เพราะเรื่องของความปลอดภัยของลูก เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกค่ะ โดยเฉพาะบ้านไหนที่ต้องพาลูกเดินทางไกลบ่อย แต่ไม่เคยเห็นความสำคัญของคาร์ซีท วันนี้มาดูอุทาหรณ์จากคุณแม่ท่านหนึ่งค่ะ ที่ได้ออกมาเผยแพร่ประสบการณ์ส่วนตัว ลูกรอดเพราะคาร์ซีท หลังเกิดอุบัติเหตุรถไหลมาชนจนรถเละทั้งคัน
เรื่องราวนี้ถูกพูดถึงในเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ที่ก่อนหน้านี้ เคยมีคุณแม่ท่านหนึ่งฝากประเด็นที่น่าสนใจ ผ่านทางเพจมา โดยเป็นการตั้งคำถามว่า พ่อแม่คนอื่นมีความเห็นอย่างไรบ้างกับประเด็นนี้ โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า “หนูมีลูกสาวอายุ 1 ขวบ 5 เดือนค่ะ หนูและสามีฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลค่ะ
แต่ปัญหาคือ เวลาออกไปข้างนอกกันหลาย ๆ คน หรือออกไปกับญาติผู้ใหญ่ ทุกคนมักจะบอกว่าไม่ต้องเอาคาร์ซีทไปหรอก บางครั้งก็ว่ามันเกะกะ ทำให้คนนั่งได้น้อยลง เพราะค่านิยมเดิม ๆ ของผู้ใหญ่ในประเทศไทยที่ว่า ไม่เป็นไร เลี้ยงลูกมาก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ก่อนไม่เห็นต้องมีเลย
ทำให้เรื่องคาร์ซีท เป็นเรื่องที่คนละเลย ตัวหนูเอง สามี และเพื่อน ๆ ที่มีลูกวัยเดียวกัน รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องคาร์ซีทออกมาค่ะ แต่จนแล้วจนเล่า กฎหมายข้อนี้ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน หรือมีความเด็ดขาดในเรื่องนี้ อยากรบกวนจ่านำเสนอข่าวในเรื่องนี้นิดนึงได้รึเปล่าคะ เพื่อที่จะเป็นกระบอกเสียง คิดว่าลำพังความคิดหรือวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่ลูกหลานเกรงใจผู้ใหญ่ยังมีอยู่มาก ๆ ค่ะ กฎหมายเป็น หนึ่งอย่างในการทำสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นค่ะ และเพื่อความปลอดภัยของลูกหลานค่ะ”
ซึ่งหลังจากที่โพสต์นี้ถูกแชร์ออกไป ต่างก็มีหลายความเห็นเข้ามาคอมเมนต์เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกัน คือเห็นด้วยเรื่องความปลอดภัยที่มีให้เด็ก แต่ในทางเดียวกันก็มีความเห็นที่บอกว่า ราคาสูงเกินกว่าที่ครอบครัวจะหาได้ เนื่องจากบางครอบครัวอาจไม่มีเงินมากพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกรอดเพราะ “คาร์ซีท” อุปกรณ์ช่วยชีวิต ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย
ทำให้หลังจากนั้นไม่นาน มีคุณแม่รายหนึ่งได้ฝากประสบการณ์ตรงมาในเพจอีกครั้ง โดยคุณแม่ได้ระบุว่า ลูกรอดเพราะคาร์ซีท ทั้ง 2 คน หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ รถบรรทุกเบรกแตกไหลมาชน โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความดังนี้ “สวัสดีค่ะจ่า เห็นโพสต์เรื่องคาร์ซีท แต่แปะรูปไม่ได้เลยขอส่งมาเผื่อจะมีประโยชน์ เตือนใจใครได้ อันนี้ประสบเหตุเองค่ะ วันที่ 13 สิงหาคม รถบรรทุกเบรกแตกมาชน แม่ขับ ลูก 2 คนนั่งคาร์ซีทด้านหลังคนละข้าง
ลูกที่นั่งด้านที่โดนชนเต็ม ๆ จนประตูหายไป มีแค่รอยถลอกที่ขานิดเดียว ส่วนอีกด้าน ไม่เป็นอะไรเลย ทั้งหมดเป็นผลจากการนั่งคาร์ซีทจริง ๆ ค่ะ ส่วนแม่คาดเข็มขัด เย็บหน้าผาก 20 เข็ม หลังศีรษะ 5 เข็ม ถ้าไม่นั่งคาร์ซีท มั่นใจว่าลูกบาดเจ็บหนักทั้งคู่แน่นอน ชนแรงมาก บินแน่ ๆ ค่ะ”
คาร์ซีท (Car Seat) คืออะไร
คาร์ซีท คือเบาะที่นั่งที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัย โดยใช้ระบบผูกรัดให้ติดกับเบาะนั่งของเด็ก ป้องกันไม่ให้เด็กระเด็นจากเบาะ ไม่ว่าจะจากการเบรกอย่างแรง หรือรถชน นอกจากนี้ยังสามารถดูดซับแรงกระแทก จากการชนได้บางส่วนด้วย ซึ่งจะช่วยให้ลดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตของผู้โดยสารที่เป็นเด็กได้
การเลือกใช้คาร์ซีท ที่เหมาะสมต่ออายุเด็ก?
