พ่อแม่ไม่น้อย อยากให้ลูกเป็นหมอ ที่สำคัญ คือ ความสมัครใจของลูกด้วย หากลูกเห็นชอบ ลูกอยากเป็นหมอจริง ๆ ก็ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัว มีอะไรบ้างที่ลูกต้องรู้ และพ่อแม่จะช่วยได้อย่างไรนั้น ลองอ่านดูในบทความนี้
6 ข้อที่ต้องรู้หาก “อยากให้ลูกเป็นหมอ”
ความต้องการที่จะให้ลูกโตมาได้ดีมีชีวิตสดใส ไม่ลำบาก เป็นเรื่องปกติที่คนเป็นพ่อแม่กำลังคิด หลายคนอาจโฟกัสไปที่อาชีพหมอ แม้หลาย ๆ อาชีพก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดังนั้นก่อนที่อยากจะให้ลูกเป็นหมอ จึงควรถามลูกก่อน แล้วค่อยวางแผนต่อไป หากลูกมีความตั้งใจอยากเป็นหมอจริง ๆ โดยเราให้ลองอ่าน 6 ข้อต่อไปนี้ก่อน
1. เรื่องอนาคตสำคัญ ต้องถามลูกก่อนเสมอ
ถึงแม้พ่อแม่จะอยากให้ลูกเป็นหมอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกด้วย เด็กหลายคนอาจไม่รู้ตัวเองว่าโตไปแล้วอยากเป็นอะไร ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการแนะแนวที่ไม่ได้ถูกมองว่าสำคัญมากพอในโรงเรียน สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมที่จะคุยเรื่องความฝันจะอยู่ในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย ป. 4 – ป. 6 อายุระหว่าง 10 – 12 ปี หรือจะอยู่ในช่วงของมัธยมศึกษาตอนต้นก็ได้ คือ ในช่วง ม. 1 – ม. 3 อายุระหว่าง 13 – 15 ปี หากเป็นไปได้ไม่ควรปล่อยให้ลูกไม่รู้ถึงอาชีพที่อยากเป็นจนถึงช่วง ม.ปลาย เพราะบางอาชีพอาจต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวมากกว่าที่คิด
พ่อแม่สามารถพูดคุยถึงอาชีพต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาชีพอื่น ๆ ให้ลูกได้รู้ถึงข้อดี และข้อจำกัดของแต่ละอาชีพ รวมถึงลักษณะการทำงานของอาชีพนั้น ๆ ว่ามีภาพรวมเป็นอย่างไร เมื่อลูกมีท่าทีสนใจอาชีพไหน ก็ช่วยลูกศึกษาถึงสิ่งที่อาชีพนั้นทำจริง ๆ หากลูกไม่ได้อยากเป็นหมอ พ่อแม่ก็ควรที่จะยอมรับ และสนับสนุนลูกต่อไป หากเป็นอาชีพหมอต้องเน้นย้ำให้ลูกเข้าใจถึงความรับผิดชอบ หรือการต้องเจอเลือด ไม่ได้สวยหรูและจบแค่การมีเงินเดือนสูง ๆ เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทํานายอาชีพในอนาคตของลูกน้อยจากความฉลาด 8 ด้าน
วิดีโอจาก : Netflix Thailand
2. หาเวลาว่างเพื่อให้ลูกรู้จักอาชีพหมอมากขึ้น
เมื่อลูกมีความคิดแน่ชัดแล้วว่าอยากเป็นหมอ โดยไม่ได้ผ่านการชักจูงของพ่อแม่ ตลอดเวลาหลังจากนั้น ควรหาเวลาว่างมาศึกษาสิ่งที่หมอจะต้องทำในสาย หรือสาขาความถนัดต่าง ๆ เพื่อเจาะลึกมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถศึกษาได้ง่ายกว่าเดิมจากการมีสื่อออนไลน์มาเป็นตัวกลางในการศึกษาเก็บข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูสัมภาษณ์ของหมอแผนกต่าง ๆ หรือดูว่าคนเรียนแพทย์ต้องเจอกับอะไรบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้หากมีคนใกล้ตัวที่เป็นหมอ สามารถหาโอกาสในการพูดคุยกันได้ก็ควรทำ เพื่อให้ลูกได้รับประสบการณ์ และเรื่องราวที่ควรรู้หลาย ๆ แง่มุม หรือการพาลูกไปเข้าค่ายที่เกี่ยวกับหมอ เป็นต้น ไม่ควรศึกษาเพียงไม่กี่วัน เพราะการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนว่าต้องเจออะไรเป็นสิ่งที่ควรทำแต่เนิ่น ๆ
