การให้กำเนิดลูกแฝดเป็นเรื่องที่หลายคนมักร่วมยินดี โดยเฉพาะกับฝาแฝดคู่นี้ที่ได้กำเนิดจากคู่รักสหรัฐฯ ฝาแฝดลิดจ์เวย์ ลูกคนโตที่สุดของครอบครัวลิดจ์เวย์ แม้จะเพิ่งเกิดก็ตาม
จากการรายงานข่าวของ BBC ได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ได้มีการให้กำเนิดคู่เด็กฝาแฝด ที่เกิดจากตัวอ่อนมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งนานที่สุดในโลก ที่ประสบความสำเร็จในการกำเนิด
หากย้อนกลับไปเมื่อ เม.ย. 35 ที่ผ่านมา มีตัวอ่อนที่ได้ถูกแช่แข็งและเก็บรักษาไว้ โดยที่ในปีนี้ได้เกิดมาเป็นฝาแฝดชื่อ ลิเดีย ลิดจ์เวย์ (Lydia Ridgeway) และทิโมธี ลิดจ์เวย์ (Timothy Ridgeway)
เด็กทั้งสองเป็นตัวอ่อนที่มีคู่สมรสนิรนามคู่หนึ่งบริจาคไว้ และถูกส่งมาให้กับศูนย์บริจาคตัวอ่อนแห่งชาติสหรัฐฯ (NEDC) ในรัฐเทนเนสซีเมื่อปี 50 โดยถูกแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -128 องศาเซลเซียส
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้องนดลต์ และน้องนภนต์ ฝาแฝดที่สูญเสียการได้ยินระดับรุนแรง
ตัวอ่อนแช่แข็งของแฝดคู่นี้ เกิดจากการบริจาคของบุคคลนิรนามคู่หนึ่ง เพราะเมื่อมีคนต้องการสร้างเด็กหลอดแก้ว พวกเขาอาจจะผลิตตัวอ่อนมากกว่าปริมาณที่ต้องการ ซึ่งจำนวนที่เกินความต้องการก็สามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ เช่น บริจาคให้งานวิจัย บริจาคให้นำไปศึกษาเพื่อปรับปรุงพัฒนายา หรือเพื่อบริจาคให้คนที่อยากมีลูกก็ได้
ฝาแฝดลิดจ์เวย์ คู่แฝดที่อายุเยอะแม้จะเพิ่งเกิด
ฟิลิป ลิดจ์เวย์ (Philip Ridgeway) พ่อของฝาแฝดคู่นี้ระบุว่า การกำเนิดของลูกทั้ง 2 คือเรื่องมหัศจรรย์ที่เหลือเชื่อ เขากล่าวว่า “ตอนที่พระเจ้าให้ชีวิตแก่ลิเดียและทิโมธี ผมอายุ 5 ขวบเท่านั้น และจากนั้นพระเจ้าก็ทรงรักษาชีวิตของพวกเขาตั้งแต่ตอนนั้น ในแง่นึง พวกเขาจึงเป็นลูกที่โตที่สุดของพวกเรา แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่งเกิดก็ตาม” ลิดจ์เวย์ กล่าว เพราะจริง ๆ แล้วครอบครัวของเขามีลูกอยู่แล้ว 4 ราย แก่สุด 8 ขวบ เด็กสุด 2 ขวบ โดยที่ทั้ง 4 ราย ไม่มีใครเกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วหรือเกิดมาจากผู้บริจาคเลย
ก่อนหน้านี้ สถิติเด็กที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งยาวนานที่สุด ครอบครองโดย มอลลี่ กิบสัน (Molly Gibson) ทารกที่เกิดในปี 2020 จากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งเกือบ 27 ปี โดยที่ก่อนหน้านี้ กิบสันทำลายสถิติพี่สาวของตัวเอง ที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งมา 24 ปี
NEDC ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือในการกำเนิดทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ได้รับการบริจาคมากกว่า 1,200 คน การฝากตัวอ่อนเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในสหรัฐฯ เนื่องจากมีคู่รักหลายคู่ที่ต้องการมีบุตรด้วย วิธีการ IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้ว คืออะไร ?
การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือ IVF (In-vitro Fertilization) เป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกัน ให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ตัวอ่อน) ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องแฝด มีบุตรยากมา 10 ปี ต้องนอนนิ่ง 100 วัน เพื่อดูแลลูก
วิธีการนี้เหมาะกับใคร
- คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันหรือท่อนำไข่ถูกทำลาย
- คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ ได้แก่ มีจำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนที่ได้ไม่ดี
- คู่สมรสที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก และพยายามมีบุตรมามากกว่า 3 ปี
- คู่สมรสที่ได้ใช้วิธีกระตุ้นการตกไข่และการผสมเทียม โดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intrauterine Insemination: IUI) มาแล้วแต่ยังไม่ตั้งครรภ์
การแช่แข็งตัวอ่อน
จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ตัวอ่อนที่เหลือจากการใส่ในรอบแรกที่มีคุณภาพดี สามารถแช่แข็งเก็บเอาไว้ เพื่อนำมาใช้ในอนาคตได้ ตัวอ่อนที่มีคุณภาพไม่ดี หรือมีการเจริญเติบโตที่ช้า อาจจะเสียหายจากกระบวนการแช่แข็งได้
ข้อดีของการแช่แข็งตัวอ่อนไว้นั้นคือ ตัวอ่อนที่เก็บไว้สามารถนำมาละลาย และใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องทำการฉีดยากระตุ้น และเก็บไข่อีกครั้ง ตัวอ่อนที่ทำการเก็บแช่แข็งไว้นั้น สามารถเก็บได้มากถึง 5 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่า 10 ปีได้
การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคู่รัก ที่อาจจะมีปัญหามีบุตรยาก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่มีทางออก ซึ่งถ้าหากตัวอ่อนที่ได้รับนั้นมีการเก็บรักษาเป็นอย่างดี อาจจะเป็นคู่แฝดคู่ใหม่ที่ทำลายสถิติของแฝดลิดจ์เวย์คู่นี้ก็ได้ค่ะ !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำเด็กหลอดแก้ว แฝดสาม สาวไฮโซอยากมีลูก แต่ไม่อยากได้สามี
หญิงตั้งครรภ์แฝดสาม ชาวเดนมาร์กแบ่งปัน 12 ภาพสุดทึ่ง
แม่ขอแชร์! ผ่าคลอดลูกแฝด เหตุห่วงรัดปากมดลูกหลุด ส่งทารกเข้า NICU ด่วน
ที่มา : bbc, thairath, bangkokivfcenter
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!