1. ทารกแรกเกิด จนถึงอย่างน้อยอายุ 2-4 ปี
ในทารกแรกเกิดจนถึงอย่างน้อยอายุ 2-4 ปี ควรใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กเล็ก ที่เป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat) เดิมทีคาร์ซีทแบบนี้แนะนำให้ใช้จนถึงอายุ 2 ปี แต่ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันแนะนำให้เด็กนั่งคาร์ซีทแบบหันหน้าไปด้านหลังรถให้นานที่สุด จนกว่าอายุ 4 ปี หรือตัวโตจนความสูงเกินขนาดของคาร์ซีท ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดการหักของกระดูกต้นคอ หากเกิดอุบัติรุนแรง
บทความที่เกี่ยวข้อง : วินาทีเฉียดตาย! เมื่อรถไปชนท้ายรถบรรทุก การติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง สำคัญมาก
2. เด็กอายุ 2-3 ปี จนถึง 4-7 ปี
ในส่วนของเด็กอายุ 2-3 ปี จนถึง 4-7 ปี สามารถใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าตามปกติ (Forward-facing car seat) ซึ่งต้องมีขนาดที่ครอบคลุมทั้งลำตัวและศีรษะ โดยมีสายรัดลำตัวเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุด ติดตั้งมาพร้อมที่นั่งยึดติดกับรถ ด้วยเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์
3. เด็กอายุ 4-7 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี
ควรใช้คาร์ซีทแบบที่เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้า จนกว่าจะโตเกินความสูงของคาร์ซีท หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 18 กิโลกรัมก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ที่นั่งแบบหันไปด้านหน้าได้ โดยไม่มีสายรัดติดตั้งมากับที่นั่ง ( Belt-positioning booster seat) เพื่อเสริมความสูงให้กับเด็ก และปรับตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยของรถให้พอดีกับลำตัวเด็ก
4. เด็กอายุมากกว่า 10 ปี
เด็กอายุมากกว่า 10 ปี หรือน้ำหนักมากกว่า 28 กิโลกรัม สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยปกติที่มีในรถยนต์ได้แล้ว โดยไม่ต้องใช้ booster seat ทั้งนี้เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว สายคาดควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่เด็ก
วิธีฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีท
- ฝึกเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนะนำให้ฝึกตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาล จะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้แก่ลูก
- ทำบ่อย ๆ ไม่ว่าจะระยะทางใกล้หรือไกล ก็ควรให้ลูกนั่งคาร์ซีท เพราะอุบัติเหตุเกิดได้เสมอ
- ปรับทัศนคติให้ตรงกัน อาจจะพูดคุยถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องนั่งคาร์ซีท หรืออาจจะลองหาเหตุการณ์ใน Youtube ว่าลูกที่นั่งคาร์ซีท กับ ไม่ได้นั่งคาร์ซีทแล้วเกิดอุบัติเหตุจะเป็นอย่างไร
- เช็กสภาพแวดล้อม หากลูกรู้สึกไม่สบายตัวก็หาสาเหตุ ว่าเพราะอะไร อาจจะรถร้อนเกิดไป ตรงที่นั่งโดนแดดส่องมากเกินไป
- บรรยากาศในรถ สลับไปนั่งด้านหลังเป็นเพื่อนลูก ชวนลูกคุย หรือเปิดเพลงฟัง จะช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลาย
- นำของเล่นติดขึ้นรถ เพื่อจะได้ให้ลูกรู้สึกสนุก ฆ่าเวลาในการนั่งรถ ลูกก็จะมีส่วนร่วมในการเดินทาง รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุขเวลานั่งรถ
- ขนมทานเล่น คุณแม่อาจจะเตรียมขนมที่ลูกชอบ หากลูกเบื่อ ๆ ก็เอาขนมออกมาทานเล่นได้
พ่อแม่หลายคนต้องการประหยัดเงินไม่อยากซื้อของใหม่ หรืออยากใช้ของเดิมที่เคยใช้กับคนพี่ หรือมีเพื่อน ๆ หรือญาติ ๆ ให้มา เพราะของใช้หลายอย่าง พ่อแม่บางคนอาจได้รับการส่งต่อ ความจริงแล้วเด็กก็สามารถใช้คาร์ซีทมือ 2 ได้เช่นกันค่ะ เพราะว่าเด็กโตเร็ว บางคนใช้แล้วของยังดูใหม่อยู่เลย โดยเฉพาะคาร์ซีมสำหรับทารกที่ใช้ได้ไม่ถึงปีก็เปลี่ยนแล้ว
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรเช็กสภาพของคาร์ซีทก่อนว่า มีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีการชำรุดเสียหาย สายคาดรัดเข็มขัดกระชับ ไม่ย้วย ตัวฐาน ตัวล็อกแน่นหนา ยังใช้งานได้ดี และควรเช็กว่าคาร์ซีทยี่ห้อไหนดี คาร์ซีทที่ซื้อมานั้นมีอายุการใช้งานเท่าไหร่ เราแนะนำว่าไม่ควรใช้คาร์ซีทที่มีอายุเกินกว่า 6 ปี เพราะอาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คาร์ซีทสำหรับเด็ก ชวนคุณแม่เลือกซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยขณะนั่งรถ
แนะนำ 10 คาร์ซีทงบประหยัด ปี 2023 ราคาดี มีคุณภาพ คาร์ซีทยี่ห้อไหนดี?
นั่งคาร์ซีทอย่างไร ให้ปลอดภัย และวิธีรับมือ ลูกงอแงเวลานั่งคาร์ซีท
ที่มา : facebookDramaAdd
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!