ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก
วัคซีนสำคัญต้องฉีดให้ครบทุกเข็ม แม่จ๋าจดให้ครบ ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก ทารกต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง ฉีดวัคซีน6เดือนกี่เข็ม ฉีดให้ครบ ป้องกันลูกป่วย โดยเฉพาะลูกแรกเกิด ถึง 6 เดือนแรกของชีวิต
วัคซีนจำเป็นพื้นฐานช่วง 6 เดือนแรกของลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าวัคซีนสำหรับลูกน้อยวัยทารกมีกี่ชนิดและมีความจำเป็นที่ต้องฉีดเพราะอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 6 เดือนแรก ซึ่งต้องไปฉีดวัคซีนกันไปบ่อยทุกๆ 2 เดือนตั้งแต่แรกเกิด และวัคซีนในช่วงอายุ 6 เดือนแรกล้วนแล้วแต่เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (Expanded Program on Immunization: EPI) อันเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยควรได้รับ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐบาล
เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า วัคซีนพื้นฐานช่วง 6 เดือนแรกของลูกน้อยมีอะไรบ้าง ตามวัยของทารก ดังนี้ค่ะ
วัยแรกเกิด : ฉีดวัคซีนทารกแรกเกิด
- วัคซีนวัณโรค (BCG)
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV)
อายุ 2 เดือน : ฉีดวัคซีนทารก 2 เดือน
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่หนึ่ง (DTwP-HB1)
- วัคซีนโปลิโอชนิดหยดครั้งที่หนึ่ง (OPV1)
อายุ 4 เดือน : ฉีดวัคซีน 4 เดือน กี่เข็ม
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่สอง (DTwP-HB2)
- วัคซีนโปลิโอชนิดหยดครั้งที่สองร่วมกับชนิดฉีด (OPV2+IPV)
อายุ 6 เดือน : ฉีดวัคซีน6เดือนกี่เข็ม
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่สาม (DTwP-HB3)
- วัคซีนโปลิโอครั้งที่สาม (OPV3)
ข้อมูลโดยสรุป ของวัคซีนแต่ละชนิดมีดังนี้ค่ะ
วัคซีนวัณโรค
อัตราการเกิดวัณโรคในประเทศไทยนั้นสูง เด็กทุกคนจึงควรได้รับวัคซีนนี้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีต่อการป้องกันโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สำหรับวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด หากไม่ได้รับก็สามารถฉีดได้ ในทุกช่วงอายุ
วัคซีนตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ตับแข็ง และอาจเป็นมะเร็งตับในระยะต่อมาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยจะต้องฉีดทั้งหมดให้ครบ 3 ครั้งคือ ฉีดวัคซีนในวัยทารกแรกเกิด, ฉีดวัคซีนในอายุ 1-2 เดือน และฉีดวัคซีนในวัย 6 เดือน ทั้งนี้ หากคุณแม่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบีทารกต้องได้รับวัคซีนชนิดนี้ ที่อายุ 1 เดือนเพิ่มอีกหนึ่งเข็มด้วย และได้วัคซีนรวมที่มีตับอักเสบบีอยู่ด้วยที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน ทำให้ทารกจะได้รับวัคซีนตับเสบบีรวมทั้งหมด 5 เข็ม แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใดค่ะ
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรน
-
- คอตีบเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้มีอาการคออักเสบร้ายแรงเพราะอาจทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
- บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงเพราะทำให้เกิดอาการชักเกร็งกล้ามเนื้อไม่ทำงานตามปกติและอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจได้
- ไอกรนเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรงจนถึงขั้นหยุดหายใจหรือเขียวได้ในเด็กเล็ก
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนมีทั้งแบบชนิดทั้งเซลล์ (whole cell- DTwP) และชนิดไร้เซลล์ (acellular-DTaP) ซึ่งแตกต่างกันที่ชนิดของวัคซีนไอกรน โดยวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนชนิดไร้เซลล์จะทำจากส่วนประกอบเฉพาะบางส่วนของเชื้อโรค ทำให้มีปฏิกิริยาข้างเคียงได้แก่ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ น้อยกว่าวัคซีนชนิดทั้งเซลล์ สามารถใช้ทดแทนวัคซีนคอตีบไอกรนชนิดทั้งเซลล์ได้ วัคซีนชนิดไร้เซลล์มักอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวม 5 หรือ 6 โรคคือจะเป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดและวัคซีนตับอักเสบบีและวัคซีนฮิบร่วมด้วย
สำหรับวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขเป็นชนิดทั้งเซลล์ จะอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวมกับตับอักเสบบี (DTwP-HB)
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนจะฉีดในเด็กอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และมีเข็มกระตุ้นที่อายุ 4-6 ปี
วัคซีนโปลิโอ
โรคโปลิโออาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กจนถึงขั้นเป็นอัมพาตของแขนขาแบบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดอัมพาตของระบบทางเดินหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วัคซีนโปลิโอมี 2 ชนิดคือชนิดรับประทาน (Oral Poliomyelitis Vaccine : OPV) และชนิดฉีด ((Inactivated Poliomyelitis Vaccine : IPV) วัคซีนชนิดนี้มักให้พร้อมกับวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนคือที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นที่อายุ 4-6 ปี รวมทั้งหมดเป็น 5 ครั้ง วัคซีนโปลิโอตามแผนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะให้เป็นชนิดหยอด 5 ครั้ง ร่วมกับชนิดฉีด 1 ครั้ง ที่อายุ 4 เดือน
วัคซีนจำเป็นพื้นฐานทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมาในช่วงวัย 6 เดือนแรกของลูกน้อยเป็นวัคซีนที่สำคัญมากหากลูกไม่ได้รับอาจทำให้มีการติดเชื้อที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะละเลยวัคซีนเหล่านี้ ทั้งนี้หากมีเหตุจำเป็นหรือลืมฉีดวัคซีนในช่วงใดช่วงหนึ่งก็ควรจะรีบไปรับการฉีดทันทีที่ทราบ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเลื่อนเวลาในการฉีดเล็กน้อย โดยไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่แชร์ ญาติแอบป้อนน้ำองุ่นทารก คิดว่าจะหายตัวเหลือง สุดท้ายลูกเกือบตาย
ทำไมทารกนอนกัดฟัน ลูกฟันขึ้น ลูกเครียด ลูกป่วยไหม อันตรายหรือเปล่า
การดูแลอาการป่วยที่พบบ่อยในทารก อาการป่วยทารก อันตราย ที่พ่อแม่ต้องรู้!
ทารกน้อยหายใจเสียงดัง มีน้ำมูก จากภาวะ nasal snuffles ลูกป่วยหนักหรือเปล่า