3. เลือกสายการเรียนที่เหมาะสม
อย่างที่เราแนะนำไปว่าเรื่องอาชีพในฝันของเด็ก ๆ ควรจะต้องพูดคุยก่อนจะขึ้น ม.ปลาย หากเป็นไปได้ เพราะสายการเรียนจะถูกแบ่งออกชัดเจนใน ม.ปลาย ถือว่ามีความสำคัญอยู่พอสมควร สายการเรียนที่เหมาะสำหรับการเตรียมตัวในชั้นเรียน คือ สายที่ส่งเสริมด้านวิชาการ หรือสาย “วิทย์ – คณิต” นั่นเอง เพราะรายวิชาในห้องเรียนจะมีความเกี่ยวข้องกับสายการเรียนหมอมากกว่าสายการเรียนทั่วไปในช่วง ม.ปลาย
แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เรียนในสายอื่นจะหมดโอกาส เด็กบางคนอาจรู้ตัวช้าว่าอยากเป็นหมอ หรือเรียนอยู่ในสายอื่นที่ไม่ใช่วิทย์ – คณิต ก็สามารถเตรียมตัวได้เช่นกัน ด้วยการหาที่เรียนพิเศษเสริม หาเวลาว่างในการเรียนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความรู้ในรายวิชาที่จำเป็น แต่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรทั่วไปในห้องเรียน
4. เตรียมใจ เพราะต้องเรียนหนัก และเลี่ยงความกดดันลำบาก
คนที่อยากโตไปเป็นหมอไม่ได้มีเพียงหลัก 10 คน ใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าการแข่งขันนั้นสูงแค่ไหน การที่จะสอบให้ติดหลังจากเรียนจบมัธยมจึงเป็นช่วงที่กดดันมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นผลที่มาจากการเตรียมตัวของเด็กแต่ละคน เพราะนอกจากจะต้องทำคะแนนการสอบตามสนามต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว สำหรับเกรดการเรียนก็ต้องดูแลให้อยู่ในขั้นสวยหรูด้วย ถ้าทำได้ครบก็จะยิ่งทำให้ลูกได้เปรียบมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้เกิดความกดดัน หรือความเครียดจากการเรียนที่มากเกินไป และเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง ในมุมของเด็ก ๆ ผู้ปกครองอาจต้องบอกให้ลูกรู้ในเรื่องนี้ไว้ก่อนด้วย
แต่ในมุมของผู้ปกครองเองก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่คอยส่งเสริมการเรียนของลูกเท่านั้น แต่มีหน้าที่ในการพยายามช่วยลดแรงกดดัน และช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับลูก เช่น ไม่พูดกดดัน บังคับ หรือแสดงความผิดหวังเมื่อผลสอบไม่เป็นดั่งที่ต้องการ แต่เปลี่ยนมาให้กำลังใจ และแรงผลักดันแทน รวมถึงหาโอกาสหรือเวลาว่างในการพาลูกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อคลายเครียดบ้าง เช่น พาไปดูภาพยนตร์, พาไปเที่ยวทะเล, พาไปกางเต็นท์บนภูเขา หรือทำในสิ่งที่ลูกชอบ เพื่อให้ลูกได้มีช่วงเวลาอื่นบ้างนอกจากการเรียนหนังสือ
5. เตรียมพร้อมสำหรับสนามสอบที่อาจเปลี่ยนแปลง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสอบในแต่ละปี มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปทีละเล็กทีละน้อย รุ่นพี่อาจสอบแบบนี้ แต่พอมาถึงรุ่นของเราดันสอบอีกแบบแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในช่วง ม.ปลาย คือ การเรียนรู้สนามสอบที่จำเป็นตั้งแต่เนิ่น ๆ หาข้อมูลในปีการศึกษานั้นว่า หากต้องการสอบเรียนหมอ ต้องใช้คะแนนสอบจากสนามไหนบ้าง จากนั้นก็ศึกษาข้อสอบเก่า ๆ (ถ้ามี) เพื่อสร้างความเคยชิน ดีกว่าการไปรู้ก่อนลงสนามสอบไม่นานว่าจะต้องสอบสนามนี้ด้วย อาจทำให้เตรียมตัวไม่ทันได้ ปัจจุบันมีการแนะนำสนามสอบที่จำเป็นตามเว็บไซต์ หรือ YouTube รวมไปถึงสถาบันกวดวิชาบางแห่งก็อัปเดตให้เด็กฟังโดยตรง หรืออาจขอข้อมูลจากครูแนะแนวร่วมด้วยก็ได้
