เรื่องของเด็กกับการเล่นเกม กลายเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวล เพราะในบางครั้งการติดเกมก็ส่งผลเสีย เช่น กระทบกับการเรียน หรือลูกหนีไปเล่นเกม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีรับมือของแต่ละครอบครัว ดังเช่นคุณแม่ชาวจีนคนนี้ที่มีปัญหา ลูก 8 ขวบติดเกม คุณแม่เลยจับพักการเรียน และดันให้ลูกเล่นแบบมือโปรกันไปเลย!
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศจีน มีพ่อแม่คู่หนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ เริ่มอนุญาตให้ลูกชายวัย 8 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พักการเรียนไว้ก่อน เพื่อมาเล่นเกมแบบเต็มเวลา หลังจากปรึกษากับครูแล้ว โดยวางแผนอย่างเข้มงวดสำหรับการเล่นเกมในแต่ละวัน และกำหนด KPI รายวันด้วย
ตามรายงานของ ctwant พบว่า ก่อนที่แม่จะตัดสินใจให้ลูกหยุดเรียน ออกมาเล่นเกมเต็มเวลานั้น ทั้งพ่อแม่และครูได้พยายามเกลี้ยกล่อม ลูก 8 ขวบติดเกม ทุกวิถีทางแล้ว แต่เขายังคงยืนกรานว่า “ให้ผมหยุดเรียนเถอะ ผมอยากเล่นเกม!” ดังนั้นจึงขอทางให้โรงเรียนให้ลูกชายหยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้มีสมาธิกับการเล่นเกมที่บ้านอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกำหนดแผนการเล่นที่เข้มงวดเป็นพิเศษ โดยกำหนดให้เล่นเกมวันละ 16 ชั่วโมง กินอาหาร 3 มื้อตามเวลาปกติ และต้องทำ KPI (Key Performance Indicator) ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน รวมทั้งเขียนสรุปผลการเล่นเกมในตอนเที่ยง และตอนเย็นของทุกวันด้วย
“ปีนี้ลูกชายอายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้นป. 3 เขามักจะแอบเล่นเกมลับหลังผู้ใหญ่เสมอ รวมทั้งในเวลาเรียนออนไลน์ด้วยเช่นกัน ใช้ประโยชน์จากทุกเวลาเพื่อเปลี่ยนไปเล่นเกม เขาบอกครูว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียน เขาอยากเล่นเกม ฉันคิดว่าแทนที่จะบังคับให้ลูกของนั่งบนเก้าอี้ เพื่อทำสิ่งที่เขาไม่ชอบ จะดีกว่าไหม ถ้าใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อ ‘รักษาที่ต้นตอ’ เสียเลย
ทุกวันฉันขอให้ลูกเล่นเกมเป็นเวลา 16 ชั่วโมง ก่อนเล่นต้องกำหนด KPI ที่จะชนะในเกม นอกจากนี้ต้องเขียนบันทึกจำนวนการชนะและแพ้ วิเคราะห์ข้อผิดพลาดทางยุทธวิธีและทางเทคนิค เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ ฉันต้องการให้เขามองเห็นตัวเองชัด ๆ และมองเห็นอาชีพของนักเล่นเกมมืออาชีพอย่างชัดเจน และต้องการให้เขาเข้าใจว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร มันไม่ง่าย แม้แต่การเล่นเกม”
แม้ว่าวิธีการของคุณแม่คนนี้ อาจไม่เป็นที่ถูกใจของบางคน แต่ก็ยังมีคุณแม่หลายคนที่เห็นด้วย และเฝ้ารอดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าการใช้มาตรการที่รุนแรง เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ ลงโทษด้วยความรุนแรง ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะยิ่งกลายเป็นทำให้เด็กรู้สึกถูกปิดกั้น และยิ่งมีความปรารถนาที่จะเล่นเกมมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือแม่ต้องรู้วิธีผูกมิตรกับลูก แทนที่จะตะคอกหรือตวาดใส่ทุกครั้ง หากลูกลองเล่นเกมอย่างจริงจัง แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง ในเวลาหนึ่งสัปดาห์นี้ลูกอาจจะเบื่อ และหมดความสนใจในเกมเหล่านี้ไปเอง แต่ตรงกันข้าม หากลูกหาทางของเขาเจอจากเวลาหนึ่งสัปดาห์นี้ เขาอาจจะกลายเป็นเกมเมอร์ในอนาคตก็ได้
เกมเมอร์ คืออาชีพอะไร ?
