วัคซีนคนท้อง สำคัญอย่างไร? วัคซีนที่คนท้อง ต้องฉีด vs ต้องห้าม

lead image

วัคซีนคนท้อง ช่วยป้องกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งแม่และลูกในท้อง คนท้องควรฉีดวัคซีนชนิดใดบ้าง ฉีดตอนกี่เดือน บทความนี้มีคำตอบ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ช่วงตั้งครรภ์เป็นเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะสุขภาพของแม่ส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อยในครรภ์ หนึ่งในวิธีที่ช่วยป้องกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งแม่และลูกคือการฉีดวัคซีน แต่หลายคนอาจกังวลเรื่องผลข้างเคียง หรือไม่แน่ใจว่าควรฉีดวัคซีนชนิดใดบ้าง บทความนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจถึงความสำคัญของ วัคซีนคนท้อง เพื่อให้คุณแม่คลายความกังวลใจ และให้การตั้งครรภ์นี้ราบรื่น ส่งผลให้ทารกคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ 

 

วัคซีนคนท้อง คืออะไร สำคัญอย่างไร?

วัคซีนคนท้อง เป็นการฉีดวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ วัคซีนบางชนิดช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่และส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกผ่านทางสายสะดือ ช่วยป้องกันโรคในช่วงแรกของชีวิตที่ทารกยังไม่สามารถรับวัคซีนเองได้

โดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติการฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงโรคประจำตัว ภาวะแพ้วัคซีน และความเสี่ยงในการสัมผัสโรคบางชนิด หากพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่ได้รับวัคซีนที่จำเป็น เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือ วัคซีนไอกรน (Tdap) แพทย์จะแนะนำให้ฉีดในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน หรือไวรัสตับอักเสบบี หากพบว่าภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหลังคลอด เนื่องจากวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีน MMR (หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน) หรือวัคซีนอีสุกอีใส ไม่สามารถฉีดระหว่างตั้งครรภ์ได้ การซักประวัติและวางแผนรับวัคซีนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการปกป้องสุขภาพของแม่และทารกตลอดการตั้งครรภ์และหลังคลอด

 

วัคซีนคนท้อง ฉีดอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร?

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ หลายชนิดที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงทั้งในคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ วัคซีนเหล่านี้ได้รับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจอ่อนแอลง การฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อแม่ แต่ยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกตั้งแต่ก่อนคลอดผ่านทางรก ซึ่งเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้เอง การได้รับวัคซีนในช่วงฝากครรภ์จึงเป็นมาตรการสำคัญที่แพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันโรคที่อาจเป็นอันตราย โดยวัคซีนคนท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ ประกอบด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

  1. วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (Tdap, TdaP) หรือวัคซีนป้องกันไอกรนชนิดเดี่ยว (aP)

  • ความสำคัญ: สร้างภูมิคุ้มกันให้คุณแม่และส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ ป้องกันโรคไอกรนที่อาจรุนแรงในทารกแรกเกิด
  • ฉีดเมื่อไร:  ช่วง 27–36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะวัคซีน Tdap หรือ TdaP 
  • ฉีดอย่างไร: หากคุณแม่ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบถ้วนภายใน 10 ปี วัคซีน Tdap เพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ แต่หากมีประวัติได้รับวัคซีนบาดทะยักไม่ครบ แพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักเพิ่มเติมเป็นรายกรณี
  1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

  • ความสำคัญ: เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี และคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งวัคซีนนี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในแม่ แต่ยังช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่หลังคลอดด้วย
  • ฉีดเมื่อไร: ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ฉีดอย่างไร: แนะนำให้ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 1 เข็มทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ 
  1. วัคซีนป้องกัน COVID-19

  • ความสำคัญ: คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงจาก COVID-19 ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารก จึงแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 
  • ฉีดเมื่อไร: โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป 
  • ฉีดอย่างไร: วัคซีนที่แนะนำคือกลุ่ม mRNA เช่น Pfizer หรือ Moderna ซึ่งมีความปลอดภัยและช่วยป้องกันอาการรุนแรงจากโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วัคซีนอื่นๆ ที่แม่ท้องฉีดได้ (เมื่อมีข้อบ่งชี้)

