เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก โหนกระแส ได้มีการรายงานเรื่องราวร้องทุกข์ของคุณแม่ท่านหนึ่ง กรณีลูกชายวัย 5 ขวบ
ถูกหมาเพื่อนบ้านกัดหูฉีก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้าน ซึ่งวันที่เกิดเหตุคือ 14 พฤษภาคม 2566 โดยคนในบ้านหลังดังกล่าว (แต่ไม่ใช่เจ้าของหมา) ได้มาตัดผมที่ร้าน แล้วหมาก็ได้วิ่งตามมาด้วย ตอนนั้นลูกชายกำลังเล่นอยู่หน้าบ้านและเอาไม้ตีพื้น คุณแม่จึงได้พาลูกชายเข้าไปในบ้าน แต่ก็มีช่วงจังหวะหนึ่งที่แม่อยู่ในบ้าน และไม่ได้สังเกตว่าลูกชายได้ออกไปหน้าบ้านอีกครั้งตอนไหน ได้ยินเพียงเสียงร้องกรี๊ดดังลั่น
เมื่อเธอวิ่งออกไปดูที่หน้าบ้าน ก็ทำให้ถึงกับช็อก เพราะเห็นลูกชายโดน
หมากัดไปทั้งใบหน้า ใบหู และบริเวณศีรษะ ซึ่งในเวลานั้นก็ได้มีคนที่อยู่ใกล้ ๆ รีบวิ่งเข้าไปอุ้มเด็กออกมา ส่วนทางด้านพี่ชายเองก็ได้พยายามเข้าไปช่วยหลานเต็มที่ แถมยังถูกกัดที่หน้าแข้งจนได้รับบาดเจ็บ หลังจากเกิดเหตุ แม่ได้พาลูกชายไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว แล้วได้พบว่าใบหูฉีกขาดทำให้ต้องเย็บ นอกจากนี้ยังมีแผลที่ใบหน้าและศีรษะอีกด้วย
ต่อมาทางคุณแม่ได้แจ้งไปยังเจ้าของหมาตัวนั้น ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติกันได้โอนเงินเป็นจำนวน 1 หมื่นบาท เพื่อเป็นค่าเดินทางและค่ารักษา ซึ่งโอนให้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม และในตอนนี้ลูกชายก็ได้ออกจากโรงพยาบาล เมื่อเธอทวงถามถึงการรับผิดชอบเพื่อเยียวยา ทางด้านเจ้าของหมากลับตอบกลับมาว่า ก็จ่ายให้ไปแล้วไง 1 หมื่นบาท และท้าทายให้แจ้งความอีกด้วย คุณแม่กับพี่ชายจึงได้เข้าไปแจ้งความและได้ลงบันทึกประจำวันเอาไว้ พร้อมทั้งยังมีการโต้เถียงกันไปมาเรื่องค่ารักษาอีกด้วย ด้านพี่ชายโมโหหนักพร้อมจะเรียกค่าเสียหาย 2 แสนบาท
นอกจากนี้ คุณแม่ยังได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า หมาของร้านค้าที่กัดลูกชายเธอนั้น โดนเป็นรอบที่ 3 แล้ว ซึ่ง 2 ครั้งแรกไม่ได้มีการเรียกร้องค่ารักษาใด ๆ แต่ครั้งนี้ลูกชายเจ็บหนักมากกว่ารอบที่ผ่านมา จึงได้มีการเรียกร้องค่าเสียหายเกิดขึ้น และทางเจ้าของหมาเองก็ไม่ได้มีการล่ามหมาเอาไว้เลย แต่พอมีการแจ้งความเกิดขึ้นจึงยอมล่ามหมาเอาไว้ ตนจึงอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย เพราะอาการของน้องในตอนนี้ตอนดึกชอบลุกขึ้นมานั่งร้องไห้ และถ้าหากลูกได้เจอหมาก็จะรีบวิ่งมากอดแม่ด้วยความหวาดกลัว
ทำยังไงเมื่อลูก ถูกหมาเพื่อนบ้านกัดหูฉีก
สำหรับเด็ก ๆ ที่ถูกหมาหรือแมวกัดนั้น ถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยมาก ๆ โดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งในฐานะของพ่อแม่ควรกำชับให้ลูกเล่นอย่างระมัดระวัง และจำเป็นต้องปลูกฝังถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นให้เด็ก ๆ ได้ทราบด้วยค่ะ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงก็ให้ตั้งสติแล้วค่อย ๆ ทำตามขั้นตอน
หลังจากเด็ก ๆ ถูกหมาหรือแม่กัด สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือ
การทำความสะอาดแผลให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถล้างได้ด้วยน้ำเปล่าและสบู่เลยค่ะ โดยฟอกเบา ๆ ให้ทั่วบริเวณแผล จากนั้นก็ประเมินความสาหัสของแผล 3 ระดับ ระดับแรกคือลักษณะไม่มีบาดแผล ไม่มีเลือด ระดับสองคือ มีรอยข่วนที่เกิดจากเล็บของสัตว์แต่ไม่มีเลือดออก และระดับสามคือ ระดับที่มองเห็นแผลได้ชัดเจน มีเลือดออก และเด็กได้รับการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์โดยตรง
การทำความสะอาดแผลที่ไม่ได้รุนแรงมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผลเพื่อฆ่าเชื้อได้เลยค่ะ แต่ถ้ามีแผลหรือมีเลือดออกมาก หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จให้รีบพาลูกไปหาแพทย์ทันทีค่ะ เพราะเด็ก ๆ ควรได้รับยาฉีดป้องกัน
โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ โปรตีนต้านพิษที่ทำลายพิษสุนัขโดยตรง ซึ่งเรื่องการรับวัคซีนผู้ป่วยต้องเคร่งครัดอย่างมากเลยค่ะ เพราะถ้าลืมเพียงครั้งเดียวก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพ และอาจจะต้องเริ่มต้นรับวัคซีนกันใหม่
โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร ?
โรคพิษสุนัขบ้า คือ โรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนแถมยังอันตรายอย่างมาก เกิดจากผู้ป่วยสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในตระกูล Rhabdoviridae ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่กัด และทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทตามมา เช่น ชัก ประสาทหลอน อัมพาต แถมโรคนี้ยังเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มียารักษา มีแค่วิธีที่ช่วยป้องกันเท่านั้น นั่นก็คือการฉีดวัคซีนนั่นเอง
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม ?
สำหรับการรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัข ทางกระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทย ได้มีการแนะนำให้ฉีดอยู่ที่ 1-5 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือเปล่า โดยมีวิธีการฉีดด้วยกันอยู่ 2 แบบ
- การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง (Intradermal: ID) วัคซีน BCG วัคซีนเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้า
- การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular: IM) เป็นวัคซีนป้องกัน โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และโรคพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพค่อนข้างดี ซึ่งฉีดได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงเด็กและสตรีมีครรภ์ด้วยค่ะ หากผู้ที่ถูกหมากัดได้รับวัคซีนเข็มแรกโดยเร็ว และได้รับครบตามจำนวนเข็มที่แพทย์สั่ง ก็จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีเลยค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากโดนหมาหรือแมวกัดซ้ำภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะต้องฉีดยากระตุ้นอีก 1 เข็มเพื่อป้องกันอยู่ดีค่ะ แต่ถ้าหากเกิน 6 เดือนไปแล้ว จะต้องฉีดกระตุ้น 2 เข็ม ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องบันทึกวันที่การรับวัคซีนเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อยืนยันต่อแพทย์ในการวางแผนการรักษาให้ถูกต้องค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ที่มา :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!