อยากรู้จังว่าลูกชอบอะไร ทำอะไรได้ดี ไม่ชอบทำอะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกชอบอะไร เรื่องนี้สามารถทำได้ ด้วยการคอยสังเกตเวลาลูกเล่น ทำกิจกรรม หรือเรียน ว่าสอดคล้องกับทักษะความชอบทั้ง 8 ด้านในด้านไหนบ้าง
8 ทักษะหลักที่เกี่ยวข้องกับความชอบของลูก
สิ่งที่จะจำแนกความชอบของเด็กแต่ละคน มักจะวนเวียนอยู่กับทักษะความถนัดทั้ง 8 อย่างเสมอ ซึ่งแต่ละทักษะจะมีจุดเด่น จุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปตัดสินใจในการประกอบอาชีพ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย
1. ความถนัดในด้านภาษา (Linguistic-Verbal Intelligence)
หลายคนอาจเข้าใจว่าความถนัดด้านภาษา คือ การที่สามารถเรียนรู้ หรือพูดได้หลายภาษาได้ดี แต่ไม่ใช่แบบนั้น ความถนัดด้านภาษา คือ การที่ลูกมีความสามารถในด้านการพูดคุย ถ่ายทอดอารมณ์ สามารถสื่อสารสิ่งต่าง ๆ ได้ดี มีความจำเป็นเลิศ สามารถสรุปในความสำคัญจากการอ่านเนื้อความได้ โดยปกติแล้วหากเด็กมีทักษะด้านนี้จะทำให้มีความชอบในเรื่องของการอ่านหนังสือ หรือการเล่านิทาน และชอบที่จะพูดคุย เป็นต้น
2. ความถนัดในด้านดนตรี (Musical Intelligence)
หากลูกมีความถนัดในด้านนี้จะทำให้สามารถเข้าใจในเรื่องของจังหวะ เรื่องเสียง สามารถแยกแยะจังหวะของเพลงได้ดี ไปจนถึงมีความสามารถในการร้องเพลง หรือการแสดง นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการจดจำเนื้อเพลง หรืออะไรที่เป็นทำนองได้ดีอีกด้วย ไปจนถึงการเลียนแบบเสียงต่าง ๆ ได้อย่างสมจริงจากความสามารถที่เข้าใจในรูปแบบ และการนำเสียงมาใช้จริง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 โรงเรียนสอนดนตรีสำหรับเด็ก ที่ตอบโจทย์ เด็ก ๆ หลายคนต้องมาเรียน
3. ความถนัดในด้านการเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
หลายคนอาจชอบเล่นกีฬา สามารถเล่นได้ดี มีร่างกายที่แข็งแรง เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีความถนัดด้านการเคลื่อนไหวนั่นเอง นอกจากนี้คนที่มีความถนัดนี้ยังชอบที่จะเรียนรู้การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ รู้จักการใช้ร่างกาย และการควบคุมร่างกายของตนเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังชอบที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการลงมือทำ และมีประสาทสัมผัสทางด้านร่างกายที่ดีมากอีกด้วย แน่นอนว่าความเหมาะสมทั้งหมดนี้คงหนีไม่พ้นนักกีฬาแน่นอน
4. ความถนัดในด้านมิติสัมพันธ์ (Visual and spatial judgment)
ความสามารถด้านนี้เปรียบได้กับความชอบด้านศิลปะนั่นเอง หากลูกมีความสามารถด้านนี้จะสังเกตได้จากการชอบวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ ชอบการดูงานศิลปะ และเข้าใจว่าตนเองจะสื่อความหมายออกมาทางรูปภาพได้อย่างไร นอกจากนี้คนที่มีความถนัดในด้านนี้ยังมีความสามารถในการแยกแยะ และเข้าใจในสิ่งที่ซับซ้อน เช่น ทิศทาง หรือเส้นทางใหม่ ๆ ในการเดินทาง ไปจนถึงการจับผิดภาพที่สามารถแยกแยะได้อย่างรวดเร็ว
5. ความถนัดในด้านตรรกะ (Logical-Mathematical Intelligence)
ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ ผู้ที่มีความสามารถในด้านนี้ก็คือ “นักวิชาการ” นั่นเอง ด้วยการคิดทุกอย่างแบบมีแบบแผนเป็นระบบ สามารถเข้าใจในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเข้าใจตัวเลข และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีขั้นตอน สังเกตได้จากการชอบเรียนวิชาการทั้งวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมไปถึงนิสัยที่ชอบตั้งคำถาม และจะเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลมารองรับเสมอ
6. ความถนัดในด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalistic Intelligence)