นอกจาก วัคซีนที่แม่ท้องควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ระหว่างตั้งครรภ์อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทำให้แม่ท้องจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอื่นๆ นอกเหนือไปจากวัคซีนคนท้องทั่วไป เช่น ถูกสุนัขกัด ก็อาจต้องได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ก่อนให้วัคซีน แพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น โรคประจำตัว ความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ การเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งพิจารณาว่าการติดเชื้อนั้นส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์อย่างชัดเจน และวัคซีนนั้นไม่มีรายงานผลเสียต่อการตั้งครรภ์ สตรีตั้งครรภ์ และทารก ก็อาจพิจารณาให้วัคซีนเป็นรายๆ ไป โดยวัคซีนทั้งหมดที่ฉีดให้กับแม่ท้อง ต้องเป็น วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine), วัคซีนชนิดท็อกซอยด์ (toxoid) หรือ อิมมูโกลบูลิน (immunoglobulin) เท่านั้น เพราะเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ไม่พบหลักฐานว่าส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
วัคซีนที่แม่ท้องสามารถฉีดได้ เมื่อมีข้อบ่งชี้ 
วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส
(Pneumococcal vaccine)
แนะนำในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ปอด ตับ ไต เบาหวาน ผู้ตัดม้าม หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์ แต่หากยังไม่ได้รับสามารถฉีดในไตรมาสที่ 2-3
วัคซีนป้องกันฮีโมฟีลุสอินฟลูเอนเซ ชนิดบี
(Hib vaccine)
แนะนำให้ฉีดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ลูคีเมีย ผู้ตัดม้าม และผู้ติดเชื้อ HIV ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็ก สามารถฉีดได้ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ 
วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น
(Meningococcal vaccine)
ให้ในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ที่ไม่มีม้าม
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
(Hepatitis B vaccine)
ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันและมีสามีติดเชื้อ หรือติดเชื้อ HIV
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ
(Hepatitis A vaccine)
แนะนำในผู้ที่อยู่ในพื้นที่สุขอนามัยต่ำ หรือมีโรคตับเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม รายงานผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ยังมีจำกัด จึงไม่แนะนำสำหรับแม่ท้องที่ไม่มีความเสี่ยง 
วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
(Rabies vaccine)
สามารถให้ได้อย่างปลอดภัยในกรณีสัมผัสเชื้อ โดยอาจฉีดอิมมูโนโกลบูลินร่วมด้วย

วัคซีนต้องห้ามสำหรับคนท้อง!

วัคซีนชนิดเชื้อเป็น เช่น วัคซีนป้องกันคางทูม-หัด-หัดเยอรมัน (MMR Vaccine) และ วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine) ไม่แนะนำให้ฉีดในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อทารก แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อมารดาและทารก แต่ทารกในครรภ์อาจได้รับเชื้อที่อ่อนกำลังลงจากวัคซีน อย่างไรก็ตาม หากสตรีตั้งครรภ์ไม่มีภูมิคุ้มกันและสัมผัสเชื้อ ควรได้รับอิมมูโนโกลบูลินแทน และสามารถฉีดวัคซีนได้หลังคลอด

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) แม้จะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์ จึงไม่แนะนำให้ฉีดระหว่างตั้งครรภ์ หากได้รับวัคซีนเข็มแรกก่อนตั้งครรภ์ ควรเลื่อนเข็มที่เหลือไปหลังคลอด อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนโดยไม่รู้ว่าตั้งครรภ์ ไม่มีหลักฐานว่าจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการข้างเคียงหลังแม่ท้องฉีดวัคซีน

วัคซีนคนท้อง ที่ใช้กันในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อยได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน โดยอาการข้างเคียงของวัคซีนจะแตกต่างตามชนิดของวัคซีน

  • วัคซีนเชื้อตาย อาจทำให้มีไข้หรืออาการข้างเคียงเกิดขึ้นเร็วหลังฉีด
  • วัคซีนเชื้อเป็น อาจมีอาการคล้ายกับโรคที่วัคซีนป้องกัน แต่พบได้น้อยและมักเกิดขึ้นหลังฉีดไปแล้วหลายวัน

โดยอาการข้างเคียงหลักๆ มี 2 ประเภท คือ 

  • อาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง หรือคันบริเวณที่ฉีด
  • อาการทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย หรือมีผื่นขึ้น

 

วิธีดูแลตัวเองง่ายๆ หลังฉีดวัคซีน คือ ประคบอุ่นบริเวณที่ฉีด เพื่อลดอาการบวม และถ้ามีไข้สามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ได้ แต่ถ้าอาการรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ควรรีบพบแพทย์

สุดท้ายแล้ว วัคซีนคนท้อง คือเกราะป้องกันทั้งแม่และลูก ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ การได้รับวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมกับการดูแลสุขภาพให้ดี จะช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น และลูกน้อยคลอดออกมาได้แข็งแรงปลอดภัยในที่สุด 

 

ที่มา: สูติศาสตร์ล้านนา, มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลศุขเวช  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกดิ้นแรง ปกติไหม? เข้าใจการดิ้นของลูกในแต่ละช่วงอายุครรภ์

แม่ท้อง ลาคลอดได้กี่วัน รวมทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับการลาคลอด ปี 2568

คนท้องเท้าบวม ตอนไหน? คนท้องเท้าบวมนวดได้มั้ย มีวิธีรับมือยังไง?

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team