แน่นอนว่าเด็กกับการซุกซนเป็นเรื่องที่คู่กัน โดยเฉพาะเด็กช่วงวัย 3 – 7 ขวบ เรียกได้ว่าเป็นวัยที่ค่อนข้างซุกซนเป็นพิเศษ ก็คงจะมีบ้างที่จะเล่นอะไรแผลง ๆ ไปบ้างตามประสาเด็กวัยยนี้ แต่คงไม่ใช่กับกรณี เด็กชาย 4 ขวบ เล่นเลียนแบบละคร ปากรรไกรปักหัวเด็ก 10 ขวบ
อุทาหรณ์! เด็กชาย 4 ขวบ เล่นเลียนแบบละคร ปากรรไกรปักหัวเด็ก 10 ขวบ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลสตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ได้มีผู้ปกครองพา ด.ญ. วัย 10 ขวบ เข้ามารักษาอาการบาดเจ็บ เนื่องจากถูกกรรไกรปักเข้าที่กะโหลกศีรษะลึกประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นทางโรงพยาบาลได้ส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เบื้องต้นทราบจากญาติว่าถูกเพื่อนที่เล่นด้วยกันเอากรรไกรขว้างใส่
โดยจากการสอบถามญาติของเด็กหญิงที่ได้รับบาดเจ็บคนดังกล่าว เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนกำลังตัดเหล็ก เห็น ด.ช. อายุ 4 ขวบ ที่เป็นผู้ก่อเหตุ หยิบกรรไกรที่แม่ทิ้งไว้บนโต๊ะ เอาไปเล่นซน โดยใช้นิ้วควงไปมา แต่ไม่ได้สนใจเพราะเล่นอยู่คนเดียว ระหว่างนั้นหลานสาวเดินมาใกล้กับจุดที่ตนกำลังตัดเหล็ก จึงบอกให้ออกห่างเพราะกลัวเศษเหล็กกระเด็นใส่ สักพักก็ได้ยินเสียงกรีดร้องลั่น จึงหันไปดู แล้วพบว่า กรรไกรปักอยู่ที่หัวหลานสาว โดยตนพยายามจะเอาออกแต่กรรไกรปักแน่นเกินไป จึงคิดว่าอาการน่าจะรุนแรง จึงรีบนำส่งรพ.สต.ใกล้บ้านก่อนหมอจะนำตัวส่งโรงพยาบาลสตึก แล้วส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ซึ่งมีเครื่องมือแพทย์ที่ดีกว่า
จากการสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกคนเล่าว่า เห็นเด็กชายผู้ก่อเหตุถือกรรไกรของแม่ที่เอาไว้ตัดขนมปังปิ้งขายมาเล่น ทำท่าเหมือนหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ ตนจึงให้หลานสาวอายุ 10 ปี ออกห่างทำให้ เด็กชายคนดังกล่าว ไม่พอใจและขว้างกรรไกรใส่ ไม่คิดว่าคมกรรไกรจะไปตรงกับศีรษะพอดี
ล่าสุด ยายของน้องแจ้งว่า แพทย์ได้ทำการนำกรรไกรออกมาได้สำเร็จแล้ว อาการปลอดภัย โดยแพทย์ให้อยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 2 วัน ก่อนให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ ทางด้านแพทย์ที่ทำการรักษากล่าวต่ออีกว่า จุดที่กรรไกรแทงเข้าไปในศีรษะ ถึงแม้จะลึกไม่ถึง 2 ซม. แต่ก็เฉียดเส้นประสาทไปนิดเดียว ถ้าโดนจุดสำคัญ อาการอาจจะหนักกว่านี้
ที่มา : ch3plus.com, matichon.co.th, dailynews.co.th, phyathai.com, petcharavejhospital.com
เด็กกับอันตรายจากของมีคม
ของมีคม เช่น มีด กรรไกร เข็มหมุด แก้ว แตกง่าย ล้วนเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก ซึ่งเด็กเล็ก ๆ อาจยังไม่เข้าใจถึงอันตรายของของมีคม อาจหยิบเล่นหรือนำมาใช้โดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน
- เก็บของมีคมให้พ้นมือเด็ก ควรเก็บไว้ในลิ้นชัก ตู้ หรือบนชั้นสูงที่เด็กเอื้อมไม่ถึง
- เก็บของมีคมให้เรียบร้อย ปิดฝาหรือเก็บในกล่อง เมื่อไม่ใช้งาน
- สอนให้เด็กเข้าใจถึงอันตรายของของมีคม อธิบายว่าของมีคมนั้นอันตราย อาจทำให้บาดเจ็บได้
- สอนวิธีใช้ของมีคมอย่างปลอดภัย เมื่อเด็กโตพอที่จะใช้ของมีคม ควรสอนวิธีใช้ที่ถูกต้อง และควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่เสมอ
- ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยเด็กให้เล่นตามลำพัง โดยเฉพาะใกล้กับของมีคม
ทำอย่างไรเมื่อลูกได้รับอันตรายจากของมีคม
- รีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ห้ามเลือด ทำความสะอาดแผล และประคบเย็น
- รีบพาเด็กไปพบแพทย์ โดยเฉพาะกรณีที่มีบาดแผลลึก เลือดออกมาก หรือมีวัตถุแปลกปลอมฝังในแผล
เด็กกับพฤติกรรมเลียนแบบ
เมื่อถึงช่วงวัยนึง เด็กจะมีพฤติกรรมการเลียนแบบสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะในช่วงวัย 2-6 ปี เด็กในวัยนี้มีความสามารถจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเลียนแบบคุณพ่อ คุณแม่ คนรอบตัว หรือแม้กระทั่งบุคคลจากสื่อต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรเด็กจะซึมซับพฤติกรรมนั้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่บ่อยครั้งพฤติกรรมการเลียนแบบในเด็ก กลับส่งผลเสียต่อเด็ก โดยมักจะมีพฤติกรรมเหล่านี้