กล่าวง่าย ๆ คือ ผู้ที่มีความถนัดนี้จะรักธรรมชาติเป็นพิเศษจากนิสัยของตนเองเลย จะชอบที่จะเดินทางไปพักผ่อน หรือมีความต้องการที่จะศึกษาทั้งป่าเขา หรือสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ประเภท อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะมีสัตว์เลี้ยงหลายประเภท ไม่ใช่แค่อยากเลี้ยงสุนัข หรือแมวแบบคนทั่วไป นอกจากนี้ยังชอบศึกษาเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และมีจิตวิทยาที่ดี สนใจในโลก และดาราศาสตร์อีกด้วย
7. ความถนัดในด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
การเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจในความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างไม่ยากเย็น เป็นความสามารถที่โดดเด่นของผู้ที่อยู่ในความถนัดด้านนี้ เพราะจุดเด่นคือความเข้าใจในความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ ทำให้สามารถผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่าย และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้อื่นได้อย่างตรงจุด คนเหล่านี้จึงมักเป็นผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นได้ดี หากมีความต้องการที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยนั่นเอง
8. ความถนัดในด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
คนที่อยู่ในกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เปิดเผย ซื่อตรงกับสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในตนเองรู้ว่าตนเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ และรู้ว่าตนเองจะทำอะไรได้ดี อะไรที่ตนเองทำได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังชอบที่จะวิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาตรง ๆ อีกด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกชอบอะไร
หากไม่รู้ว่าตอนนี้ลูกชอบอะไร ลูกเป็นเด็กแบบไหน อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป เพราะการสังเกตไม่ใช่เรื่องง่าย ความชอบที่ลูกแสดงออกมาอาจไม่ชัดเจน ให้ใช้วิธีเหล่านี้เป็นประจำ และต่อเนื่องจนกว่าจะมั่นใจ
- เบื้องต้นสามารถสังเกตลูกได้จากผลการเรียนในวิชาต่าง ๆ ของลูก ว่าลูกเรียนอะไรได้ดี สิ่งนั้นอาจเป็นข้อบ่งชี้เบื้องต้นถึงความชอบได้ เช่น ชอบด้านวิชาการคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หรือชอบที่จะเรียนสังคม หรือชอบเรียนศิลปะ เป็นต้น
- สังเกตว่าลูกชอบเล่นอะไรบ้างตอนอยู่บ้าน สิ่งที่ลูกเล่น หรือสมมติขึ้นมา เป็นการบ่งบอกถึงความชอบว่าลูกชอบสิ่งไหนเป็นพิเศษ หรือวิธีการเล่นนั้นเล่นแบบไหน เหมือนกับความถนัดใด เป็นต้น
- ลองพูดคุยถามลูกตรง ๆ ว่าลูกชอบทำอะไร มีอะไรบ้างที่ทำแล้วรู้สึกสนุก อะไรบ้างที่ทำแล้วรู้สึกไม่ชอบ
- หากความชอบที่ลูกแสดงออกมายังไม่ชัดเจน พยายามให้ลูกลองทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เน้นความหลากหลายเพื่อสังเกตท่าทีของลูก เช่น ชวนไปเที่ยวดูธรรมชาติ, ชวนฟังเพลง, ชวนเล่นกีฬา หรือพาไปเข้าแคมป์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้พบเจอเด็กคนอื่น ๆ เป็นต้น
- สุดท้ายนี้ยังมีวิธีของผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยตรวจสอบความชอบ หรือความถนัดของลูกได้ ซึ่งจะเป็นการทดสอบผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
เมื่อรู้ความชอบของลูกแล้ว อาจพอบอกแนวโน้มได้ว่าลูกจะอยากเป็นอะไร ในเรื่องนี้ก็คงต้องพูดคุยกับลูกอีกทีในอนาคต เพื่อที่ผู้ปกครองจะสามารถช่วยส่งเสริมลูกต่อไปได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 วิธี การเลี้ยงลูกให้ฉลาด อยากให้ลูกฉลาดเติบโตเป็นคนเก่ง ต้องอ่าน!!
“สตรีมเมอร์” อาชีพสมัยใหม่สายออนไลน์ที่เหล่าเด็ก ๆ ชื่นชอบ
13 เรื่องที่พ่อแม่ต้องทำ ถ้าอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ
ที่มา : thairath, rakluke
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!