ในยุคที่โลกออนไลน์กำลังเติบโต การเล่นเกมออนไลน์ในกลุ่มเด็ก ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เข้าถึงได้ง่าย ด้วยสื่อออนไลน์ที่สามารถค้นหาได้เอง และสามารถทดลองเล่นได้เอง ซึ่งการเล่นเกมที่ถูกวิธี อาจสร้างรายได้ในการเป็นนักแข่ง E-Sport ได้ ปัจจุบันอาชีพเกมเมอร์ได้รับความยอมรับจากสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาและเกาหลีใต้ รวมไปถึงประเทศไทยก็มีหลายคนที่ทำอาชีพเกมเมอร์ ซึ่งยังมีคนไทยหลายคน เข้าร่วมการแข่งเล่นเกมในรายการระดับโลกมากขึ้นทุกปี
บทความที่เกี่ยวข้อง : เกมมือถือ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง? ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดเกม
E-Sport คืออะไร ?
คำนิยามสั้น ๆ ของคำนี้แปลได้ว่า การรวมกันระหว่างการเล่นเกม และการแข่งขันกีฬา โดยมีโครงสร้างการแข่งขันเหมือนกีฬาทั่วไป มีโปรแกรมการแข่งขัน ผู้เล่นสองฝั่ง แต่เพียงตัวกลางในการแข่งคือเกมออนไลน์นั่นเอง
รายได้จากการเป็นเกมเมอร์ หรือ นักกีฬา E-sport
- เงินรางวัลจากการแข่งขัน
- เงินเดือนทั่วไปจากต้นสังกัด
- โบนัส
- สปอนเซอร์
- สตรีมมิ่ง
ทักษะที่นักกีฬา E-sport ควรต้องมี
1. ความแม่นยำในการมองเห็นและการขยับร่างกาย
การแข่งขันกีฬา E-sport แต่ละครั้ง จำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำในการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ เพื่อก้าวให้ทันต่อความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งการคลิกเมาท์และการใช้แป้นพิมพ์ ก็ต้องสัมพันธ์กับความคิดในสมองภายในเสี้ยววินาทีที่เราตัดสินใจอีกด้วย
2. ทักษะในการตัดสินใจ
เกมเมอร์มืออาชีพจำเป็นจะต้องมีทักษะในการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ เพราะ เวลาเพียงเสี้ยววินาที อาจทำให้ผลของเกมเปลี่ยนได้โดยทันที ดังนั้น ทักษะในการตัดสินใจ จึงเป็นสิ่งที่เกมเมอร์จะต้องหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
3. ทักษะการทำงานเป็นทีม
เนื่องจากกีฬา E-sport มักจะแข่งขันกันในระบบทีม ทักษะการทำงานเป็นทีมจึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคว้าชัยชนะ ทุกคนในทีมจำเป็นจะต้องสื่อสาร และวางแผนการเล่นเกมร่วมกัน เพื่อดึงจุดแข็งของแต่ละคนออกมา แล้วช่วยกลบจุดด้อยของแต่ละคน เพื่อสร้างทีมที่สมบูรณ์แบบสำหรับการแข่งขัน ซึ่งหากทุกคนมีทักษะในการทำงานเป็นทีมที่ดี ก็ช่วยให้การเล่นเกมร่วมกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปด้วย
4. ทักษะในการพัฒนาตนเอง
นอกจากทักษะอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทักษะในการพัฒนาตนเองก็สำคัญมากเช่นกัน พยายามอย่าไปเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น แต่ให้โฟกัสที่ตนเอง ตั้งเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ชัดเจนว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อพัฒนาจุดด้อยของเราให้ดีขึ้น และทำตามเป้าหมายให้ดีที่สุด
แน่นอนว่าการเปลี่ยนการเล่นเกมธรรมดา ให้กลายเป็นอาชีพจริงจัง ถึงขั้นพาตัวเองเข้าไปเป็นนักกีฬา E-sport อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกฝนตัวเองให้มีวินัย เพื่อให้มีประสบการณ์มากที่สุด เช่นเดียวกับการเรียนในสาขาวิชาเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีการแข่งในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงมีการเปิดคณะเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ๆ อีกด้วย
หากครอบครัวไหนที่มีลูกกำลังติดเกม จนเกิดการกระทบผลการเรียนดังเช่นคุณแม่ท่านนี้ อาจจะลองใช้วิธีเหล่านี้ในการดูแลลูกน้อยเพิ่มขึ้นก็ได้ค่ะ เพราะใครจะรู้ยุคที่โลกออนไลน์กำลังเติบโตแบบนี้ ในอนาคตลูกของเราอาจจะเป็นเกมเมอร์มือหนึ่ง ที่สร้างงานสร้างอาชีพจนมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมากก็ได้ค่ะ!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สุดเจ๋ง! เด็ก ม.5 สร้างโรงเรียนจำลองเป็นแลนด์มาร์คในเกมดัง
เกมสำหรับเด็ก ดีอย่างไร? ลูกเล่นเกมมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
90 ชื่อลูกจากตัวละครในเกม ROV พ่อแม่สายเกมเมอร์ ห้ามพลาด !
ที่มา : sanook.com, ctwant.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!