เรียกได้ว่าเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับประเทศไทย ซึ่งด้วยอากาศหน้าร้อน ที่ร้อนจัดจึงมักจะมีเหตุการณ์ที่น่าหดหู่ใจเกิดขึ้น ดังเช่นกรณี ตาวัย 70 ปี เป็นลมแดด ดับ เหตุเพราะ อากาศร้อนจัด
สุดสลด! ตาวัย 70 ปี เป็นลมแดด ดับ เหตุเพราะ อากาศร้อนจัด
เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2567 ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้รับแจ้งว่ามีชายสูงวัย อายุ 70 ปี ออกเลี้ยงวัวและหายตัวไป ขอให้ช่วยค้นหา บริเวณบ้านหนองขอน ม.7 ต.กุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ส่งกำลังอาสาสมัครช่วยกันค้นหา โดยลูก ๆ และญาติ ๆ รวมถึงชาวบ้าน ได้ออกตามหาชายสูงวัย คนดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เมื่อวานนี้ หลังจากเดินออกต้อนวัวไปกลางทุ่งนา กระทั่งช่วงเย็น ก็ไม่กลับบ้าน ทำให้ญาติ ๆ เกรงว่า จะได้รับอันตราย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว จนต่อมาได้พบร่างของชายคนดังกล่าวนอนเสียชีวิตอยู่ในป่าหญ้า ริมถนน ในสภาพนอนหงาย ในมือขวายังถือไม้เรียวที่ใช้ไล่ต้อนวัวอยู่ โดยเบื้องต้นตำรวจ สภ.กุยบุรี ตรวจสอบ ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ หรือถูกทำร้าย จึงส่งร่างให้แพทย์ชันสูตร เบื้องต้นคาดว่า เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และเป็นคนสูงอายุ คาดว่าน่าจะเป็นลม ซึ่งมีกอหญ้าขึ้นสูง ทำให้ไม่มีใครพบ กระทั่งเสียชีวิต แต่ยังคงรอผลการตรวจจากแพทย์ยืนยันอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าอุณหภูมิจะสูงสุด วันที่ 3-4 เมษายนนี้ อาจแตะ 42-43 องศาเซลเซียส ที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 41 องศาเซลเซียส แต่ดัชนีความร้อนหรือความร้อนที่เราสัมผัสได้ 48-50 องศาเซลเซียส และจะรู้สึกร้อนมาก ๆ ช่วง 15.00-16.00 น.
ช่วงอากาศร้อน ขอเตือนให้งดทำกิจกรรมการกลางแจ้ง และจิบน้ำบ่อย ๆ ป้องกันการเกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ คนอ้วน มีโรคประจำตัว คนทำงานกลางแจ้ง และ ผู้สูงอายุ ถ้ารู้สึกหายใจถี่ หัวใจเต้นแรง แต่ไม่มีเหงื่อ หิวน้ำมาก อ่อนเพลีย อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ที่มา : news.ch7.com, bangkokbiznews.com
ลมแดดหรือฮีทสโตรก คืออะไร
ลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อนมากเกินไป อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ มักเกิดจากการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน ทำงานหนักในสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกายหนักโดยไม่ดื่มน้ำทดแทน มักพบบ่อยในช่วงฤดูร้อน
สาเหตุของอาการฮีทสโตรก
- อยู่กลางแจ้ง หรือในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกายหนัก หรือทำงานหนักในสภาพอากาศร้อน
- สวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือไม่ระบายอากาศ
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- ภาวะขาดน้ำ
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง
อาการของผู้ป่วยฮีทสโตรก
- อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- ผิวหนังแห้ง ร้อน ไม่มีเหงื่อออก
- รู้สึกกระหายน้ำมาก
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
- หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว
- อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติ
เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยฮีทสโตรก ควรทำอย่างไร
- พาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก
- ให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง
- ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ
- ใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อน
- หากผู้ป่วยมีสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
- รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
คนกลุ่มไหนบ้าง ที่เสี่ยงต่ออาการฮีทสโตรก
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต
- ผู้ที่ทำงานหนัก หรือออกกำลังกายหนักในสภาพอากาศร้อน
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด
ไม่อยากเป็นฮีทสโตรก จะป้องกันอย่างไรได้บ้าง
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการฮีทสโตรก คุณควรที่จะหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน เพราะอากาศร้อนและแสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก นอกจากนี้การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอก็จะเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกายได้อีกด้วย การแต่งตัวเองก็สำคัญ โดยคุณควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือออกกำลังกายหนักในสภาพอากาศร้อน
ทั้งนี้หากพบว่าคนรอบข้างมีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นฮีทสโตรก ให้คุณรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตามวิธีที่ได้แจ้งไปข้างต้น แต่หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669
บทความที่น่าสนใจ :
คนท้องเป็นโรคลมแดด ต้องทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลคนท้องเป็นฮีทสโตรก คนท้องดูแลตัวเองในช่วงหน้าร้อน
ฮีทสโตรก (Heatstroke) วิธีการรับมือ เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงอย่างเฉียบพลัน
วิธีดูแลทารกหน้าร้อน แดดแรง ลูกตัวร้อน อุณหภูมิรอบตัวสูงขนาดนี้ แม่ต้องทำอย่างไร อากาศร้อนต้องห่มผ้าให้ลูกไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!