เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 สำนักข่าวรายงานว่า ตำรวจสระบุรีได้จับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่ กระหน่ำยิงชาวบ้าน โดยเป็นชายอายุ 41 ปี บาดเจ็บบริเวณหน้าวัดแห่งหนึ่ง และแม่ค้าขายลูกชิ้นที่บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย พบว่ามือปืนเป็นเพียงเด็กชายอายุ 13 ปีเท่านั้น
เด็กอายุ 13 กระหน่ำยิงชาวบ้าน ในจังหวัดสระบุรี
ด้านความคืบหน้า นายอานนท์ หรือ นนท์ อายุ 41 ปี ถูกกลุ่มวัยรุ่นใช้อาวุธยิงกระหน่ำเกือบ 10 นัด ตรงบริเวณวัดแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยกระสุน 2 นัด ถูกหญิงอายุ 57 ปี ซึ่งเป็นแม่ค้าขายลูกชิ้น ได้รับบาดเจ็บสาหัส แพทย์ได้ทำการผ่าตัดและปั๊มหัวใจเธอถึง 3 รอบ ซึ่งเหตุการณ์เกิดในช่วงเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา
ชาวบ้านยืนยันว่า กลุ่มที่ใช้อาวุธปืน คือ พวกของนายแชมป์ ที่มีเรื่องขัดแย้งกับนายนนท์ เป็นเรื่องที่นายนนท์ขโมยสายชาร์จแบตเตอรีของหลานสาว และได้ด่าทอ พร้อมถือมีดข่มขู่แม่ของนายนนท์
ทางด้านตำรวจ สภ.เสาไห้ ตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดบริเวณทางเข้า-ออกวัด พบภาพผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มวัยรุ่นชายจำนวน 8 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 3 คัน สาเหตุที่เกิดความรุนแรงมาจาก นายแชมป์ถูกนายนนท์บุกมาหาที่ห้อง พร้อมตะคอกถาม “ด่าแม่กูทำไม” จากนั้นตบศีรษะและบังคับให้นายแชมป์นั่งรถ พร้อมใช้เท้าถีบนายแชมป์ด้วย เพราะสู้ไม่ไหว นายแชมป์จึงยกมือไว้ขอโทษ แล้วออกไปหากลุ่มเพื่อนเพื่อยกพวกมายิงแก้แค้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อแม่ควรให้ลูกเล่นปืนไหม ลูกเล่นปืนจะเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรงหรือเปล่า
ทางพ่อของนายแชมป์ได้ยอมรับว่าลูกตัวเองผิดที่ไปด่าข่มขู่แม่ของคู่กรณี แต่อีกฝ่ายก็ผิดเพราะแทนที่จะใช้คำพูดสั่งสอน กลับใช้ความรุนแรงกับเด็ก แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าลูกของตัวเองไม่ใช่มือปืน สอดคล้องกับคำให้การของพยานที่เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่าเพื่อนของนายแชมป์เป็นผู้ยิง
ตำรวจได้ควบคุมตัวนายแชมป์ อายุ 16 ปี และเด็กชายเอ็ม อายุ 13 ปี จากที่บ้านหลังหนึ่ง ในอำเภอบ้านหมอ มาสอบสวนที่โรงพัก เด็กชายเอ็มได้ยอมรับว่าเป็นคนกระหน่ำยิงชายอายุ 41 ปี เพราะโกรธแค้นแทนเพื่อน จนกระสุนพลาดไปโดนแม่ค้าขายลูกชิ้น
ด้านแม่ของเด็กชายเอ็ม ได้เปิดเผยว่า ลูกชายเป็นคนที่รักเพื่อนมาก วันเกิดเหตุกลุ่มเพื่อนของลูกตนมาขอยืมรถมอเตอร์ไซค์ บอกว่าจะขี่ไปซื้อน้ำแข็ง ก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งตำรวจมาตามที่บ้าน ถึงได้รู้ความจริงว่าลูกชายเป็นผู้ต้องหาคดีพยายามฆ่า
ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนและติดตามตัวผู้ร่วมก่อเหตุที่เหลือ เพื่อมาสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีตามกฎหมาย
ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดจากอะไร
การที่ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวบ่อย ๆ เกิดขึ้นจากการที่เขาคิดว่าปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญนั้น ใหญ่เกินไปที่จะจัดการ ทำให้เกิดอารมณ์เสีย โมโห หงุดหงิด และไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไร ซึ่งในบางครั้งพฤติกรรมและความรุนแรงนั้น อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น ออทิสติก หรือโรคสมาธิสั้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ยากเกินจะควบคุมตัวเอง
ทั้งนี้ พฤติกรรมก้าวร้าวไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก แต่เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ผ่านมา ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนและแก้ไขให้ดีขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมลูกก้าวร้าว ต้นตอของปัญหาความก้าวร้าวในตัวเด็ก มีแบบไหนบ้าง
