เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง แชร์เรื่องราวหลัง ลูกสาวฝากครรภ์กับคลินิก แต่เมื่อลูกสาวเจ็บท้องหนัก กลับถูกปฏิเสธในการทำคลอด อ้างทารกยังไม่ถึงกำหนดคลอด
ผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์เรื่องราวของ ลูกสาวฝากครรภ์กับคลินิก แห่งหนึ่งในวันที่ 13 พฤษภาคม โดยระบุข้อความเอาไว้ว่า น้องมีอาการเจ็บท้องจึงได้พาลูกสาวไปหาหมอที่คลินิก แล้วหมอที่คลินิกก็ได้ส่งตัวน้องไปที่ รพ.กาญจนดิษฐ์ เพื่อจ่ายยาระงับการคลอด เนื่องจากอายุครรภ์ของน้องคือ 8 เดือน ซึ่งให้ยามา 4 วันน้องก็ยังคงเจ็บท้องไม่หาย
ในวันที่ 16 พฤษภาคม อาการของน้องยังไม่ดีขึ้น และช่วงเย็นของวันเดียวกัน คุณแม่ของน้องก็ได้โทรไปสอบถามคุณหมอที่คลินิกว่า ติดสาเหตุอะไรทำไมถึงไม่ผ่าคลอดให้ลูกสาว ผ่าไม่ได้หรือเพราะไม่ได้ใส่ซอง ด้านคุณหมอตอบกลับมาว่า อายุครรภ์ของน้องยังไม่ถึงกำหนดคลอด คุณหมอจึงจำเป็นให้ยาระงับการคลอดไปก่อน หากอาการของน้องยังไม่ดีขึ้นหมอก็คงไม่สามารถปล่อยน้องกลับบ้านได้ ต้องรักษาไปก่อนและให้ยาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกำหนดของการคลอด
จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม ทางคุณหมอได้แจ้งกับคุณแม่ว่า คนไข้มีโอกาสที่จะรับยาระงับการคลอดไม่ไหวแล้ว ซึ่งหมายถึงน้องมีโอกาสผ่าคลอดได้ตลอดเวลา แต่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด ซึ่งอายุครรภ์ของน้องอยู่ที่ 35 สัปดาห์ น้ำหนักเด็กอยู่ที่ 2,400 กรัม ซึ่งการที่หมอจะผ่าคลอดให้ต้องมีความพร้อมทั้งหมอผ่าตัดและหมอเด็ก เนื่องจากอายุครรภ์ยังไม่ถึงกำหนด กลัวว่าเมื่อผ่าออกมาแล้วเด็กจะไม่ส่งเสียงร้องหรือไม่แข็งแรง และจะต้องส่งตัวเด็กไปยัง รพ.สุราษฎร์ เพื่ออบและใส่ท่อให้กับเด็ก
ด้านคุณแม่ยังคาใจว่าจะไม่พร้อมผ่าตรงไหนในเมื่อคุณหมอผ่าคลอดก็ยืนอยู่ตรงหน้า หมอเด็กก็มี เพราะหมอเองก็เพิ่งเดินออกมาจากห้องผ่าคลอด คุณแม่และน้องจึงร้องขอให้คุณหมอช่วยผ่าคลอดให้แต่ก็โดนปฏิเสธ ซึ่งสาเหตุที่คุณแม่อยากให้ผ่าคลอดในวันนั้นเพราะเป็นวันศุกร์ หากตรงเสาร์อาทิตย์คุณหมอคงไม่ขึ้นเวรอยู่แล้ว และแล้วสิ่งที่คุณแม่กังวลมาตลอดก็เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ช่วงประมาณตี 1 น้องได้โทรกลับมาที่บ้าน และได้แจ้งว่าทาง รพ. กาญจนดิษฐ์ จะส่งตัวไป รพ.สุราษฎร์ธานี คุณแม่กับน้องสาวจึงรีบเดินทางไปที่ รพ.กาญจนดิษฐ์ ทันที เมื่อไปถึงพยาบาลก็ได้เรียกให้คุณแม่ไปรอที่หน้าห้องคลอด ตอนนั้นอาการของลูกสาวเริ่มไม่สู้ดี และทางพยาบาลก็แจ้งกับคุณแม่ว่า กลัวมดลูกน้องแตก ซึ่งแปลว่ามีความเสี่ยงทั้งน้องและลูกน้อยในท้อง จึงได้ทำเรื่องส่งตัวไปที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และได้ผ่าคลอดในเวลา 08.07 นาที
คุณหมอเข็นหลานออกมาพร้อมแจ้งคุณแม่ว่า ขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ หมอไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กเอาไว้ได้ เพราะก่อนผ่าคลอดคุณหมอพยายามหาคลื่นหัวใจของเด็กแล้ว แต่ก็หาไม่เจอ และได้มีการทำเอกซเรย์ก่อนผ่าคลอดแล้ว แต่เด็กก็ไม่มีสัญญาณชีพจร นั่นหมายถึงเด็กได้เสียชีวิตตั้งแต่ตอนนำตัวส่งมาแล้ว เพราะมดลูกของน้องได้ลอกก่อนกำหนด และหมอได้ชั่งน้ำหนักของเด็กแล้วอยู่ที่ 2,550 กรัม
ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม ผอ. รพ.กาญจนดิษฐ์ ได้ส่งทีมแพทย์มาเยี่ยมที่บ้าน เพราะทางแม่ของสามีน้องได้ร้องเรียนไปยัง รพ. จึงได้มาแสดงความเสียใจพร้อมพูดคุยเกี่ยวกับการเยียวยา ซึ่งทางคุณแม่เองก็ไม่ได้ติดใจจะเอาความกับทางโรงพยาบาลแต่อย่างใด แต่ติดกับคุณหมอที่คลินิกที่ไปฝากครรภ์มากกว่า เพราะเป็นคุณหมอจาก รพ.กาญจนดิษฐ์ ที่มาเปิดคลินิกของตัวเอง ทางทีมแพทย์ที่มาเยี่ยมจึงได้กลับไปแจ้งให้ ผอ. ทราบและทำการนัดใหม่ แต่ปรากฏว่าคุณหมอลาจนถึงวันที่ 2 มิถุนายน ทาง รพ. จึงทำการนัดให้คุณแม่ไปพูดคุยในวันที่ 6 มิถุนายน
