เรามาทำความรู้จักกับน้องเฟียน หรือบีโธเฟียน เลิศ เลิศวงศ์วาณิชย์ วัย 9 ขวบ (เล่นเปียโน) และน้องสาววัย 7 ขวบ ฟ่อน ลัล เลิศวงศ์วาณิชย์ (เต้นบัลเล่ต์)
คุณแม่เปรมสุดา อัศววิบูลย์พันธุ์เล่าว่า “พ่อแม่ให้ลูกฟังเพลงคลาสสิกแต่เกิด และน้องเฟียนก็ชอบฟังตั้งแต่ยังเล็ก เลยเรียกเขาว่าบีโธเฟียน โดยที่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าโตขึ้นมาเขาชอบเปียโน น้องฟ่อนเองก็ส่อแววมีพรสวรรค์ในด้านการใช้ร่างกาย” จากวิดีโอนี้ น้องฟ่อนเป็นคนคิดท่าเขาเอง คุณแม่เพียงแค่ให้ไกด์เฉย ๆ
เฟียนเริ่มมีพรสวรรค์ปรากฎให้เห็นก่อนจากการแกะเพลง Mozart Turkish March ด้วยตัวเองจากยูทูป แล้วเราจึงเริ่มส่งไปเรียนเปียโนจนเก่งระดับหนึ่งจึงมีรายการ “เก่งเต็งหนึ่ง” มาถ่ายทำ
สำหรับน้องเฟียน แรกเริ่มเมื่อตอนยังเรียนอนุบาล เฟียนเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งเลย คุณแม่บอกว่า “เฟียนอ่านหนังสือไม่ออกเลย จนแม่เครียด ครูก็บอกว่าน้องเฟียนไม่เรียนเลยนั่งเคาะปากกา เพราะทำอะไรไม่ได้ น้องอ่านไม่ออก ณ เวลานั้นเราก็เห็นว่าน้องเฟียนตัวเล็กด้วย จึงไปพบคุณหมอเรื่องการเจริญเติบโตแล้วตรวจเพิ่มเกี่ยวกับการพัฒนาการจึงทราบว่าเป็น LD หรือ (Learning Disabilities) ตอนนั้นก็ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ แล้วก็สบายใจพอได้รู้สาเหตุ และได้รู้ว่าลูกไม่เกเร หลังจากนั้นก็เลยต้องช่วยลูก หาวิธีที่ว่าทำยังไงลูกถึงจะเรียนตามเพื่อนได้ ก็เลยให้ท่องศัพท์ หลังจากนั้นเฟียนก็ทำได้เต็ม 10 ทุกครั้ง จนได้รับใบประกาศผู้มีพัฒนาการดีเด่น”
“ในช่วงเวลานั้นก็ได้ส่งน้องเฟียนไปเรียนเปียโน จึงได้รู้ว่าน้องเล่นเปียโนได้ดีมาก วันนั้นเขาไปเล่นที่โรงพยาบาลรามา ให้คนไข้ฟังด้านล่าง แม่ก็ตกใจว่าลูกเล่นได้ดีมาก หมอก็เอาวิดีโอน้องเฟียนไปเปิดให้นักเรียนแพทย์ดู เพื่อเป็นกำลังใจให้คนอื่น เพราะหมอก็มีท้อเช่นกัน หมอบอกว่าบางทีพ่อแม่เข้าใจยาก พอรู้ว่าลูกเป็นแอลดี” ถ้าพ่อแม่ยอมแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสพัฒนาได้น้อย
บีโธเฟียน นักเปียโนตัวน้อยกำลังผันตัวเองเข้าสู่ระดับประเทศ
ส่งเสริมลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
คุณพ่อเจษฎา เลิศวงศ์วาณิชย์ กล่าวว่าน้องเฟียนเริ่มเรียนดนตรีตอนอายุ 5 ขวบครึ่ง ช่วงแรก ๆ ก็ซ้อมเปียโนครั้งละ 5-10 นาที แต่ตอนนี้ 9 ขวบแล้ว และพร้อมจะเอาจริงด้านนี้จึงซ้อมเช้า 1 ชั่วโมง เย็น 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่ว่าชีวิตของน้องทั้งสองคนจะอยู่แต่กับการซ้อมดนตรี น้อง ๆ ก็ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งว่ายน้ำ เล่นกีฬา วิ่งเล่นตามประสาเด็ก รวมทั้งได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณพ่อบอกว่า “เฟียนรักการเล่นเปียโนมาก ไม่มีท้อเลย ไม่มีขี้เกียจ ส่วนน้องฟ่อนที่เรียนเปียโนเช่นกัน จะมีบ้างที่ขี้เกียจซ้อม ตามประสาเด็ก ๆ พ่อว่าเฟียนเขาเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เพลงบางเพลงเช่น Chopin Fantasia Impromptu ที่ผู้ใหญ่บางคนเล่นเปียโนมาเป็น10 ปีแล้วยังเล่นไม่ได้ แต่เฟียนเล่นได้” ถึงแม้เรื่องการเรียนจะไม่ดีนัก บางอย่างน้องสาวอ่านได้แล้ว แต่เฟียนอ่านไม่ได้ แต่พ่อและแม่ก็ไม่ได้ไปเครียดกับเรื่องนี้ เพียงอยากให้เรียนให้ได้เท่าที่ทำได้ คุณพ่อยังทิ้งท้ายอีกว่า “ไม่รู้นะ อาจจะเป็นโรคอัจฉริยะก็ได้”
พี่เฟียนและน้องฟ่อนนอนอ่านหนังสือ
คุณพ่อเจษฎาได้ให้แง่คิดข้อหนึ่งว่าพ่อแม่ควรจะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรเปลี่ยนครูให้ลูกด้วย พ่อแม่เป็นเหมือนผู้จัดการนักกีฬา ต้องรู้ว่านักกีฬาของเราอยู่ระดับไหนแล้ว เขาต้องก้าวไปทางไหน ครูคือเทรนเนอร์ – ถ้าลูกอยู่ระดับตำบล ก็ต้องหาครูเก่งกว่าระดับตำบลมาสอนลูกเราแล้ว พอเข้าระดับจังหวัดก็ต้องหาครูระดับประเทศมาสอนเขา พ่อเองก็อ่านโน้ตไม่เป็น แต่เมื่อพ่อได้นั่งเรียนไปกับลูก เราจะรู้ได้เองว่าครูคนนี้อาจจะไม่เหมาะกับลูกแล้ว
ความสำเร็จ
เมื่อปีที่แล้วเฟียนและฟ่อนก็เพิ่งรับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ Future Park Junior Talent Award คุณเจษฎากล่าวต่อว่า “หลังจากนั้น ทางครอบครัวเราได้ตัดสินใจจากที่ได้ปรึกษากันแล้วว่าจะส่งบีโธเฟียนกับน้องฟ่อนขึ้นไปสู่ระดับประเทศ โดยมีการฝึกฝนการแสดงของสองพี่น้องอย่างหนัก ด้วยเพลงและท่าเต้นที่ยากขึ้น เพื่อให้ชาวไทยรู้จักในเวทีใหญ่ ๆ ต่อไป…เราเชื่อว่า การพัฒนาลูก ๆ ของเรา ก็คือการพัฒนาประเทศชาติ ถ้าพ่อแม่ทุกคนหันมาพัฒนาลูกของตนเองให้เป็นคนที่เก่งและดี นั่นคือการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปในทางดี ที่เห็นผลแท้จริงแน่นอนในอนาคต”
รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
น้องเฟียนเป็นเด็กชอบสัตว์ ชอบธรรมชาติ เขาบอกว่าอนาคตอยากเป็นนักเปียโนอาชีพ ที่มีงานอดิเรกเป็นนักธรรมชาติวิทยา theAsianparent ก็ขอให้ได้เป็นดังที่หวังนะคะ ทั้งน้องเฟียนและน้องฟ่อนด้วย
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสนใจ สามารถกดไลค์เป็นแฟนเพจติดตามน้อง บีโธเฟียน กับ น้องฟ่อน ได้ที่ https://www.facebook.com/Beethofien
ติดตามดูผลงานและสมัครรับข้อมูลได้ทาง YouTube Beethofien และ B.Family TV
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!