ลูกก้าวร้าวเกิดจากกรรมพันธุ์จริงไหม
การที่ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากน้อย อาจเกิดจากความรุนแรงในวัยเด็ก เช่น ครอบครัวมีภาวะเครียดอย่างรุนแรง และมีความกดดัน ยิ่งหากลูกเผชิญกับความเครียดหรือความกดดันตั้งแต่เด็กมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าวที่รุนแรงมากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าว อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวเด็กได้เช่นกัน เช่น เพื่อน ครู สังคม สื่อโซเชียล ความเชื่อทางสังคม และคนรอบข้าง เป็นต้น
5 วิธีรับมือกับพฤติกรรมก้าวร้าวของลูก
ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมก้าวร้าวในตัวเด็กสามารถแก้ไขได้ หากมีคนดูแล ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ เรามาดูวิธีรับมือกับพฤติกรรมรุนแรงและก้าวร้าวของลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ดูได้
1. พยายามตั้งสติและใจเย็นเมื่อลูกก้าวร้าว
ทันทีที่ลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่ต้องนิ่งเฉยก่อนและพยายามสังเกตพฤติกรรมลูก หากผู้ปกครองไม่สงบสติ ก็อาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นทั้งคู่ ดังนั้น อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ ไม่ควรใส่อารมณ์กับลูก
2. อย่าใช้อารมณ์และความรุนแรง
ในสถานการณ์ที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตามใจและยอมลูก เช่น หากลูกต้องการของเล่นก็ไม่ควรซื้อให้ แต่หากซื้อให้ก็จะเหมือนเป็นการให้รางวัลลูกในการทำพฤติกรรมที่ไม่ดี และจะเป็นการสอนลูกให้ทำแบบนี้อีกเมื่อไหร่ก็ตามที่อยากได้ของเล่น
3. รู้จักสิ่งที่กระตุ้นให้ลูกโกรธ
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักนิสัยของลูก หากรู้ว่าลูกไม่ชอบทำอะไร ก็ไม่ควรไปกระตุ้นหรือยั่วโมโหเขา ที่สำคัญเวลาจะทำอะไร อย่าลืมบอกลูกล่วงหน้าว่า อีก 15 นาทีจะต้องทำอะไร เพื่อให้ลูกได้มีเวลาเตรียมตัว และอย่าลืมให้ของรางวัลเมื่อลูกทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ
4. ช่วยลูกปรับอารมณ์ของตัวเอง
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกโกรธและไม่ยอมพูดอะไรออกมา แต่แสดงทางสีหน้า ก็อาจพูดกับเขาว่า “พ่อรู้ว่าลูกกำลังโกรธอยู่ พ่ออยากให้หนูใจเย็น ๆ และระบายความเครียดออกมา” เพื่อเป็นการเช็กความรู้สึกของลูก และเป็นการบอกลูกว่าเรากำลังใส่ใจเขา การพูดออกมาเป็นคำพูดจะช่วยให้ลูกรู้ตัวว่าเขากำลังมีอารมณ์โกรธอยู่ เพื่อให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง
5. ให้รางวัลหากลูกทำดี
ในวันที่ลูกน่ารัก และไม่สร้างปัญหาใด ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ของรางวัลเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรือของเล่น แต่เป็นการชมเชย หรือให้ลูกเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น อาหารที่ชอบ หนังที่ชอบ หรือหนังสือที่ชอบ และควรใช้เวลาร่วมกันกับเขาด้วย
การที่ลูกมีพฤติกรรมที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่อาจไม่สามารถจัดการได้เพียงลำพัง ดังนั้น ควรปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อหาวิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียในอนาคต รวมถึงควรศึกษาความรู้ที่ช่วยส่งเสริมอารมณ์ของเด็ก ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เทคนิคสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก วัย 6 เดือน-3 ปี ฝึกลูกให้เป็นเด็กดี ไม่ก้าวร้าว
เลี้ยงลูกแบบนี้ไง ลูกถึงเป็น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เด็กเกเร ไม่ใช่เรื่องเล็ก
ลักษณะนิสัยของพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก ทำให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว คุณเป็นแบบนี้ไหม!
ที่มา : news.ch7.com, bettermindthailand.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!