โดยประเด็นหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ “ทำไมคุณหมอไม่ผ่าคลอดให้ลูกสาว” ซึ่งคุณหมอได้กลับมาว่าเพราะน้องยังไม่ใช่คนไข้พิเศษ หมอยังไม่ได้ติดสติกเกอร์ที่สมุดฝากครรภ์ ในกรณีที่หมอจะรับคลอด คนไข้ต้องมีอายุครรภ์ตามกำหนดและไม่มีปัญหาใด ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน
ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งคุณแม่เองก็ยังคงติดใจ ในเมื่อทำคลอดไม่ได้ ทำไมถึงไม่แจ้งตั้งแต่ครั้งแรกตอนไปฝากครรภ์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจว่าหากฝากครรภ์กับคลินิกก็ต้องเป็นคลินิกที่ทำคลอดให้ ทำไมไม่แจ้งให้ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตั้งแต่ครั้งแรกจะได้ไม่เสียเงินหลายต่อทำไม
ฝากครรภ์กับคลินิก ต่างกับโรงพยาบาลอย่างไร ?
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนควรปฏิบัติก็คือ การฝากครรภ์ ซึ่งหากเป็นไปได้แนะนำให้ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลดีที่สุด เพราะมีอุปกรณ์เครื่องมือครบครัน ทั้งยังมีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมทุกด้านมากกว่าคลินิก หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ส่งตัวรักษาเฉพาะด้านในทันที
แต่ทางระยะทางไม่สะดวกในการเดินทางก็สามารถฝากครรภ์กับคลินิกใกล้บ้านได้ค่ะ แต่ต้องเลือกคลินิกที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจครรภ์ครบ เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และหาสิ่งผิดปกติหรือความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งในปัจจุบันมีคลินิกใหญ่ ๆ หลายที่เลยค่ะ แถมบางที่ยังมีบริการทำคลอดอีกด้วย ทั้งแบบคลอดตามธรรมชาติและผ่าคลอดตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเลยค่ะ
การฝากครรภ์กับคลินิก
สำหรับการฝากครรภ์กับทางคลินิก ส่วนใหญ่จะเรียกว่า การฝากครรภ์พิเศษ โดยบางคลินิกอาจมีค่าใช้จ่ายเท่า ๆ กับการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเลยค่ะ ข้อแตกต่างระหว่างการฝากครรภ์ที่คลินิกกับโรงพยาบาลคือช่วงเวลา ถ้าเป็นคลินิกก็สามารถมาหาคุณหมอได้ตลอดระยะเวลาทำการในเวลาที่เราสะดวก แต่หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล จะต้องพบในช่วงเวลาทำการ ซึ่งเราต้องมาหาคุณหมอตามเวลานัดเท่านั้นค่ะ หากมาเวลาอื่นอาจจะไม่ได้พบกับคุณหมอที่ฝากครรภ์เอาไว้
ข้อดีของการฝากครรภ์กับคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน
เราสามารถเจาะจงคุณหมอที่ต้องการได้เลย เรียกว่า “การฝากครรภ์พิเศษ” ซึ่งหมายถึงทุก ๆ ครั้งที่เรามาตรวจสุขภาพครรภ์ก็จะได้เจอกับคุณหมอท่านเดิมนั่นเองค่ะ ทำให้การดูแลรักษาครรภ์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องโอนข้อมูลให้คุณหมอท่านอื่น ๆ แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ดังนั้น คุณแม่จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมให้ดีก่อนเลือกที่ฝากครรภ์ค่ะ
ปัจจุบันการฝากครรภ์กับคลินิกไม่ได้มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลมากเท่าไร หากเลือกคลินิกที่ดีสามารถรองรับการฝากครรภ์และการทำคลอดได้ แต่ถ้าไม่ได้คลอดกับทางคลินิก คุณแม่อาจจะต้องไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยสามารถบอกให้ทางคลินิกทำเอกสารใบส่งมอบตัวได้ค่ะ แต่อาจจะต้องบอกตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ที่มา :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!