อีกหนึ่งภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ในทารก โดยแพทย์มักพบความผิดปกติบริเวณองคชาตของทารกเพศชายได้ทันที ตั้งแต่หลังคลอดออกมา ภาวะไฮโปสปาเดีย คืออะไร รักษาได้อย่างไร และมีความอันตรายแค่ไหนต่อทารกน้อย ในวันนี้ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ
ภาวะไฮโปสปาเดีย (Hypospadias) คืออะไร
ภาวะไฮโปสปาเดีย หรือที่เรียกกันว่า ภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติในเพศชาย เป็นภาวะที่เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารกเพศชาย มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศชาย และกระบวนการสร้างท่อปัสสาวะทำงานบกพร่อง จนทำให้รูเปิดท่อปัสสาวะ อยู่ต่ำกว่าปลายองคชาต จากตำแหน่งปกตินั่นเอง โดยอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะองคชาตโค้งงอ หรือมีลักษณะที่แตกต่างไปจากปกติ จนทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในอนาคตได้ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกร่างกายบางส่วนใหญ่กว่าปกติ ไวรัลออนไลน์ที่เกิดกับทารก 1 ใน 13,700 คน!
สาเหตุของ Hypospadias คืออะไร
สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะไฮโปสปาเดียนั้น อาจเกิดจากการที่ท่อปัสสาวะ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ขณะที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ จึงทำให้เกิดภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าผิดปกตินี้ โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ ดังนี้
-
เกิดจากพันธุกรรม
ถ้าหากมีคนในครอบครัว มีประวัติการเป็นภาวะไฮโปสปาเดียมาก่อน อาจทำให้ทารกน้อยได้รับสืบทอดมาจากพันธุกรรมได้
-
ฮอร์โมนผิดปกติ
เมื่อคุณแม่รับประทานฮอร์โมนบางชนิด ที่ช่วยปรับปรุงฮอร์โมนสำหรับการบำรุงครรภ์โดยเฉพาะ ฮอร์โมนบางชนิดก็อาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อการเป็นภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติได้
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุมาก
ถ้าหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกันค่ะ
-
การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สารพิษต่าง ๆ ที่มาจากควันบุหรี่และแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้พัฒนาการ และการเติบโตของทารกในครรภ์ช้าลง และพัฒนาระบบสืบพันธุ์ได้ไม่เต็มที่อีกด้วย
ภาวะไฮโปสปาเดีย อาการเป็นอย่างไร
อาการหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาวะนี้ มีดังนี้
-
รูท่อปัสสาวะอยู่ผิดตำแหน่ง
อาการที่รูท่อปัสสาวะ ไม่ได้อยู่ในบริเวณส่วนปลายองคชาต แต่จะอยู่ต่ำกว่านั้นแทน ซึ่งแพทย์สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนตั้งแต่การคลอด
-
องคชาตมีลักษณะโค้งลง
อวัยวะเพศชายจะมีลักษณะโค้งลงแบบเห็นได้ชัด และจะเห็นได้ชัดมากขึ้นถ้าหากอวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว
-
ทิศทางการไหลของปัสสาวะผิดปกติ
เมื่อปัสสาวะ ทิศทางการไหลของน้ำจะไม่ปกติ เพราะรูท่อปัสสาวะไม่ได้อยู่ที่ส่วนปลายนั่นเองค่ะ
เราจะทราบได้อย่างไร ว่าลูกเป็นภาวะนี้หรือเปล่า ?
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะสามารถตรวจสอบและวินิจฉัย Hypospadias ด้วยการตรวจร่างกายของทารกเพศชายทันที หลังจากคลอดเสร็จ โดยจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน โดยในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว พบว่าทารกมีความผิดปกติ แพทย์จะต้องวินิจฉัยร่วมกับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะเด็กร่วมด้วย เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ เพื่อพิจารณาถึงวิธีการรักษาต่อไป
ขั้นตอนในการรักษา Hypospadias
ในการรักษาภาวะนี้ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด โดยสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสุขภาพ ยาที่ทาน รวมไปถึงอาการแพ้ต่าง ๆ เพื่อหาวิธีในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยในการรักษา แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อย้ายท่อปัสสาวะ ให้มาอยู่ใกล้กับบริเวณปลายองคชาตมากที่สุด และจะทำการตัดบริเวณหนังหุ้มปลายออก เพื่อสร้างช่องปัสสาวะขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงพิจารณารักษาอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ร่วมด้วย เช่น อาการองคชาตโค้งงอ เป็นต้น
โดยหลังจากการผ่าตัดครั้งแรก อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง และนัดติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หลังจากการผ่าตัดได้
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Hypospadias
ต้องเกริ่นก่อนว่า ภาวะ Hypospadias นั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดตั้งแต่ในครรภ์ แต่ทั้งนี้ คุณแม่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่ดี และเข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อวางแผน และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะเริ่มวางแผนตั้งครรภ์นะคะ
โดยสรุปแล้ว ภาวะไฮโปสปาเดีย หรือภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติในเพศชาย เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในทารกเพศชายตั้งแต่แรกเกิด โดยมีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ฮอร์โมนของคุณแม่ผิดปกติ พันธุกรรม ฯ ทั้งนี้ ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด และเข้าพบคุณหมอตามกำหนด หรือรักษาแบบอื่น ๆ ตามแพทย์แนะนำ คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กนอนหลับไม่สนิท ภาวะหลับยากในเด็ก เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้
ไขข้อข้องใจ ! ภาวะตัวเหลือง ในเด็กแรกเกิด อันตรายหรือไม่ ป้องกันอย่างไร ?
ลูกน้อย คางสั่น อาการนี้ถือว่าผิดปกติหรือไม่ เป็นอันตรายหรือเปล่า
ที่มา : hellokhunmor, pobpad