อุทาหรณ์ พ่อสูญเสียลูกชาย จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ย้ำให้รร.มีเครื่อง AED

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่คิดว่าโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้ด้วย แต่จริง ๆ แล้วภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิต เหมือนกับกรณีนี้ พ่อสูญเสียลูกชาย จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งได้ออกมาโพสต์แชร์อุทาหรณ์ พร้อมเน้นย้ำให้รัฐบาลและโรงเรียนต่าง ๆ สนับสนุนการสอน CPR และมีเครื่อง AED

 

อุทาหรณ์ พ่อสูญเสียลูกชาย จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง “Drama-addict” ได้ออกมาโพสต์อุทาหรณ์ของคุณพ่อท่านหนึ่ง ที่ได้ออกมาแชร์ว่าลูกชายตัวเองเสียชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยในโพสต์ดังกล่าวได้ระบุว่า “สวัสดีครับจ่า ผมพึ่งสูญเสียลูกชายคนเดียว ในวัย 17 ปีไป จากการซ้อมกีฬาในโรงเรียน เนื่องจากหัวใจล้มเหลวกะทันหัน ผมเสียใจมาก ๆ ครับ

 

ผมอยากให้รัฐบาล รวมทั้งโรงเรียนต่าง ๆ สนับสนุนให้มีการเรียน CPR และรวมถึงให้รัฐบาลให้งบ หรือมีเครื่อง AED และออกซิเจน ประจำโรงเรียนจริง ๆ ครับ ถ้าวันนั้นที่โรงเรียนมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ลูกผมคงอาจจะมีโอกาสรอด ไม่ต้องรอรถพยาบาลตั้งครึ่งชั่วโมง สุดท้ายมันก็ไม่ทันการณ์จริง ๆ แต่ทางครู และโรงเรียนให้การช่วยเหลือผมดีมาก ๆ ครับ รวมถึงเพื่อนฝูงก็รักใคร่สามัคคีกันมากจริง ๆ

น้องเป็นเคสแรกของ รร.ตั้งแต่เปิดมา 15 ปี แกเสียตั้งแต่ในสนาม กว่าเจ้าหน้าที่จะมาก็ปั๊มไม่ขึ้นแล้วครับ ผมไม่โทษ รร.เลยนะครับ มันเป็นอุบัติเหตุ แต่แค่อยากให้รัฐบาลใส่ใจกับหาวิธีป้องกัน

 

ก็ฝากโรงเรียนต่าง ๆ ช่วยกันติดตั้ง AED ด้วยนะครับ มันจำเป็นมาก เพราะปกติเวลามีเคสแบบนี้ ถ้าเป็นการ CPR ปกติ เราจะมีโอกาสช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติได้แถว ๆ 10-20% แต่ถ้ามี AED โอกาสช่วยชีวิตได้จะพุ่งไปถึง 50% ยิ่งเข้าถึงเครื่อง AED ได้ไว ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูง และสามารถเกิดเหตุแบบนี้ได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนสูงอายุ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โดยในโพสต์ดังกล่าว ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความเสียใจและแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ พร้อมให้ความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลควรใส่ใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เช่น “ฝากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ช่วยส่งเสริมผลักดันเรื่องนี้ด้วยนะคะ มันสำคัญและช่วยชีวิตคนได้จริง ๆ ค่ะ, แนะนำมาแทนวิชาลูกเสือเนตรนารีเลยครับ เอาเวลามาเรียนการช่วยชีวิตขั้นต้น, ตัวเองใช้เครื่องนี้ รักษาชีวิตให้รอดมามากกว่า 9 ครั้ง เครื่องนี้สำคัญมากจริง ๆ แค่ครั้งเดียว ช่วยชีวิตได้ คุ้มแล้วค่ะ” เป็นต้น

 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ โรคที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น หัวใจเต้นช้าผิดปกติในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ และอีกชนิดที่พบ คือ กลุ่มที่มีอาการหัวใจเต้นสะดุด ซึ่งเกิดจากการที่ตำแหน่งบางตำแหน่งของหัวใจ มีการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติออกมา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นสะดุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

สาเหตุการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนอายุน้อย

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่สำหรับการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนอายุน้อย ๆ นั้น ส่วนมากมักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่เกิด อาจแสดงอาการในเวลาที่ต่างกัน ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการตั้งแต่เด็ก แต่อาจไม่เป็นบ่อยและไม่ทันสังเกต ซึ่งพออายุมากก็อาจเริ่มแสดงอาการออกมาจนเริ่มสังเกตได้และตรวจพบได้