พฤติกรรมก้าวร้าว: เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่น ๆ เช่น การตะโกน การตี การต่อย พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม: เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่น ๆ เช่น การพูดคำหยาบคาย การโกหก การขโมย พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและความสัมพันธ์ของเด็ก
เด็กวัยนี้ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบละคร
เด็กในวัยนี้มักจะต้องการทำตามตัวละครที่เขาชื่นชอบ อย่างไรก็ตาม การเลือกละครที่เหมาะสมและไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเล่นเลียนแบบบทบาทที่ไม่มีการใช้ท่าทางหรือการกระทำที่เสี่ยงต่ออันตราย ผู้ปกครองควรเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นตัวอย่างให้เด็กได้รู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและความเสี่ยงของการเล่น รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับเด็กอย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้เด็กสามารถได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาทักษะและจินตนาการของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่ดี จะแก้ไขอย่างไร
เมื่อคุณพ่อ คุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบที่จะส่งผลเสียกับลูกในอนาคต ก่อนอื่นคุณพ่อ คุณแม่จะต้องใจเย็นและควบคุมอารมณ์ให้ดี และไม่ควรแสดงพฤติกรรมโกรธหรือโมโหใส่ลูก เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกกลัวและวิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก และตัวของพ่อแม่เองก็จะต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างใจเย็น ว่าทำไมพฤติกรรมนั้นถึงไม่เหมาะสม โดยภาษาที่พูดกับลูก ควรใช้ภาษาที่เรียบง่ายและเข้าใจง่าย นอกจากนี้การหากิจกรรมให้ลูกทำ จะช่วยให้เบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่ดี และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้นได้
วิธีป้องกันเด็กจากพฤติกรรมเลียนแบบ
- พ่อและแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะเด็กจะเรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก แสดงพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมให้เด็กเห็น
- ต้องสอนเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม ผู้ใหญ่ควรสอนเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม พร้อมทั้งอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าทำไมบางพฤติกรรมถึงไม่ดีและอาจส่งผลเสีย
- สนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมที่เหมาะสม ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมที่เหมาะสม กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีสิ่งอื่นทำและไม่สนใจพฤติกรรมที่ไม่ดี
- พูดคุยกับเด็กให้เยอะ ผู้ใหญ่ควรพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกเขา ถามเด็กว่าพวกเขาเห็นอะไรและเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่พวกเขาเห็น พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
การป้องกันเด็กจากพฤติกรรมเลียนแบบที่ส่งผลเสียเป็นสิ่งสำคัญ การเป็นแบบอย่างที่ดี สอนเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม กำหนดกฎเกณฑ์และข้อจำกัด สนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมที่เหมาะสม และพูดคุยกับเด็ก ล้วนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้เด็กพัฒนาพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พฤติกรรมเลียนแบบของลูก ตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกคือพ่อแม่
อุทาหรณ์ของมีคม! พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ
ปล่อยให้ลูกซนบ้าง แม่อย่าเพิ่งห้าม ถ้าอยากให้ลูก มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!