เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงอย่างเราจะกลัวการเจ็บท้องคลอดลูกแต่ทันทีที่ลูกคลอดออกมาสู่โลกกว้างและเราได้เห็นเขาเป็นครั้งแรกก็ทำให้เราปลาบปลื้ม เต็มไปด้วยความรักและความยินดีจนลืมความเจ็บปวดไปทันที
เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อ “คลอดลูก”
แม้ว่าคุณแม่หลายท่านจะแย้งว่าแต่ละคนก็จะมีประสบการณ์การ คลอดลูก ที่แตกต่าง ความรู้สึกและรายละเอียดที่แปลกกันออกไป แต่สำหรับผู้ที่จะกลายเป็นแม่คนในครั้งแรกแล้ว ความรู้สึกนี้ ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับบรรดาคุณแม่มือใหม่ที่อดตื่นเต้นไม่ได้กับการมีลูกในครั้งแรก ก็จะขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดลูกและการเลี้ยงดูลูกจากสารพัดแหล่งเพื่อเตรียมรับมือกับการปรับตัวครั้งสำคัญนี้
สิ่งที่รู้ ๆ กันแน่ ๆ หากคุณจะคลอดลูกโดยวิธีธรรมชาติคือการปวดท้องคลอด ความรู้สึกบางคนก็บอกว่าเหมือนปวดท้องเมนส์แต่มากกว่าประมาณ 10 เท่า บางคนก็บอกว่ามันเหมือนปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระ เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ก็ถึงเวลาคลอดลูก ณ จุดนี้ประสบการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนคลอดลูกง่าย บางคนคลอดลูกยาก แล้วแต่สภาพร่างกายและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะไว้ใจทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลทั้งคุณแม่และคุณลูกเป็นอย่างดีในห้องคลอด แต่การรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยหลังคลอดลูกก็จะช่วยให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากที่คลอดลูกออกมาแล้ว
- สิ่งแรกที่คุณหมอทำด้วยความระมัดระวังก็คือ การตัดสายสะดือของทารกที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนจากรกในครรภ์มารดาสู่ลูก แต่คุณหมอจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ทารกได้รับเลือดจากรกในครรภ์ที่เพียงพอและไม่เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางและขาดธาตุเหล็ก
- หลังจากการตัดสายสะดื้อเสร็จสิ้นลง พยาบาลก็จะทำความสะอาดเจ้าตัวน้อยอย่างคร่าว ๆ เพื่อกำจัดเมือกที่ห่อหุ้มตัวทารก
- จากนั้นพยาบาลก็จะดูดน้ำคร่ำในปากและจมูกของทารกเพื่อเป็นการกระตุ้นและช่วยให้ทารกเริ่มหายใจ และคุณแม่ก็จะได้ยินเสียงร้องไห้ครั้งแรกของเจ้าตัวเล็ก
- จากนั้นพยาบาลจะนำทารกมาวางไว้บนหน้าอกของคุณแม่เพื่อกระตุ้นสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกหลังคลอดลูก
- ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจคัดกรองสุขภาพของทารกแรกเกิด เพื่อเช็คอัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ การตอบสนองของกล้ามเนื้อ และความซีดจางของสีผิวเด็ก ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากหลังคลอดลูก เนื่องจากแพทย์จะตรวจพบความผิดปกติต่าง ๆ และเร่งดำเนินการรักษาต่อไปอย่างทันท่วงที ในโรงพยาบาลบางแห่งแพทย์อาจตรวจความสมบูรณ์ของทารกขณะที่อยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ในห้องทำคลอด แต่โรงพยาบาลบางแห่งก็มีห้องปฎิบัติการเฉพาะสำหรับทารก
- ลำดับต่อไปคือการติดป้ายชื่อที่ข้อมือของคุณแม่และทารก ขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่ควรสังเกตให้แน่ใจว่าพยาบาลติดป้ายชื่อที่ถูกต้องให้ลูกก่อนที่จะพาลูกออกจากห้องทำคลอด
- ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่จัดทำกรอบรอยเท้าเพื่อมอบให้คุณแม่เป็นที่ระลึกจำนวนหนึ่งชุด และอีกหนึ่งชุดจะเป็นรอยเท้าที่ทางโรงพยาบาลจะเก็บเอาไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลประจำตัวเด็ก
- คุณหมอจะหยอดหรือป้ายยาปฎิชีวนะที่ตาของทารกเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น จากนั้นพยาบาลจะชั่งน้ำหนัก วัดความสูงของทารกและฉีดวิตามินเคเพื่อให้เลือดจับตัวได้ดีและมีประสิทธิภาพ
- ถ้าหากว่าเจ้าตัวน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ดีและร่างกายมีอุณหภูมิปกติ พยาบาลจะอาบน้ำสระผมและห่อเจ้าตัวเล็กให้อบอุ่นก่อนจะพาทารกไปยังห้องเด็กอ่อน
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ที่สุดในชีวิตกับการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
ข้อควรปฏิบัติเมื่อคลอดลูกด้วยการผ่าท้อง
ประสบการณ์คลอดลูกเองหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!