นอกจากนี้ โรคหัวใจเต้นผิดปกติบางครั้งอาจไม่แสดงอาการออกมา ทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีอาการ พอไปตรวจตามสถานพยาบาลแล้วไม่พบความผิดปกติ เพราะเวลาที่ไปตรวจความผิดปกตินั้นหายไปแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สำหรับวิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะให้กลับมาเต้นเป็นปกติ จะทำการรักษาด้วยยา ด้วยไฟฟ้า หรือใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งการรักษาด้วยยานั้นจะคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วจนเกินไป บางรายอาจต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาอีกที อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ทางที่ดีผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ความเครียด ยาบางชนิด กาแฟ และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

 

รู้จักเครื่อง AED ทางเลือกเพื่อรอด

เครื่อง AED หรือ Automated External Defibrillator เป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ โดยเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ โดยสามารถใช้รักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า กระตุกหัวใจโดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบของการเต้นหัวใจที่ผิดจังหวะ เพิ่มโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่แบบปกติ

สำหรับวิธีการรักษานั้น เริ่มแรกผู้ช่วยเหลือต้องเปิดฝาเครื่อง AED และฉีกซองบรรจุอิเล็กโทรด โดยแผ่นอิเล็กโทรดจะมีอยู่ 2 ชิ้น ชิ้นแรกจะนำไปติดบนอกของผู้ป่วย ส่วนแผ่นที่สองติดกับอกตอนล่างของผู้ป่วย จากนั้นเครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นหัวใจ ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ช่วยเหลือห้ามสัมผัสกับผู้ป่วยเด็ดขาด เมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จแล้ว จะทำการช็อกไฟฟ้า ผู้ช่วยเหลือต้องกดที่ปุ่มช็อกตามสัญญาณที่ปรากฏบนเครื่อง และสลับกับการทำ CPR อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมา

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปั๊มหัวใจ ทำ CPR ผายปอดที่ถูกต้อง เมื่อทารกหมดสติ ลูกหยุดหายใจ

 

 

วิธีการทำ CPR เบื้องต้นเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

การทำ CPR เป็นการช่วยเหลือผู้ที่หัวใจกำลังจะหยุดเต้นให้กลับมาเป็นปกติ ความสำคัญของการทำ CPR นั้นอยู่ที่การปั๊มหัวใจ ผู้ช่วยเหลือต้องทำให้ถูกต้องและทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนเกิน 4 นาที ก็อาจทำให้สมองเสียหายได้ ซึ่งวิธีการทำ CPR เบื้องต้น มีดังนี้

  1. ตรวจความปลอดภัยบริเวณรอบ ๆ ผู้ป่วย เช่น ของมีคม กระแสไฟฟ้า มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่น ๆ ถ้าไม่ปลอดภัย ควรรอเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยเหลือ
  2. หากสถานที่รอบผู้ป่วยปลอดภัยแล้ว และผู้ป่วยหมดสติ ให้ทำการตีไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง ๆ ประมาณ 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยรู้สึกตัวและหายใจเอาได้ ให้จับนอนตะแคง ไม่ควรทำ CPR ขณะผู้ป่วยยังมีสติอยู่
  3. หากผู้ป่วยไม่ได้สติจริง ๆ ให้รีบโทรแจ้ง 1669 และเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อแจ้งว่าผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ และนำเครื่อง AED มาด้วย
  4. เริ่มทำการกดหน้าอก จับผู้ป่วยนอนหงาย แล้ววางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก อีกมือหนึ่งประสานกันไว้ แล้วเริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที
  5. ทำ CPR เรื่อย ๆ จนกว่าทีมแพทย์จะมา หากไม่เคยทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ หากเคยทำ CPR มาแล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการผายปอดช่วยหายใจ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจดูความผิดปกติของลูกอยู่เสมอ หากลูกมีอาการผิดปกติบริเวณหัวใจ ให้รีบพาไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ถ้าหากลูกมีอาการหมดสติจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คุณพ่อคุณแม่ควรทำ CPR ทันที และให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยโดยเร็วที่สุด

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคหัวใจโตในเด็ก และโรคหัวใจในผู้ใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

การทำบอลลูนหัวใจ ทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคหัวใจ ทำอย่างไร?

หัวใจวายมีอาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาหรือไม่ รวมความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจวาย

ที่มา : Drama-addict, sukumvithospital.com, paolohospital.com, bangpakok3.com, bangkokpattayahospital.com

บทความโดย

Sittikorn Klanarong