6. เตรียมพร้อมกับรูปแบบการสอบ
หลังจากรู้จักสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือ “อยากเข้ามหาวิทยาลัยไหน ?” เป็นสิ่งที่ยากพอ ๆ กับการหาอาชีพในฝันสำหรับเด็กแน่นอน พ่อแม่ควรปรึกษาพูดคุยกับลูกว่าสนใจที่ไหนบ้าง ทำไมจึงสนใจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่ลูกต้องการ เรื่องนี้ควรตัดสินใจร่วมกัน แต่ก็ควรให้ลูกเป็นคนเลือกในช่วงสุดท้าย หากพ่อแม่ไม่ได้มีความติดขัดใด ๆ กับที่เรียนที่ลูกอยากเรียนก็สนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้าหากติดขัดในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ควรรีบพูดคุยกับลูกเพื่อหาข้อตกลงกันใหม่
เมื่อได้มหาวิทยาลัยที่ชอบแล้ว แต่มาก็คือการศึกษาว่าสถาบันนั้น ๆ มีรูปแบบในการรับนักเรียนเข้าไปเป็นนักศึกษาผ่านรูปแบบใดบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่
- รอบ Portfolio : จากการดูแฟ้มผลงานที่เคยทำมา ทั้งในด้านของกิจกรรม การอบรม ไปจนถึงคะแนนสอบ หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน
- รอบ Quota : เป็นสิทธิที่สถาบันนั้น ๆ มอบให้กับนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง หรืออื่น ๆ ตามแต่ละสถาบันจะกำหนด โดยจะเป็นการใช้คะแนนสอบกลางเป็นส่วนใหญ่ในสนามที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น O-Net และ วิชาสามัญ เป็นต้น
- การ Admission 1 และ 2 : เป็นการรับผู้เข้าศึกษาพร้อมกัน ทุกคนมีสิทธิเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ Admission 1 ใช้คะแนน O-NET, GAT/PAT, วิชาสามัญ และวิชาเฉพาะ ส่วน Admission 2 ใช้คะแนน GPAX, คะแนน O-NET และ GAT/PAT
- รับตรง Direct Admission : ในแต่ละสถาบันอาจมีรอบการสอบเข้าตรง ซึ่งเงื่อนไขในการรับสอบนั้นแตกต่างกันในแต่ละสถาบัน จึงต้องศึกษาให้ดี และถือว่าเป็นรอบสุดท้ายของสถาบันนั้น ๆ ที่จะรับนักศึกษาใหม่แล้ว
ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เด็ก ๆ จะต้องรู้เพื่อเตรียมตัว เตรียมใจเอาไว้ก่อน และนำไปวางแผนต่อในอนาคต และถึงแม้ต่อไปลูกจะสมหวังหรือไม่ ผู้ปกครองก็ควรจะอยู่เคียงข้างลูกเสมอในทุกผลลัพธ์ที่ออกมา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากเป็น หมอรักษาเด็ก ต้องทำอย่างไร พร้อมแนะนำ 8 หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง
ผลสำรวจชี้ ครู อาชีพในฝันเด็กไทย ไอดอลในดวงใจคือ พ่อแม่
ลูกพร้อมเรียนกวดวิชาหรือไม่ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กลิสต์กัน !
ที่มา : Thairath, studyuk, Konthong
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!