บาท

1,500-2,000 บาท

2,750 บาท

แพ็กเกจเหมาจ่าย เริ่มต้น 15,000 บาท
เจ้าพระยา โปรแกรมฝากครรภ์คุณภาพ 9,900 บาท
แพทย์ปัญญา แพ็กเกจฝากครรภ์ Welcome Baby เริ่มต้น 10,600 บาท
เกษมราษฎร์ ประชาชื่น โปรแกรมฝากครรภ์ 13,900 – 19,900 บาท
บางปะกอก 3 แพ็กเกจฝากครรภ์เหมาจ่าย 13,000 บาท
บีเอ็นเอช แพ็กเกจฝากครรภ์ BNH Prenatal care 30,000-68,000 บาท
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทั้งนี้ ราคาข้างต้นเป็นราคาในช่วงปี 2566-2567 ดังนั้น ก่อนที่คุณแม่จะเข้ารับบริการฝากครรภ์ โปรดตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาลอีกครั้งนะคะ

 

ครั้งแรกของการฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับ “สมุดฝากครรภ์” ซึ่งเก็บบันทึกผลการตรวจทุกอย่าง กลับมาด้วย ดังนั้น ไม่ว่าระหว่างตั้งครรภ์จะต้องเดินทางไปไหน คุณแม่ควรมีสมุดฝากครรภ์นี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อที่เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล คุณแม่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัยนะคะ

 

 

ที่มา : www.vejthani.comwww.bangpakok3.com , www.phyathai.com , www.nakornthon.com , www.nhso.go.th , women.trueid.net , mbrace.bnhhospital.com , www.ktc.co.th , NHSO.Thailand

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คนท้องคิดมาก ต้องรีบแก้ไข ทำอย่างไร ก่อนส่งผลต่อทารกในครรภ์

เด็กหลอดแก้วโรงพยาบาลรัฐ แต่ละรพ.มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง ?

ตรวจครรภ์เวลาไหน ตรวจตอนเย็นได้ไหม หรือว่าจะต้องตรวจตอนเช้าถึงจะดีที่สุด?

บทความโดย

จันทนา ชัยมี